ในวงเสวนา Media Forum ครั้งที่6 "บทบาทสื่อและการรับมือสงครามข่าวสารช่วงการเลือกตั้ง" จัดโดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมกับ Centre for Humanitarian Dialogue นอกจากจะเป็นเวทีที่พูดถึงบทบาทสื่อแล้ว ยังมีวิทยากรหลายคนสะท้อนถึงสถานการณ์ก่อนการเลือกตั้งอย่าง น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนษยชนแห่งชาติ ที่ไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะสามารถเปลี่ยนโฉมหน้าจากอำนาจนิยมไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ ผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้เป็นเพียงการเปลี่ยนผ่าน ยังมีการซ่อนเร้นของเผด็จการอำนาจนิยมในทางการเมือง ภายใต้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำหลายด้าน โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำทางกติกา การจ่ายเงิน 500 บาทให้กับประชาชนที่กำลังเกิดขึ้น คือการสร้างความได้เปรียบทางการเมือง
ด้าน นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw เห็นด้วยกับ นพ.นิรันดร์ โดยมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้นำไปสู่ทางออกของประเทศ การที่ คสช.เข้ามาควบคุมทั้งหมดตั้งแต่การเขียนกติกา การบังคับใช้กฎหมาย จนมาถึงการส่ง 4 รัฐมนตรีตั้งพรรคการเมือง ทำให้เชื่อว่าการเลือกตั้งจะไม่เสรีและเป็นธรรม สามารถทำนายผลการเลือกตั้งที่จะออกมาได้ ส่วนการที่ คสช.ยกเลิกประกาศและคำสั่ง 9 ฉบับก่อนหน้านี้ คือการจงใจที่จะยังคงอำนาจในการควบคุมสื่อ และการคงอำนาจให้ทหารยังสามารถควบคุมตัวบุคคลจากที่บ้านได้อยู่ ซึ่งหลังจากนี้ไปต้องจับตาการออกกฎระเบียบในการควบคุมการใช้สื่อออนไลน์หาเสียงของ กกต.ที่คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงต้นเดือนหน้า
นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล ตั้งคำถามถึงองค์กรสื่อว่า ถึงเวลาหรือยังที่จะเลิกเซนเซอร์ตัวเอง หลังจากในช่วงที่ผ่านมาสื่อถูกควบคุมจนเกิดความกลัว เกิดความเคยชินในการเซนเซอร์ตัวเอง โดยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา คสช.เองก็เคยชินกับการควบคุมสื่อมวลชน
นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิจัยสถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้อยู่ในสนามรบของข้อมูลข่าวสารที่มีข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก เชื่อว่าสงครามข้อมูลข่าวสารจากการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ยังมีสงครามข้อมูลข่าวสารในรอบหน้าที่ไม่มีมาตรา 44 นั้นรออยู่ โดยเฉพาะสงครามข้อมูลข่าวสารที่อาจเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งที่อาจมีขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปีหน้า ขณะเดียวกันยอมรับว่า แม้คสช.จะยกเลิกประกาศและคำสั่งบางส่วนแล้ว แต่ยังคงมีปัญหาในการใช้เสรีภาพทางวิชาการที่ยังใช้ได้ไม่เต็มที่
ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต หน.ภาควิชาวารสารสนเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเป็นห่วงถึงความอ่อนไหวในช่วง 2 เดือนก่อนการเลือกตั้งจากการใช้สื่อออนไลน์ หรือสื่อโซเชียลมีเดีย โดยคนใช้สื่อออนไลน์มีแนวโน้มที่จะเลือกเสพข้อมูลจากคนที่ชื่นชอบเท่านัั้น พร้อมกับขบวนการสร้างข่าวเท็จ ข่าวลวงที่จะเกิดขึ้นในช่วง 3 สัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง จนนำมาสู่การใช้ความรู้สึกร่วมกับการเสพสื่อ
ด้านนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ระบุว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้จะเกิดปรากฎการณ์ที่พรรคการเมืองต่างๆ ใช้สื่อโซเชียลฯ ทั้งบนดินและใต้ดินอย่างหนัก เนื่องจากเห็นตัวอย่างการเลือกตั้งในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จจากการใช้สื่อประเภทนี้ ขณะที่นายชัยวัฒน์ จันธิมา บรรณาธิการพะเยาทีวีชุมชน เปิดเผยว่า มีสื่อมืออาชีพที่ไปเข้าร่วมในวงการสร้างข่าวปลอม ซึ่งด้วยความเป็นมืออาชีพนี้เองทำให้มีประสิทธิภาพในการเผยแพร่ข่าวปลอมนั้น
ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก ผอ.สำนักกฎหมายและคดี กกต. ชี้แจงในหลายประเด็นในวงเสวนาในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายและผู้จัดการเลือกตั้ง โดยยืนยันว่า กฎระเบียบเกี่ยวกับการเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแมป กกต.ได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ โดยยอมรับว่าสื่อโซเชียลฯมีผลต่อการเลือกตั้งเพราะสามารถสร้างกระแสทั้งดีและไม่ดีเกิดขึ้นได้ การควบคุมเหมือนการควบคุมจักรวาลซึ่งเป็นเรื่องยาก ซึ่งต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน ขณะที่ กกต.ได้กำหนดหลักการในเบื้องต้น โดยให้มีพื้นที่สีขาวซึ่งเป็นพื้นที่ให้พรรคการเมืองและผู้สมัครนำเสนอข้อมูลกับประชาชนได้