ไม่พบผลการค้นหา
"ชวน" ระบุญัตติตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังไม่ใช่เรื่องด่วน แต่หากจะเลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อน ก็ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงแนวทางการเลื่อนญัตติเพื่อขอให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาพิจารณาก่อน โดยทราบว่าเป็นญัตติที่มีการเสนอจากฝ่ายค้านและพรรคประชาธิปัตย์ แต่ยังไม่ใช่เรื่องด่วนที่สภาผู้แทนราษฎรต้องพิจารณา แต่หากสมาชิกอยากเลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อน ก็ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม

ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า วันที่ 13 ก.ย.นี้ จะประชุมนัดพิเศษเพื่อพิจารณาญัตติที่ค้างอยู่ก่อนจะปิดสมัยประชุมวันที่ 19 กันยายนนี้ ซึ่งมีเรื่องค้างอยู่กว่า 90 เรื่อง แต่หลายเรื่องอย่าง เช่นญัตติเกี่ยวกับสารเคมีทางการเกษตร มีการเสนอมาถึง 10 ญัตติ ซึ่งสามารถรวมพิจารณาร่วมกันได้

ส่วนกรณีไลน์ฉาวข้าราชการระดับสูงสภาผู้แทนราษฎร คุกคามทางเพศข้าราชการหญิง ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายชวน บอกว่า ยังไม่สามารถมองได้ว่าจะกระทบต่อภาพลักษณ์สภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาก่อน แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับเรื่อง

จุดยืนของพรรคภูมิใจไทย ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ฝ่ายค้านกำลังเดินหน้ารณรงค์เรียกร้องอยู่ในขณะนี้ พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า จริงๆเรื่องดังกล่าวตนเองไม่อยากแสดงความเห็น แต่เข้าใจว่าเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจ เมื่อมีการถามมา ตนก็สามารถตอบได้ในหลักการว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พูดมาตลอดว่าอะไรที่ทำให้เกิดความขัดแย้งพรรคภูมิใจไทยจะไม่ร่วมด้วย เพราะความขัดแย้งจะเป็นตัวฉุดรั้งในการพัฒนาประเทศ

ทั้งนี้ พรรคภูมิใจไทยในฐานะที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล คงจะฟันธงพูดแทนพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้ว่าต้องแก้ไขเมื่อไหร่ อย่างไร เพราะมีกระบวนการขั้นตอนที่ต้องพิจารณา และต้องมีการหารือกันในพรรคร่วมรัฐบาลก่อน ต้องมีความรอบคอบ ที่สำคัญคือต้องถามความต้องการของพี่น้องประชาชนก่อน 

“การดำเนินการของพรรคภูมิใจไทย จะอยู่ความต้องการและผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก และต้องไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง หรือดำเนินการท่ามกลางความขัดแย้ง พรรคภูมิใจไทย มองว่าสิ่งไหนที่เป็นปัญหา หรือเป็นอุปสรรค ต่อผลประโยชน์ของประชาชน เราสามารถที่จะคุยกันได้ทั้งฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน เพื่อหาทางออกร่วมกัน เพราะเราคิดว่าหากเป็นเรื่องที่สามารถช่วยขจัดปัญหาอุปสรรคให้พี่น้องประชาชน เป็นประโยชน์ต่อประเทศในภาพร่วมอย่างแท้จริง พรรคภูมิใจไทยก็อาจสามารถช่วยสนับสนุนได้” โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าว 

ชทพ. ชงสภาผู้แทนราษฎรศึกษาแนวทางแก้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่ตั้งธงแก้ประเด็นใด

นายนิกร จำนง และนายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ส.ส. พรรคชาติไทยพัฒนา แถลงข่าวหลังยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เนื่องจากนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้มาเป็น

ระยะเวลาหนึ่งได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเป็นประชาธิปไตย และความเหมาะสมของรัฐธรรมนูญในหลายมาตรา ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะผ่านการทำประชามติ แต่ก็ยังขาดการยอมรับจากประชาชนอยู่พอสมควรโดยในหลายประเด็นยังมีปัญหาในทางปฏิบัติจึงจำเป็น ที่จะต้องได้รับการแก้ไข ประกอบกับประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรมนูญเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนข้อที่ 12 ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน 

โดยนายนิกร กล่าวว่า สิ่งที่พรรคกังวลคือการดำเนินการผลักดันโดยพรรคการเมืองอย่างเดียวอาจทำไม่สำเร็จ ต้องมีการรับฟังความเห็นจากประชาชน เอาเข้าสภาผู้แทนราษฎร แล้วตั้งคณะกรรมาธิการศึกษา ทั้งนี้นายนิกรเห็นว่าโมเดลการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญไทย หรือ ส.ส.ร. ก็เป็นทางออกที่ดี เพราะแม้รัฐธรรมนูยจะผ่านประชามติแล้วแต่ประชาชนก็ยังมองว่าไม่ได้เป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยจะต้องคุยกับพรรคการเมืองทุกพรรคให้มองการแก้ไขรัฐธรรมนูญในทิศทางเดียวกัน

ทั้งนี้สาระสำคัญของข้อเสนอนี้ที่ต่างจากพรรคอื่น คือ ไม่มีการตั้งธงไว้ว่าจะแก้ประเด็นใด แต่ให้เป็นไปตามเสียงของประชาชนจากการรับฟังความคิดเห็น มิฉะนั้นจะถูกมองเป็นประเด็นการเมืองและความได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคการเมือง เช่นเดียวกับ ความสำเร็จของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่ริเริ่มดำเนินการโดยนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย โดยได้มีการประกาศเป็นนโยบายของรัฐบาล ผลักดันโดยการจัดตั้ง

คณะกรรมการขึ้นมา จากนั้นก็มีการเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ จนกระทั่งมีข้อสรุปร่วมกันประกาศเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่สำคัญของประเทศไทย ดังนั้นจึงเห็นควรที่จะสนับสนุนให้มีการศึกษาการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในหลายๆ ประเด็นให้เกิดความสอดคล้องเหมาะสม เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความยากและแตกต่างจากรัฐธรรมนูญในแต่ละฉบับที่ผ่านมาจึงจำเป็นที่จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน พรคการเมือง และวุฒิสภา เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดความเป็นประชาธิปไตยและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :