ไม่พบผลการค้นหา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ชวนภาคเอกชนร่วมบริจาคสมทบช่วยนักเรียนยากจนพิเศษ ลดจดหมายลาครู เอสโซ่ ประกาศเป็นเจ้าแรก ปักหมุดเพชรบุรี ใช้ระบบ ISEE ชี้เป้า ช่วยเด็กได้ไม่ต่ำกว่า 300 คน พร้อมขยายพื้นที่ทั่วประเทศ

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) แถลงข่าวปฏิบัติการระดมความร่วมมือลดจดหมายลาครู ช่วยเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษา และเปิดมิติใหม่ของการช่วยเหลือสังคม ตอบโจทย์ CSR ภาคธุรกิจ ชี้เป้าช่วยเหลือถูกคน พร้อมรายงานผลรายคน มั่นใจช่วยเด็กได้จริง

​นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กล่าวว่า ตามที่ปรากฎเป็นข่าวและพบความเดือดร้อนของเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากนโยบายการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียนของ สพฐ.และการคัดกรองนักเรียนยากจนพิเศษ ให้ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขของ กสศ. บทบาทของครูในการเยี่ยมบ้านคงมิใช่เรื่องใหม่ แต่เราเพิ่มความเข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง มุ่งเป้าลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพื่อช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มยากจนที่สุดทันท่วงที

นายสนิท กล่าวว่า หากประมวลปัญหาของนักเรียนยากจนพิเศษ ซึ่งควรได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วน พบว่ามีทั้งเรื่องสภาพครัวเรือนที่มีภาระพึ่งพิง มีผู้พิการ เจ็บป่วยเรื้อรัง หรือพ่อแม่แยกทางกัน อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้อง บ้านที่อยู่อาศัยมีสภาพทรุดโทรมหนัก ถึงขั้นไม่ปลอดภัยต่อชีวิต ไม่คุ้มแดดคุ้มฝน ไม่มีห้องน้ำในบริเวณบ้าน สภาพแวดล้อมไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่มีไฟฟ้าหรือน้ำประปาใช้ ไม่มีเงินค่าอาหาร และค่าเดินทางในการมาโรงเรียน ล่าสุด สพฐ.และกสศ.จะบูรณาการฐานข้อมูลศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สพฐ.กับระบบปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน หรือ CCT เพื่อดูแลนักเรียนรายบุคคลในทุกมิติพร้อมส่งต่อความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญจะช่วยลดภาระงานให้ครูในการบันทึกข้อมูลต่างๆด้วย โดยจะมีการประชุมเรื่องนี้ในวันที่ 23-24 กรกฎาคมนี้

“ขอบคุณในความทุ่มเทของคุณครู และเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 225 เขต ที่ไม่นิ่งเฉยกับความทุกข์ยากของเด็กๆ แม้พื้นที่ห่างไกลยากลำบากก็ไม่มีตกหล่น จนนำมาสู่ความร่วมมือของหลายภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนเพื่อช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จะไม่สำเร็จถ้าทำเพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เพราะเป็นปัญหาขนาดใหญ่และซับซ้อน ตลอดกรกฎาคมนี้ สพฐ.กำชับให้เขตพื้นที่การศึกษาดูแลสนับสนุนครูลงพื้นที่เยี่ยมบ้านให้ครบ 100 เพื่อไม่ให้มีเด็กยากจนตกหล่นแม้แต่คนเดียว” นายสนิท กล่าว

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ภายในเดือนกรกฎาคม กสศ.จะจัดสรรเงินอุดหนุนในนักเรียนยากจนพิเศษกลุ่มเดิมที่ยืนยันการมีตัวตนในสถานศึกษาแล้ว ราว 320,000 คน เพื่อเป็นค่าครองชีพ ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ให้แก่นักเรียนและจัดสรรไปยังสถานศึกษาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในกิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพของนักเรียน คนละ 1,000 บาทในภาคเรียนที่ 1 รวมแล้วกว่า 300 ล้านบาท ทั้งนี้ตลอดเดือนกรกฎาคม ครูจากสังกัด สพฐ. ตชด.และอปท.กว่า 400,000 คนยังคงเดินหน้าคัดกรองนักเรียนเข้าใหม่ได้แก่ชั้น ป.1 ป.4 และม.1 เพื่อรับการจัดสรรอีกครั้งในเดือนสิงหาคมอีกราว3 แสนคน เพื่อไม่ให้มีเด็กคนไหนตกหล่นจากการช่วยเหลือ  ทั้งนี้ปีการศึกษา 2562 กสศ.จะช่วยสนับสนุนค่าเดินทางในการเยี่ยมบ้านเพื่อเติมให้กับโรงเรียนด้วย โดยในส่วนของอัตราการอุดหนุนในเทอมที่ 2 ทางคณะรัฐมนตรีอนุมัติปรับเพิ่มให้แล้วเป็นเทอมละ 1,500 บาท (หรือปีละ 3,000 บาท) ในงบประมาณปี 2563 แต่ยังอยู่ในขั้นตอนรอการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอยู่

