วันที่ 19 ธ.ค. ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวกรณีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอขอความเห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในปี 2567 ซึ่งปัญหาดังกล่าวนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากช่วงปลายปีมีมรสุมความกดอากาศสูงมาจากทางเหนือ ทำให้อากาศไม่กระจาย และปีนี้ประเทศไทยยังเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญด้วย
ชัย เปิดเผยว่า หมอกควันมีแหล่งที่มาจาก 4 แหล่ง ได้แก่ ไฟป่า การเผาในพื้นที่การเกษตร หมอกควันข้ามพรมแดน ภาคการขนส่งและอุตสาหกรรม โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เสนอจัดทำมาตรการแก้ไขฝุ่นพิษ PM 2.5 พร้อมเสนอกลไกแก้ไขทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่ เน้นมาตรการ 5 ข้อ
1.กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 17 จังหวัดภาคเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล กำหนดพื้นที่เป้าหมายป่าอนุรักษ์ 10 แห่ง และป่าสงวนแห่งชาติ 10 แห่ง รวมถึงพื้นที่การเกษตรที่มีประวัติการเผาซ้ำซาก
2.สร้างกลไกการทำงานให้ภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนการแก้ไขปัญหา เพื่อลดข้อจำกัดงบประมาณ
3.จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อปฎิบัติการในระดับพื้นที่
4.ปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการทำงาน
5.ยกระดับการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนให้เข้มข้น จากระดับภูมิภาคอาเซียนไปสู่การเจรจาทวิภาคี
โดยกำหนดเป้าหมายเป็นรูปธรรมกำหนดเป็น KPI ของผู้ว่าราชการจังหวัด 17 จังหวัดในภาคเหนือ สำหรับพื้นที่การเผาไหม้ในป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติจะต้องลดการเผาลง 50% และการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมต้องลดลง 50% ส่วนจังหวัดที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ 17 จังหวัด ตั้งเป้าลดการเผาลง 20% พื้นที่การเกษตรอื่น ๆ นอกเหนือ 17 จังหวัดภาคเหนือต้องลดลง 10%
นอกจากนี้ยังกำหนดค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 ภาคเหนือค่าเฉลี่ยจะต้องลดลง 40% กรุงเทพมหานครลดลง 20% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10% และภาคกลาง 20% โดยวันที่มีค่าหมอกควันเกินมาตรฐานภาคเหนือต้องลดลง 30% กรุงเทพมหานครลดลง 5% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5% และภาคกลาง 10%
ทั้งนี้ภาคราชการจะต้องตั้งศูนย์ปฏิบัติการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีชุดปฏิบัติการระดับอำเภอลงพื้นที่ไปยังระดับตำบล ควบคุมไม่ให้มีการเผา หากจะเผาต้องขออนุญาตจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะจัดคิวไม่ให้มีการเผาในห้วงเวลาเดียวกัน ส่งเสริมให้ภาคเอกชนนำเศษวัสดุทางการเกษตรไปทำเป็นเชื้อเพลิง เช่น ตอซัง ฟาง ใบไม้ใบหญ้าที่แห้ง ซึ่งรัฐบาลจะมีมาตรการส่งเสริมสำหรับเอกชน อาจจะมีสิทธิพิเศษทางด้านภาษีและอุดหนุนดอกเบี้ยให้
พร้อมทั้งบังคับใช้ “มาตรฐานยูโร 5” หรือมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ (Euro emissions standards) ระดับ 5 ก่อนวันที่ 1 ม.ค.2567 ด้วย