กองทัพปากีสถานออกแถลงการณ์ยืนยันการตายของมูชาร์ราฟ โดยในแถลงการณ์ระบุถึง “ความเศร้าเสียใจอย่างสุดซึ้งในหัวใจ จากการถึงอนิจกรรมของ พล.อ.เปอร์เวซ มูชาร์ราฟ อดีตประธานาธิบดี ประธานคณะกรรมการเสนาธิการร่วมปากีสถาน และผู้บัญชาการกองทัพบก” พร้อมลงท้ายว่า “ขออัลเลาะห์ทรงอวยพรแก่วิญญาณที่จากไป และมอบความเข้มแข็งให้แก่ครอบครัวผู้สูญเสีย”
สำนักประธานาธิบดีปากีสถานระบุอ้างอิงคำพูดของ อาริฟ อัลวี ประธานาธิบดีปากีสถาน ที่ออกมาแสดงความเสียใจ พร้อมสวดอ้อนวอน “ขอให้ดวงวิญญาณผู้จากไปไปสู่สุคติชั่วนิรันดร์ และขอให้ครอบครัวผู้สูญเสียมีกำลังใจในการแบกรับความสูญเสียนี้”
มูชาร์ราฟล้มป่วยและทุกข์ทรมานจากโรคอะไมลอยโดซิส ซึ่งเป็นโรคหายากที่เกิดขึ้นเมื่อโปรตีนผิดปกติก่อตัวขึ้นในอวัยวะต่างๆ และขัดขวางการทำงานตามปกติของพวกมัน ทั้งนี้ มูชาร์ราฟเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี สำนักข่าวท้องถิ่น Geo News รายงานว่า จะมีเที่ยวบินพิเศษที่จะนำร่างของมูชาร์ราฟจากนครดูไบ เพื่อกลับมาฝังตามพิธีกรรมทางศาสนาในปากีสถาน
มูชาร์ราฟขึ้นสู่อำนาจด้วยการทำรัฐประหารในปี 2542 ผ่านการโค่นล้มอำนาจรัฐบาลของ นาวาซ ชารีฟ ผู้นำอนุรักษนิยมฝ่ายขวา ก่อนที่มูชาร์ราฟจะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศ ตั้งแต่ปี 2544 ถึง 2551 โดยในปีสุดท้ายในอำนาจ มูชาร์ราฟตัดสินใจลาออกเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย
แม้จะทำการรัฐประหารยึดอำนาจ แต่มูชาร์ราฟบริหารปากีสถานท่ามกลางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างรวดเร็ว และพยายามนำค่านิยมเสรีนิยมทางสังคมมาสู่ประเทศมุสลิมอนุรักษ์นิยมแห่งนี้ ทั้งนี้ มูชาร์ราฟได้รับการสนับสนุนจากมวลชนอยู่นานหลายปี โดยเขามีศัตรูสำคัญเป็นกลุ่มอัลกออิดะห์และกลุ่มติดอาวุธที่พยายามฆ่าเขาอย่างน้อย 3 ครั้งเป็นเวลาหลายปี
มูชาร์ราฟยังเป็นพันธมิตรคนสำคัญของสหรัฐฯ ภายหลังจากเหตุวินาศกรรม 9/11 อย่างไรก็ดี ในขณะที่เขาอยู่ในอำนาจ มูชาร์ราฟปกครองด้วยการกดขี่และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงท้ายของการครองอำนาจเมื่อปี 2550 มูชาร์ราฟสั่งระงับการใช้รัฐธรรมนูญ บังคับใช้กฎอัยการศึก ปลดหัวหน้าผู้พิพากษาศาลสูงสุด และจับกุมนักเคลื่อนไหวและทนายความ จนส่งผลให้เกิดการประท้วงจำนวนเป็นวงกว้าง
หลังจากลาออกในปี 2551 มูชาร์ราฟเดินทางกลับมายังปากีสถานจากการเนรเทศตัวเองออกนอกประเทศในเดือน มี.ค. 2556 ก่อนที่เขาจะทุ่มสรรพกำลังของตัวเอง ในการลงแข่งขันในการรับการเลือกตั้งทั่วไปในปีนั้น ทั้งนี้ เกิดการดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างร้ายแรงต่อเขาที่เริ่มขึ้นในปี 2557 ก่อนที่ในปี 2559 มูชาร์ราฟจะได้รับอนุญาตให้เดินทางออกจากประเทศด้วยเหตุผลทางการแพทย์
จนกระทั่งปี 2562 มูชาร์ราฟถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานกบฏ จากการระงับรัฐธรรมนูญและบังคับใช้กฎหมายฉุกเฉินในปี 2550 เขาถูกตัดสินประหารชีวิต อย่างไรก็ดี ศาลได้กลับคำพิพากษาดังกล่าวในภายหลัง ทั้งนี้ สื่อท้องถิ่นรายงานเมื่อปีที่แล้วว่า มูชาร์ราฟแสดงความปรารถนาที่จะกลับไปปากีสถานอีกครั้ง และใช้ชีวิต “ที่เหลืออยู่” ในประเทศบ้านเกิดของเขาเอง
ที่มา: