ไม่พบผลการค้นหา
ดุสิตโพลโค้งสุดท้ายเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. 'ชัชชาติ' อันดับ 1 'สุชัชวีร์' อันดับ 2

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ เฉพาะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวนทั้งสิ้น 1,118คน (สำรวจด้วยการเก็บข้อมูลภาคสนามและออนไลน์) ระหว่างวันที่ 9-11 พฤษภาคม 2565 พบว่า คนกรุงเทพฯ จะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.” 82.83% โดยจะตัดสินใจเลือกจากนโยบาย 68.07% รองลงมาคือ ขยันตั้งใจทำงาน 46.51 %

ทั้งนี้คนกรุงเทพฯ ยังคงให้ความสนใจผู้สมัครอิสระ 58.05% การที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.เข้าร่วมดีเบตค่อนข้างมีผลต่อการตัดสินใจ 41.95% ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่ชื่นชอบมากที่สุด ณ วันนี้ คือ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 40.25% รองลงมา คือ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ 15.47 อัศวิน ขวัญเมือง 13.95% วิโรจน์ ลักขณาอดิศร 11.09% และสกลธี ภัททิยกุล 4.29% โดยมองว่าคะแนนนิยมจากการทำโพลสำนักต่าง ๆ ไม่มีผลต่อการตัดสินใจ 80.47% และในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งจะไม่เปลี่ยนใจจากผู้สมัครที่เลือกไว้ 91.67%

จากผลโพลเมื่อพิจารณาจำแนกตามอายุของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า กลุ่มอายุ 28 – 40 ปีเป็นกลุ่มที่จะตัดสินใจเลือกจากนโยบายมากที่สุด ส่วนกลุ่ม First Time Voters (18-27 ปี)จะตัดสินใจเลือกจากนโยบายและการเป็นคนรุ่นใหม่ เมื่อวิเคราะห์จากผลโพล กลุ่ม First Time Voters (18-27 ปี)มองว่าเวทีดีเบตต่าง ๆ มีผลต่อการตัดสินใจสูงถึง 86% เมื่อมาพิจารณาความนิยมต่อตัวผู้สมัคร พบว่า กลุ่มอายุ 28 – 40 ปี, 41 – 50 ปี, 51 – 60 ปี และ 60 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่ชื่นชอบคุณชัชชาติ (ร้อยละ 47, 41, 43 และ 32 ตามลำดับ) ส่วนกลุ่มFirst Time Voters (18-27 ปี) ชื่นชอบคุณวิโรจน์ (ร้อยละ 40) นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่ม First Time Votersนี้เป็นกลุ่มที่มองว่าผลโพลมีผลต่อการตัดสินใจมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ อีกด้วย ในโค้งสุดท้าย คนกรุงฯปักธงในใจเรียบร้อยแล้ว ไม่เปลี่ยนใจสูงถึง 91%

จากข้อมูลการสัมภาษณ์เชิงลึกโดยทีมงานภาคสนามของสวนดุสิตโพล พบว่า คนกรุงฯ ติดตามข่าวการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. อย่างใกล้ชิด รู้ว่ามีเวทีดีเบตของสื่อต่าง ๆ ถึงแม้ไม่ได้ติดตามจนจบรายการแต่ก็มองว่าเวทีดีเบตทำให้ได้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจจากการลงพื้นที่ทำโพลในช่วงโค้งสุดท้ายนี้คะแนนของ อัศวินลดลงอย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากมองว่าหลายครั้งการตอบคำถามยังไม่โดนใจ

ส่วนคะแนนของสุชัชวีร์ก็เพิ่มขึ้นเนื่องจากคนเริ่มจะลืมข่าวไม่ดีเกี่ยวกับพรรคที่สังกัดไปบ้างแล้วและปัญหาที่พบมากที่สุดจากการลงพื้นที่ คือ คนสูงวัยอยากไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่สับสนระหว่างเบอร์ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.และผู้สมัคร ส.ก.