สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดการประชุมชี้แจงการดำเนินงานจัดทำข้อมูลระบบการคัดกรองนักเรียนยากจน ประจำภาคเรียนที่ 1/2562 ผ่านระบบ Teleconference โดยมีผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 225 เขตทั่วประเทศร่วมรับฟัง
ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ความสำเร็จของโครงการเงินอุดหนุนช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข (conditional cash transfer - CCT) ของโรงเรียนสังกัด สพฐ. ในปีการศึกษา 2561 ที่ได้ดำเนินการร่วมกับ กสศ. สามารถช่วยนักเรียนยากจนพิเศษได้รับเงินอุดหนุนเพื่อบรรเทาอุปสรรคในการมาเรียน จำนวน 510,040 คนทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กขาดโอกาสและยังไม่ได้รับการคัดกรองอีกจำนวนมาก จึงขอความร่วมมือถึงผู้อำนวยการสำนักเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัด และผู้เกี่ยวข้องให้ความสำคัญ กำกับติดตาม รายงานเรื่องนี้ให้ทันตามกำหนดระยะเวลา เพราะทาง กสศ. มุ่งหวังตั้งใจจะดูแลนักเรียนทุกคนให้มีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นในทางการศึกษา ซึ่งเงินจำนวน 1,600 บาทต่อคน ถือว่ามีคุณค่าและประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งหมดจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กนักเรียนทุกคนอย่างเสมอภาค
"เรื่องของการคัดกรองเด็กเป็นเรื่องของโอกาสทางการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติและยังเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการร่วมกัน ส่วนปีการศึกษา 2561 ที่ผ่านมาพบโรงเรียน 2,310 โรงเรียนทั่วประเทศ ที่ไม่ได้เข้าไปดำเนินการกรอกข้อมูลในระบบคัดแยกเด็กนักเรียนยากจนพิเศษ ส่งผลให้ผู้เรียนกว่า 30,000 คน เสียโอกาสไป" ว่าที่ ร.ต.ธนุ กล่าว
นพ.สุภกร บัวสาย ผจก. กสศ. กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดต้องขอขอบคุณครูทั่วประเทศในการทำงานร่วมกัน ภาพรวมที่ สพฐ. กสศ. และครูทั่วประเทศร่วมกันทำจะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเล็กและยังเป็นการปฏิรูปการศึกษา แม้อาจไม่ใช่ส่วนใหญ่ก็ตาม โดยในปีการศึกษา 2561 กสศ.ได้รับความร่วมมือจากสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. ที่มีนักเรียนทุนเสมอภาคทางการศึกษาจำนวน 28,921 แห่ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 225 เขต คุณครูกว่า 400,000 คน และคณะกรรมการสถานศึกษา 150,000 คน ช่วยกันผลักดันส่งผลทำให้มีนักเรียนทุนเสมอภาคทางการศึกษาของ สพฐ.จำนวน 510,040 คนทั่วประเทศ ได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มเติมจาก กสศ. จำนวน 1,600 บาทต่อคนต่อปี เพื่อเป็นค่าเดินทาง ค่าอาหาร และกิจกรรมพัฒนานักเรียนทุนเสมอภาคทางการศึกษา และถือเป็นการเพิ่มงบประมาณให้กับ สพฐ. ประมาณ 800 ล้านบาท ในลักษณะเป็นทุนการศึกษาให้แบบต่อเนื่อง และขยายไปยังสังกัดอื่นต่อไป
"เรื่องนี้ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่ สพฐ.และกระทรวงศึกษาธิการ ช่วยกันปฏิรูปผลักดันจนสำเร็จในปีการศึกษา 2561 ที่ผ่านมา และสามารถทำให้เรื่องเหล่านี้ลุล่วงสำเร็จด้วยดี ถือเป็นการปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม ส่วน กสศ. เป็นแค่ผู้ช่วยเดินตามหลังเป็นกองเสบียงให้ ทาง กสศ.ขอขอบคุณแทนเด็กนักเรียน 500,000 กว่าคน ที่ได้รับเงินอุดหนุน" นพ.สุภกร กล่าว
