ไม่พบผลการค้นหา
เริ่มแล้ว! โหวตนายกฯ รอบ 2 'สุทิน' ลุกเสนอชื่อ 'พิธา' อีกรอบ 'อัครเดช' ชี้เสนอญัตติซ้อนไม่ได้ ขัดต่อข้อบังคับ ส.ว.พ้องเสียงหนุน ด้าน 'ก้าวไกล-เพื่อไทย' ลุกขวาง ยันการเสนอชื่อไม่เป็นญัตติ

วันที่ 19 ก.ค. เวลา 9.30 น. ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 วาระพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม 

สุทิน คลังแสง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้รัฐสภาลงมติเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และมีสมาชิกเป็นผู้รับรองไม่น้อยกว่า 50 คน

LINE_ALBUM_230719_14.jpg

จากนั้น อัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ลุกประท้วงว่า การเสนอชื่อ พิธา อาจขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 หากมีการเสนอญัตติใด การจะเสนอญัตติที่มีหลักการเดียวกัน หรือลงมติไปแล้ว ขึ้นมาซ้ำอีกนะทำไม่ได้ โดยในวันที่ 13 ก.ค. พิธา ได้รับเสียงเห็นชอบไม่เกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภา จึงถือว่าเป็นญัตติที่ได้ลงมติไปแล้ว ไม่สามารถเสนอซ้ำอีกได้ อัครเดช ย้ำว่า ข้อบังคับการประชุมมีศักดิ์เทียบเท่า พ.ร.บ. จึงต้องปฏิบัติตาม

ขณะที่ สมชาย แสวงการ ส.ว. เสนอให้ประธานรัฐสภาเดินหน้าตามข้อตกลงของที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย เมื่อวาน (18 ก.ค.) ที่มีความเห็นแล้วว่า การเสนอญัตติซ้ำทำไม่ได้ เพื่อให้การถกเถียงจบลง ทำให้ รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แย้งว่า ตนอยู่ในที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย ขณะนี้เป็นระเบียบวาระพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ขณะนี้สมาชิกกำลังอภิปรายแสดงความเห็นนอกระเบียบวาระ ที่ไม่เกี่ยวข้อง

ตามด้วย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยืนยันว่า ข้อบังคับการประชุมไม่ใหญ่ไปกว่ารัฐธรรมนูญ และการเสนอชื่อ พิธา ไม่ถือเป็นญัตติ แต่เป็นการให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ หากยังตีความว่าเป็นญัตติ จะส่งผลกระทบต่อรัฐธรรมนูญ

"แล้วผมจะอภิปรายให้ฟังว่า การตีความว่าเป็นญัตติจะทำให้รัฐธรรมนูญได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างไร และขอให้บันทึกไว้ด้วยว่า ผู้ที่เสนอให้ตีความเช่นนั้นต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" วิโรจน์ กล่าว

LINE_ALBUM_230719_12.jpg

ด้าน จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ชี้ว่า ในรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ไม่ได้มีคำว่าญัตติแต่อย่างใด เพียงแต่มีกระบวนการเสนอชื่อเสมือนกับญัตติ แต่ไม่ใช่ญัตติ ขณะที่มีความเห็นแยกเป็น 2 ฝ่าย จึงเสนอให้มีการลงมติ หากมีเสียงเห็นชอบเกินกว่ากึ่งหนึ่งของที่ประชุม ก็เท่ากับเห็นชอบว่าข้อบังคับที่ 41 มีผลแล้ว การเสนอชื่อ พิธา ก็เป็นอันตกไป

โดยก่อนหน้านี้ ประธานรัฐสภา ได้จัดสรรเวลาให้แต่ละฝ่ายอภิปรายแสดงความเห็นของตนเอง ทั้งหมดเวลา 2 ชั่วโมง ฝ่าย 8 พรรคร่วมรัฐบาล ฝ่าย 10 พรรค และฝ่ายวุฒิสภา ได้เวลา 40 นาทีเท่ากัน