ไม่พบผลการค้นหา
บอร์ด กพฐ. มีมติปรับลดหลักเกณฑ์รับเด็กเงื่อนไขพิเศษ เข้มตรวจสอบนักเรียนในพื้นที่เขตบริการว่าอาศัยจริงตามทะเบียนบ้านหรือไม่ พร้อมประกาศรับนักเรียนม.1 และม.4 วันที่ 22-27 มี.ค.นี้ เว้นวันเลือกตั้ง

นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วยนายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานว่า ที่ประชุมการแก้ไขประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรื่อง นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัด สพฐ. ปีการศึกษา 2562 ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเรื่อง มาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทน เพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัด สพฐ.ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอ โดยที่ประชุมมีมติปรับปรุงประกาศสพฐ.ดังนี้ ปรับปฏิทินการรับสมัครรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1และ4 ปีการศึกษา 2562 ซึ่งเดิมกำหนดรับสมัครระหว่างวันที่ 23-27 มีนาคม แต่เนื่องจากคณะกรรมการเลือกตั้ง ได้กำหนดให้วันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น จึงเลื่อนวันรับสมัครเป็นวันที่ 22-27 มีนาคม โดยให้งดการรับสมัครในวันที่ 24 มีนาคม เพื่อให้ผู้ปกครองไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะฉะนั้น จึงมีระยะเวลาการรับสมัครเท่าเดิมคือ 5 วัน

นายเอกชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุมมีมติแก้คำนิยาม คุณสมบัติและหลักเกณฑ์การเป็นนักเรียนในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนให้มีความชัดเจนและเข้มงวดขึ้น โดยนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ หมายถึง นักเรียนที่มีชื่อในทะเบียนบ้านที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนอย่างน้อย 2 ปีนับถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 และต้องอาศัยอยู่จริงกับบิดามารดา หรือผู้ปกครองที่เป็นเจ้าบ้าน โดยให้เจ้าบ้าน หรือ เจ้าของบ้าน รับรองการอาศัยอยู่จริง ทั้งนี้ผู้ปกครอง หมายถึง บิดามารดา หรือ ผู้ปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมถึงบุคคลที่เด็กอยู่ด้วยเป็นประจำ โดยเด็กต้องอาศัยอยู่ที่บ้านนั้นจริงๆ ซึ่งในการรับสมัครนักเรียน จะมีใบสมัครของผู้ปกครองให้รับรองตนเองว่า “เด็กพำนักอยู่ในบ้านนั้นจริง หากมีการตรวจสอบพบภายหลังว่าไม่ได้พักอาศัยอยู่จริง ยินดีรับโทษให้เด็กออกจากโรงเรียนนั้นได้โดยไม่ฟ้องร้อง” นอกจากนี้ ยังมีความผิดทางกฎหมายแพ่งและอาญาฐานให้ข้อมูลเท็จ 

ทั้งนี้การรับนักเรียนชั้นม.1 ในเขตพื้นที่บริการร้อยละ 60และรับนักเรียนทั่วไปด้วยวิธีการสอบคัดเลือกร้อยละ 40 ซึ่งในการประกาศรายชื่อ ให้สถานศึกษาประกาศรายชื่อตามลำดับคะแนนที่เด็กทำได้ทุกคน ที่มาสมัครเข้าสอบคัดเลือก แต่ไม่ต้องประกาศผลคะแนนเนื่องจากการประกาศผลคะแนนจะเป็นการละเมิดสิทธิ์ ซึ่งถ้าผู้ปกครองอยากรู้คะแนนของเด็กให้ไปขอดูที่สถานศึกษา ทั้งนี้ การประกาศรายชื่อโดยเรียงลำดับคะแนน จะทำให้ถ้ามีเด็กสละสิทธิเด็กในลำดับถัดไปก็ได้เลื่อนมาแทน ไม่สามารถนำเด็กที่ได้คะแนนน้อย หรือไม่ได้มาสมัครสอบเข้ามาสวมสิทธิแทนได้ 

ส่วนการรับนักเรียนชั้น ม.3 เข้าเรียนต่อชั้น ม.4 ในโรงเรียนเดิม ให้สถานศึกษารับเด็ก ม.3 ทุกคนที่ประสงค์จะเรียนในโรงเรียนเดิม หากมีที่นั่งเหลือสามารถเปิดรับสมัครสอบคัดเลือกเด็กทั่วไปได้ จากหลักเกณฑ์เดิมกำหนดให้โรงเรียนรับเด็กทั่วไปร้อยละ 20 ของแผนการรับนักเรียนชั้น ม.4 ซึ่งจะทำให้นักเรียน ม.3 ส่วนหนึ่งต้องหลุดออกจากโรงเรียนเดิม

นายเอกชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติปรับปรุงหลักเกณฑ์การรับนักเรียน กรณีนักเรียนเงื่อนไข ซึ่งเดิมการรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษมี 7 ข้อจะลดเหลือ 4 ข้อ ได้แก่ 1.นักเรียนที่อยู่ในความอนุเคราะห์ของผู้บริจาคที่ดินเพื่อจัดตั้งโรงเรียน เนื่องจากเป็นข้อผูกพันเดิมของโรงเรียน 2.นักเรียนที่เป็นผู้ยากไร้และด้อยโอกาส 3.นักเรียนที่เป็นบุตรผู้เสียสละเพื่อชาติ หรือ ผู้ประสบภัยพิบัติ ที่ต้องการได้รับการสงเคราะห์ดูแลเป็นพิเศษ และ4.นักเรียนที่เป็นบุตรราชการครู และบุคลากรของโรงเรียน ส่วนที่ตัดออก 3 ข้อ ได้แก่ 1.นักเรียนที่ทำคะแนนสอบคัดเลือกเท่ากันในลำดับสุดท้าย 2.รับนักเรียนโควตาตามข้อตกลงของโรงเรียนคู่สหกิจ หรือคู่พัฒนา หรือโรงเรียนเครือข่าย และ3.นักเรียนที่อยู่ในอุปการะของผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ซึ่ง สพฐ.จะประกาศหลักเกณฑ์การรับนักเรียนใหม่ให้สถานศึกษาถือปฏิบัติได้ในสัปดาห์หน้า สำหรับการระดมทรัพยากรนั้นทางโรงเรียนสามารถทำได้หลังจากสิ้นสุดการรับนักเรียนเข้าเรียนเรียบร้อยแล้ว