นพ.สุภกร กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ปีการศึกษา 2562 ได้มีการขยายกลุ่มเป้าหมายการให้ทุนอุดหนุนช่วยเหลือเพิ่มเติม จากเดิมให้ทุนเฉพาะกลุ่มนักเรียนชั้น ป.1-ม.3 แต่ปีนี้จะขยายผลลงไปตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 2-3 จนถึง ม.3 ผ่านการทดลองนำร่องก่อนในโรงเรียนสังกัด สพฐ.10 จังหวัด ได้แก่ 1.เชียงใหม่ 2.เชียงราย 3.ขอนแก่น 4.ร้อยเอ็ด 5.กาญจนบุรี 6.นนทบุรี 7.สระแก้ว 8.สุราษฎร์ธานี 9.ภูเก็ต และ10.ยะลา เพื่อทดลองให้ระบบการทำงาน การบันทึกข้อมูลเกิดความลงตัวมากที่สุด นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนในสังกัด สพฐ.บางส่วน ที่จะเป็นพี่เลี้ยงขยายไปยังโรงเรียนสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ทั่วประเทศ 200 โรงเรียน มีนักเรียน 20,000 คน เพื่อช่วยเหลือเรื่องระบบคัดกรองต่างๆ ให้เด็กได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนต่อไป
นพ.สุภกร กล่าวอีกว่า ในปีการศึกษา 2561 พบว่ามีนักเรียนที่พลาดโอกาสรับทุน 2 กลุ่มคือ 1.นักเรียนไม่ขอรับเงินอุดหนุนจำนวน 83,947 คน และ 2.สถานศึกษาบันทึกข้อมูลยังไม่ครบ จำนวน 34,742 คน ทั้งหมดรวมแล้วกว่า 118,689 คน ส่งผลให้นักเรียนที่อยู่ในเกณฑ์นักเรียนยากจนพิเศษเสียโอกาสได้รับเงินอุดหนุนสร้างโอกาสทางการศึกษานี้ไป หากในปีการศึกษา 2562 คุณครูมีการแก้ไขทบทวน หรือคัดกรองตามเกณฑ์สามารถเติมชื่อเข้ามาใหม่ได้ และทาง กสศ.จะเร่งดำเนินการช่วยเหลือนักเรียนต่อไป จึงขอความร่วมมือให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาช่วยกันสร้างความเข้าใจและให้คำแนะนำแก่ครูและสถานศึกษา ร่วมกันกรอกข้อมูลในขั้นตอนต่างๆ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อไม่ให้มีนักเรียนคนใดเสียโอกาส แม้แต่คนเดียว
"จำนวนนักเรียน 2 กลุ่มนี้ที่ขาดโอกาสไปรวมกว่า 118,689 คนนั้น ไม่ใช่เกิดผลเสียกับเด็กจำนวนนี้เท่านั้น ในระยะยาวถ้าทุกฝ่ายร่วมกันทำระบบให้มีความน่าเชื่อถือจะส่งผลดีถึงภาพรวมนักเรียนทั้งประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้กับสำนักงบประมาณ คณะรัฐมนตรี และสภาฯ ในขั้นตอนต่อไป และอาจทำ���ห้นักเรียนยากจนในสังกัด สพฐ. จำนวน 1.2 ล้านคน ได้รับอานิสงค์อีกด้วย ดังนั้นต้องช่วยกันทำให้ระบบมีประสิทธิภาพ มีความน่าเชื่อได้" ผจก.กสศ. กล่าว
ทั้งนี้ นพ.สุภกร ยังกล่าวเพิ่มอีกว่า ภายหลังรับฟังข้อเสนอแนะจากครูทั่วประเทศ ในปีการศึกษา 2562 กสศ.ได้ปรับปรุงระบบการทำงานให้ดีขึ้น เพื่อลดเวลา และภาระการทำงานของคุณครู โดยได้ลดภาระการบันทึกข้อมูลของคุณครูจาก 4 แบบฟอร์ม เหลือ 1 แบบฟอร์ม ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการสำรวจและการบันทึกแบบใหม่ได้ถึง 50 % ส่วนการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน 1 ครั้ง ข้อมูลดังกล่าวจะใช้ได้ 3 ปี ที่สำคัญคุณครูที่ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลนักเรียนทุนเสมอภาคทางการศึกษาจะได้ค่าเดินทางในการลงพื้นที่ นอกจากนี้ปีการศึกษา 1/2562 จะคัดกรองเฉพาะนักเรียนใหม่ชั้น ป.1 ป.4 ม.1 เท่านั้น และขอเชิญชวนคุณครูทั่วประเทศสามารถดาวน์โหลดจดหมายข่าว ได้จาก www.eef.or.th. เพื่อติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างๆ ได้ หรือ สายด่วน 02-079-5475 กด 1