ไม่พบผลการค้นหา
ส.ส. ถกญัตติตั้ง กมธ.ศึกษาแนวทางป้องกันรัฐประหาร ก่อนการลงมติในวันพรุ่งนี้ ‘เบญจา แสงจันทร์’ ขอให้ ส.ส. เห็นประโยชน์ของประชาชนมากกว่าทหาร ‘อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์‘ ไม่เห็นด้วย มองเป็นหน้าที่รัฐสภาสร้างกระบวนการประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ไม่ซื้อสิทธิขายเสียง ‘สุทัศน์ เงินหมื่น‘ เสนอตั้งคณะศึกษาได้ผลเร็วกว่าตั้ง กมธ.

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันพุธที่ 19 ก.พ. 2563 มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม เพื่ออภิปรายญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องค้างพิจารณาตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 2563 เสนอโดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า การเกิดรัฐประหารขึ้นบ่อยครั้งในประเทศทำให้ทุกคนเริ่มคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ตนเห็นว่าต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและปกป้องการทำงานของเราในรัฐสภา และทุกครั้งที่มีการรัฐประหารก็จะมีผลพวงเล็กฝากไว้เสมอ เราผ่านระบบการเลือกตั้งเป็นตัวแทนของประชาชน ตนจึงขอให้สมาชิกทุกท่านได้โปรดเห็นด้วย

ส่วนนายวิรัตน์ วรศสิริน ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า ทุกครั้งที่รัฐประหารจะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจ เช่น ธนาคารก็จะเข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น การลงทุนไม่เกิด การบริโภคตกต่ำต่อเนื่องกันมา ทุกครั้งที่ทหารเข้ามายึดอำนาจก็จะโทษนักการเมือง แต่ในระบบการเมืองมีการตรวจสอบและถ้ารัฐบาลไม่ดี ประชาชนก็จะไม่เลือกในครั้งหน้า แต่ตนมองว่ารัฐประหารเป็นเพราะทหาร ข้อหากบฎในรัฐธรรมนูญก็ใช้บังคับกับหัวหน้าคณะรัฐประหารไม่ได้ ทั้งที่อำนาจหน้าที่ของทหารคือการปกป้องการปกครอง ดังนั้นการป้องกันรัฐประหารต้องปฏิรูปกองทัพ กระจายอำนาจกองทัพ และยกเลือกผู้นำเหล่าทัพ

ด้านนายมานพ คีรีภูวดล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ในยุคที่ประชาธิปไตยแบ่งบาน มีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนรวมกลุ่มและแสดงความคิดเห็นกัน มีกลไกความร่วมมือของทุกภาคส่วน และมีกฎหมายที่เกิดขึ้นจากการเสนอของประชาชนมากมาย แม้ตนจะอยู่บ้านนอกก็ตาม แต่หลังจากรัฐประหาร การเมืองภาคประชาชนหายไป กฎหมายไม่มีฉบับไหนพูดถึงประชาชน ไม่มีนโยบายใดที่มาจากประชาชน กระบวนการมีส่วนร่วมในความเป็นประชาธิปไตยคือคำตอบของประเทศชาติ

ในทางกลับกัน นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส. ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยกันการตั้งกรรมาธิการฯ เนื่องจากมีกฎหมายที่ห้ามรัฐประหารและบทลงโทษถึงประหารชีวิตอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมา รัฐประหารอ้างการทุจริตคอร์รัปชั่นและความวุ่นวายทางการเมือง ตนเชื่อว่าไม่มีใครเห็นด้วยในการทำรัฐประหาร ตรงกันข้ามตนอยากให้สภาส่งเสริมและสร้างกระบวนการประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ให้นักการเมืองเข้าสู่การเมืองด้วยความชอบธรรม จะป้องกันรัฐประหารได้ คือ การคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเลือกตั้งใหม่ ยกตัวอย่าง การซื้อสิทธิขายเสียงก็จะนำมาสู่การทุจริตและรัฐประหารในที่สุด แต่ตนเห็นว่าถ้ามีความวุ่นวายทางการเมืองก็ยุบสภาแล้วเลือกตั้ง

นายปริญญา ช่วยเกตุ คีรีรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า รัฐประหารเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองที่กลัวการอยู่ดีกินดีและความฉลาดของประชาชน พวกเขากลัวการเปลี่ยนแปลงและกลัวความเท่าเทียมกัน แต่ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือของประชาชน ก่อนรัฐประหารยางพารากิโลกรัมละ 80 บาท ประชาชนบอกอยู่ไม่ได้ แต่หลังรัฐประหารยางไม่เคยถึง 80 บาทอีกเลย


นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ส.ส. สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ตนและพ่อผ่านวงจรอุบาทว์นี้มาหลายรอบ รัฐธรรมนูญทุกฉบับต้องปลูกฝังว่าสิทธิเสรีภาพและอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน นอกจากนี้ตนเห็นว่าต้องเอาหมุดคณะราษฎรกลับคืนมา ต้องฝังชิพให้ประชาชนเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นการใช้สิทธิของประชาชน และปฏิรูปการศึกษาในกองทัพด้วย และต้องตระหนักว่าประชาธิปไตยต้องโดยประชาชน และเพื่อประชาชน ไม่ใช่เลือกตั้งมาโดยประชาชน แต่ไม่ได้ทำเพื่อประชาชน และตนเห็นว่า กมธ.พัฒนาพรรคการเมือง และ กมธ.วิสามัญ ศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ก็น่าจะมีส่วนช่วยด้วย

นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ในฐานะผู้ใช้แรงงาน หลังรัฐประหารมักจะมีการเข้ามาแทรกแซงสหภาพแรงงาน และบอร์ดประกันสังคมฯ การรวมตัวของแรงงานเพื่อจะสะท้อนความเดือดร้อนต่อนายจ้าง แต่ก็ถูกทหารเข้ามาห้าม เช่นเดียวกับ นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึง นักการเมืองบางคนก็สร้างเงื่อนไขด้วย ออกมาบอยคอตการเลือกตั้ง

นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส. สงขลา พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ตนไม่อยากให้คณะรัฐประหารใช้ที่ประชุมสภาออกกฎหมายที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม การป้องกันรัฐประหารมี 6 ข้อ คือ ทหารต้องรู้หน้าที่ของตัวเอง รัฐบาลบริหารประเทศให้มีธรรมาภิบาล ลดการทุจริต ลดการแตกแยกในสังคม ฝ่ายนิติบัญญัติต้องสร้างศรัทธาให้กับประชาชน ทุกอย่างจบที่สภาไม่ลงถนน และทุกคนต้องมีสปิริตทางการเมือง รู้จักความพ่ายแพ้ และรอคอย ปราการที่ป้องกันรัฐประหารที่ดีที่สุดคือประชาชน อำนาจ 3 ฝ่ายต้องสร้างศรัทธาให้ประชาชน

นายกัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ตนผ่านการทำรัฐประหารมาแล้ว 4 ครั้งยังทนไม่ได้ ประธานและรองประธานสภาหลายคนที่ผ่านมามากกว่าตนก็ย่อมทนไม่ได้ ดังนั้นหากมีการถอดบทเรียน รัฐประหารก็จะจบ ตนคิดว่าสภาแห่งนี้ควรจะเป็นที่แรกที่จะให้ยาเข็มนี้ และการรัฐประหารครั้งที่ผ่านมาจะเป็นครั้งสุดท้าย เช่นเดียวกับ นางสาวเบญจา แสงจันทร์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีสมาชิกบางส่วนเห็นด้วยที่ให้ทหารมามีอำนาจเหนือประชาชน และไม่มีหลักประกันอะไรเลยที่จะไม่ให้เกิดรัฐประหารอีก ตราบใดที่กองทัพและศาลยังไม่ได้รับการปฏิรูปอย่างจริงจัง ปัจจุบันทหารเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในหลายธุรกิจ แต่ไม่มีการเข้าไปตรวจสอบได้ ขณะเดียวกันหลังรัฐประหาร นายทหารหลายท่านมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากมาย เช่น สนช. มีทรัพย์สินเพิ่มเฉลี่ย 80 ล้านต่อคน ดังนั้นตอนนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะตั้งกรรมาธิการเพื่อเข้ามาศึกษา ขอให้สมาชิกทุกคนเห็นประโยชน์ของประชาชนมากกว่าทหาร

นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนจำได้ว่านายชวน หลีกภัย เล่นงิ้วต่อต้านการทำรัฐประหาร ในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ความหวังของเราตอนนี้ นอกจากจะให้นายชวนต่อต้านรัฐประหาร และนำพวกเราต่อสู้กับรัฐประหาร ทำอย่างไรให้ทุกคนลุกขึ้นสู้ไม่ใช่แค่ต่อต้าน ตนเชื่อว่าไม่มีใครเห็นด้วยกับรัฐประหารและเผด็จการ เราต้องดูสาเหตุของรัฐประหาร เช่น การแย่งอำนาจของผู้มีอำนาจ จนฝ่ายการเมืองอาจตกเป็นเหยื่อให้อ้างเพื่อทำรัฐประหาร เช่น สมัยนายกรัฐมนตรี นายควง อภัยวงศ์ ดังนั้นฝ่ายการเมืองเองก็ต้องระวังไม่ให้เขาเอามาเป็นข้ออ้าง เราต้องมีสำนึกวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตย ตนเห็นกับการศึกษาแนวทางป้องกันรัฐประหาร แต่ไม่เห็นด้วยที่จะตั้งกรรมาธิการวิสามัญ เนื่องจากจะล่าช้า แต่หากส่งให้ กมธ.กฎหมายฯ หรือ กมธ.พัฒนาการเมือง เพื่อตั้งคณะทำงานศึกษาจะรวดเร็วกว่า

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เสนอให้ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้เสนอญัตติ กล่าวสรุปก่อนการลงมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต ก่อนการลงมติในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพรุ่งนี้ ซึ่งจะเป็นการประชุมสภาฯ ในวาระปกติก่อนที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจและปิดสมัยประชุมสภาในสัปดาห์หน้า

(ภาพประกอบข่าวจาก นิทรรศการ Never Again หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน 'พิพิธภัณฑ์สามัญชน')