นพ.สุภกร กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาของระบบการศึกษาโดยตรง แต่เนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจทำให้เด็กกลุ่มนี้ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษามากกว่าครอบครัวร่ำรวยถึง 4 เท่า ซึ่งกสศ.มุ่งบรรเทาความเดือดร้อนขั้นต้นเพื่อบรรเทาอุปสรรคในการมีเรียน ล่าสุดจึงมีโครงการระดมความร่วมมือจากภาคธุรกิจเพื่อช่วยเด็กกลุ่มนี้เพิ่มเติมจากที่กสศ.จัดสรร โดยใช้ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือ  iSEE เป็นเครื่องมือชี้เป้าตอบโจทย์ CSR ของภาคธุรกิจ โดยเบื้องต้นมี 2 แนวทาง คือ 1.ชี้เป้าโรงเรียนที่มีนักเรียนยากจนพิเศษมากที่สุดในรัศมีชุมชนโดยรอบกิจการของภาคเอกชน เพื่อร่วมบริจาค เติมความช่วยเหลือ 2. ชี้เป้านักเรียนยากจนพิเศษจาก 100 โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ( พื้นที่เกาะ พื้นที่สูง และพื้นที่ห่างไกล ชุมชน) ซึ่งการสนับสนุนสามารถเลือกได้เป็น ค่าครองชีพ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง กิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพ หรือสมทบทุนการศึกษา

​“ล่าสุดบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ร่วมสมทบทุนการศึกษากับนักเรียนยากจนพิเศษในโรงเรียนรอบสถานีบริการน้ำมันสาขาวังมะนาว จังหวัดเพชรบุรี นับเป็นกิจการต้นแบบร่วมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษารายแรกของประเทศไทย นอกจากนี้กสศ.ยังให้ความสำคัญกับการขยายผลเพิ่มคุณค่าให้กับเงินบริจาค โดยเฉพาะการส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพทั้งในมิติของเด็กและครอบครัว ถือเป็นเป้าหมายการทำงานร่วมกันภาคเอกชนอีกด้วย  ธุรกิจเอกชนใดสนใจร่วมบริจาคสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02 0795475 ” นพ.สุภกร กล่าว

ดร.ทวีศักดิ์ บรรลือสินธุ์ กรรมการและผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมองค์กรและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท เอสโซ่(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เอสโซ่ใช้ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือ ISEEของกสศ. ช่วยชี้เป้าโรงเรียนที่มีนักเรียนยากจนพิเศษมากที่สุดซึ่งอยู่บริเวณรอบสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่สาขาวังมะนาว จังหวัดเพชรบุรี ประมาณ 18 โรงเรียน ครอบคลุมนักเรียนทุนมากกว่า 300 ทุน และจะขยายต่อไปในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นทุนการศึกษาและบรรเทาอุปสรรคในการมาเรียน  การลดความเหลื่อมล้ำด้วยการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับกลุ่มเป้าหมายยากจนที่สุดให้สามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างเต็มศักยภาพ จะสามารถขจัดความยากจนข้ามชั่วคนได้ ถือเป็นเส้นทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นจุดยืนสำคัญของเอสโซ่

“ระบบ ISEE ของ กสศ.เป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์กิจกรรมเพื่อสังคมของภาคเอกชนในระยะยาว ช่วยให้ทางเอสโซ่มั่นใจว่าเงินบริจาคที่สมทบนั้น มุ่งตรงไปยังนักเรียนที่กำลังเดือดร้อนที่สุดและยังมีระบบติดตามที่สามารถรายงานผลลัพธ์การช่วยเหลือรายคน ทั้งผลการเรียน อัตราการมาเรียน สุขภาพน้ำหนักส่วนสูง เพื่อให้มั่นใจว่าทุกความช่วยเหลือสามารถแก้ปัญหาได้จริง ไม่มีเด็กในชุมชนหลุดจากระบบ โดยจะมีการประเมินผลการเปลี่ยนแปลงเมื่อครบ 1 ปีการศึกษา” ดร.ทวีศักดิ์ กล่าว

