ไม่พบผลการค้นหา
พรรคเพื่อไทย ระบุความหิวของประชาชนรอไม่ได้ จี้รัฐเร่งเยียวยาให้ทั่วถึง รวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มคนฐานราก ย้ำหมดความจำเป็นบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว และนายวัฒนา เมืองสุข แถลงข่าวในนามคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย โดยกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลพิจารณาต่อพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นเวลา 1 เดือน ทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยประเมินมาตรการเยียวยาประชาชน และการฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่ง อาจเป็นไปด้วยความล่าช้า และเห็นว่าประชาชนจะเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น จึงมีข้อเสนอเรื่องเยียวยาและมาตรการคลายล็อก มาตรการทางเศรษฐกิจ

โดยนายวัฒนา กล่าวว่า รัฐบาลต้องเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงตามทะเบียนราษฎร์ ให้เพียงพอโดยให้เงินช่วยเหลือครัวเรือนละ 10,000 บาท และดำเนินการโดยเร็ว เพราะความหิวของคนรอไม่ได้

สำหรับการผ่อนคลายมาตรการ ต้องคำนึงด้านเศรษฐกิจถึงคนตัวเล็กตัวน้อย หรือกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก และควรเปิดให้เด็กได้เข้าเรียน เพราะตามหลักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าในกลุ่มของเด็กมีภูมิคุ้มกันและความเสี่ยงน้อยกว่าคนทั่วไป นายวัฒนา ย้ำว่า วันนี้หมดความจำเป็นที่จะบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้ รัฐสามารถควบคุมโรคได้แล้ว เหลือสถิติผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เลขหลักเดียว โดยเพื่อไทยมองว่า รัฐบาลใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือทางการเมือง

น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุว่า กลุ่มอาชีพเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนด้วยเช่นกัน พรรคเพื่อไทยจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งพิจารณาเยียวยาเกษตรกรรายครัวเรือน และตัวเลขที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์คือ 35,000 บาท ส่วนลูกจ้างในกลุ่มประกันสังคม ยังมีประชาชนจำนวนมากยังไม่ได้นับเงินเยียวยา จึงเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจเร่งจ่ายเงินโดยเร็วไม่ช้าไปกว่าสิ้นเดือนนี้

ด้าน นพ.ชลน่าน ระบุว่า กลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมได้เยียวยาตามสิทธิของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 2,000 บาทต่อราย จึงเห็นว่าคนที่เดือดร้อนแต่ยังไม่ได้การเยียวยาใดๆ รัฐควรดึงคนที่ยังตกหล่นให้ได้รับการเยียวยาเช่นกัน

สำหรับข้อสรุปที่วิปรัฐบาลปฏิเสธความร่วมมือลงชื่อเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้าน และ พ.ร.บ.โอน งบประมาณปี 2563 วงเงิน 100,395 ล้านบาทนั้น พรรคเพื่อไทยเห็นต่างในเรื่องนี้ เนื่องจากมองว่าหากพิจารณาได้เร็วก็จะสามารถอนุมัติการใช้งบประมาณได้เร็วขึ้น และนำเม็ดเงินไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และหากปล่อยให้เกิดความล่าช้า อาจจะสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติบ้านเมือง ซึ่งถือว่าเรื่องนี้เป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องนำมาพิจารณาในสภาโดยเร็ว และต้องติดตามกรณีที่นายกรัฐมนตรี รับปากว่าจะคืนงบประมาณให้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.วงเงิน 2,400 ล้านบาท ซึ่งหากได้พิจารณาเรื่องเหล่านี้โดยเร็ว อาจจะทำให้ยอดวงเงินกู้ปรับลดลงจากเดิมด้วย