ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี หรือ อันเฟรล นำโดย นางสาวจันดานี วาตาวาลา ผู้อำนวยการเครือข่าย แถลงข่าวเรื่อง The 2019 Thai General Electric : A Missed Opportunnity for democracy โอกาสที่หายไปของประชาธิปไตยในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562
โดยอันเฟรล ชี้ว่า การเลือกตั้งครั้งล่าสุดของไทยไม่ได้เป็นกระบวนการประชาธิปไตยอย่างแท้จริงตามที่ประชาชนคาดหวัง แต่เป็นโอกาสที่หลุดลอยไป โดยจากข้อผิดพลาดบกพร่องจำนวนมากจึงพิจารณาการเลือกตั้งปี 2562 ของไทยได้ว่า "มีเสรีอยู่บ้าง แต่ไม่เป็นธรรม"
การเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่ทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองในระยะยาว แต่ผลการเลือกตั้งที่อื้อฉาวและการเจรจาต่อรองต่างๆ ในสภาผู้แทนราษฎรในเวลาต่อมา บั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการเมืองลงไปอย่างมาก โดยมีคนไทยเพียงร้อยละ 12.9 เท่านั้น ที่เชื่อว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่และรัฐบาลใหม่จะมีความชอบธรรม
โดยการเลือกตั้งครั้งนี้มีจุดด่างพร้อยด้วยข้อกล่าวหามากมายเกี่ยวกับความไม่เป็นกลางของ กกต. ที่มาจากการแต่งตั้งโดย สนช.ที่คณะรัฐประหารเลือกมากับมือ กฎระเบียบของ กกต.ยากต่อการเข้าถึง การตัดสินใจของ กกต.ปราศจากความพยายามที่จะทำให้เกิดความเข้าใจชัดเจนและการยอมรับ ทำลายความน่าเชื่อถือของ กกต. ในสายตาของสาธารณชน
อันเฟรล มองว่า ความผิดพลาดที่ชัดเจนโจ่งแจ้งมากที่สุด คือ การใช้สูตรคำนวณคะแนนเสียง ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากวิธีการคำนวณที่พรรคการเมืองเคยเห็นร่วมกันมาก่อนหน้าการเลือกตั้ง การเปลี่ยนวิธีคำนวณหลังการเลือกตั้งไปแล้วหลายสัปดาห์
ส่งผลให้การครองเสียงข้างมากแบบเสียงปริ่มน้ำ และคะแนนพรรคการเมืองฝ่ายต่อต้าน คสช.ต้องกลับตาลปัตรไป นอกจากนี้ หลายฝ่ายผิดหวังต่อการวินิจฉัย ของ กกต.ซึ่งเข้าข้างพรรคตัวแทนของ คสช.เสมอ และพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามตกเป็นเป้าของการฟ้องร้องทางกฎหมายมากขึ้นเรื่อยๆ อันเฟรล จึงเรียกร้องให้ทางการไทยดำเนินการเรื่องเหล่านี้ด้วยมาตรฐานสูงสุดของความโปร่งใส, ความพร้อมรับผิดชอบและตรวจสอบได้
รายงานอันเฟรล ระบุด้วยว่า แม้ กกต. จะพยายามจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความราบรื่น แต่ก็ถูกลบล้างไปด้วยการนับคะแนนนับผลการเลือกตั้งที่ย่ำแย่ ขาดความโปร่งใสที่ไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์และสื่อมวลชนได้มีส่วนรู้เห็นขั้นตอนสำคัญต่างๆ ของกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งขัดหลักการความโปร่งใส ที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ การประกาศผลเลือกตั้งในเบื้องต้นในคืนวันเลือกตั้งก็ผิดพลาดอย่างมาก ทำให้ประชาชนสับสนและไม่เชื่อถือต่อตัวเลขที่ กกต.แถลง ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้หาก กกต. จะมีการเปิดเผยและโปร่งใสมากกว่านี้ ด้วยการเปิดเผยผลการนับคะแนนในระดับหน่วยเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ โดยสามารถดูรายงานฉบับเต็มได้ที่ WWW.anfrel.org
ขณะที่ นายปุรวิชญ์ วัฒนสุข นักวิชาการสภาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงระบบแบ่งสรรปันส่วนผสมที่ลอกมาจากประเทศ นิวซีแลนด์และเยอรมันนี แต่ไทยกลับใช้เพียงบัตรใบเดียว ส่งผลต่อการคำนวณ ส.ส.ของแต่ละพรรคการเมือง ที่สำคัญสูตรคำนวณของ กกต.ก็ต่างไปจาก��ี่หลายฝ่ายคิด และ กกต.ไม่ได้แจกแจงวิธีที่ชัดเจนในการคำนวณ ทำให้เปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองไทยกลับไปสู่ระบบอุปถัมภ์ทั้งที่เคยข้ามพ้นมาเป็นการให้ความสำคัญกับนโยบายพรรคการเมืองแล้ว โดยเห็นว่าผลจากการเมืองสองขั้วและมีการรัฐประหาร 2 ครั้งในรอบทศวรรษ เกิดวาทกรรมไม่ทำให้การรัฐประหาร"เสียของ"จึงทำให้ระบบและการเลือกตั้งของไทยครั้งล่าสุดมีความซับซ้อนอย่างจงใจ ส่วนตัวมีความกังวลต่อการเลือกตั้งในอนาคตที่จะมีความหมายและความสำคัญน้อยลง
ด้าน นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ ระบุว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่ได้มีความเสรีและเป็นธรรม และมีกลไกจำนวนมากวางไว้สืบทอดอำนาจ โดยไอลอว์ได้สรุปข้อค้นพบไม่น้อยกว่า 10 ประการ ที่สำคัญคือ คสช.ควบคุมการเลือกตั้ง ผ่านการตั้งองค์กรอิสระ คำสั่ง กฎหมายและรัฐธรรมนูญ ใช้มาตรา 44 เพื่อความได้เปรียบและเปลี่ยนกติกาเอื้อประโยชน์พรรคที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ, ดำเนินคดีเพื่อปิดปากฝ่ายตรงข้าม รวมถึง กกต.ละเลยการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จึงมีความวุ่นวายและยุ่งเหยิง , การเลือกตั้งล่วงหน้ามีความผิดปกติ, การนับคะแนนไม่โปร่งใส ตลอดจนการเปลี่ยนสูตรคำนวณคะแนนหลังการเลือกตั้งและการประกาศผลล่าช้าไป 2 เดือนโดยไม่มีคำอธิบายที่สมเหตุสมผล
อ่านข่าวเพิ่มเติม