นางสาวพัชรินทร์ เนื่องอัน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเนินรัก จ.เพชรบุรี กล่าวว่า โรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนจากทางกสศ. นำไปต่อยอดให้นักเรียนฝึกทักษะอาชีพ พัฒนาทำน้ำยาล้างจาน ส่งขายในสหกรณ์โรงเรียนสร้างรายได้เสริมเป็นเงินเก็บสำหรับนักเรียน เงินทุกบาทจากการทำกิจกรรมจะถูกนำไปฝากเก็บไว้ในบัญชีเงินฝากธนาคาร เพื่อเป็นทุนสำหรับเด็กหลังจบการศึกษา

“โรงเรียนยังฝึกทักษะฝีมือให้แก่เด็กๆในด้านอื่นๆอีก เช่น พับผ้ารูปสัตว์ ทำยาหม่อง ฯลฯ กิจกรรมทั้งหมด นอกจากสร้างรายได้แล้วยังสอดแทรกให้เด็กรู้จักหน้าที่ ซื่อสัตย์ มีวินัย ถึงแม้เงินที่นำไปพัฒนาทักษะอาชีพจะไม่มากแต่จะไม่สูญเปล่าแน่นอน ถ้าหากทำให้ยั่งยืนสิ่งเหล่านี้จะอยู่ต่อไปยาวนาน ซึ่งทางโรงเรียนมีนโยบายชัดเจนว่าเงินทุนที่ได้รับมาจะต้องบริหารให้ดี ไม่ใช่ใช้หายไปอย่างไร้ประโยชน์ สำหรับเงินสนับสนุนจากภาคเอกชนเข้ามาเพิ่มเติม จะช่วยขยายผลเสริมสร้างการพัฒนาทักษะอาชีพได้มากขึ้นอีก” นางสาวพัชรินทร์ กล่าว 

นายสมคะเน ดาษดา ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดเสด็จ จ.ปทุมธานี กล่าวว่า การสนับสนุนที่กสศ.ให้แก่ทางโรงเรียนถือว่ามีประโยชน์มาก เป็นกองทุนที่สร้างความแตกต่างจากกองทุนอื่นๆที่ผ่านมา ไม่ใช่ทุนที่นักเรียนใช้แล้วหมดไป แต่มีทั้งทุนที่จำเป็นต่อพื้นฐานการดำรงชีวิต และยังมีทุนสำหรับต่อยอดให้เด็กนักเรียนฝึกอาชีพ สามารถสร้างรายได้ขึ้นมาใหม่ได้ ถึงเงินที่ได้รับจะไม่มากแต่เป็นกิจกรรมที่สร้างคุณค่าให้แก่ตัวนักเรียน สามารถพัฒนาต่อยอดไปเป็นแสนเป็นล้านได้ หลังจากมีงบประมาณสนับสนุนตรงนี้ เด็กๆจะใช้เวลาว่างร่วมกิจกรรมกับโรงเรียนมากขึ้น เช่น โรงเรียนมีกิจกรรมปลูกผักปลอดสารพิษ ทำน้ำสมุนไพร ทำเบเกอรี่ และฝึกตัดผม สร้างรายได้เงินเข้าบัญชีของนักเรียนโดยตรง ที่สุดแล้วไม่ว่าเงินจำนวนเท่าไหร่ก็ตาม แต่ทักษะที่เด็กได้จะเป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพของเด็กนักเรียนอย่างยั่งยืน

นายปกรณ์  ศศิวัจน์ไพสิฐ ประธานชมรมนักจัดการศึกษาในพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสว้า จ.น่าน กล่าวว่า โรงเรียนในพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดารส่วนใหญ่อยู่ในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 500 เมตรขึ้นไป ต้องเดินทางข้ามเขาไปหลายลูกตามสภาพ แต่ละแห่งมีบริบทสภาพปัญหาไม่เหมือนกัน จึงทำให้นักเรียนมีความต้องการต่างกันออกไป ทั้งเรื่องปัจจัยพื้นฐาน อุปกรณ์การเรียน รองเท้า ถุงเท้า อาหาร ทั้งหมดขาดแคลนอย่างมาก การเดินทางไปโรงเรียนในพื้นที่สูง ถิ่นทุรกันดารสร้างความลำบากกับนักเรียน บางครั้งกระทบไปถึงการไปโรงเรียน อาจเหนื่อยล้ากับการเดินทางจนหมดแรงจูงใจ ยิ่งช่วงฤดูแล้งครอบครัวเด็กนักเรียนหลายคนประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร ไม่มีข้าวเช้ากินก่อนมาโรงเรียน

S__14533078.jpg