ไม่พบผลการค้นหา
นายกรัฐมนตรีตอบข้อสงสัยเรื่องการจัดซื้อ และแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ผ่าน PM PODCAST

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงข้อสงสัยประชาชน ในเรื่องการจัดซื้อและแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ผ่าน PM PODCAST โดยมีหลากหลายประเด็นสำคัญในการจัดหาวัคซีนและการจำแนกกลุ่มคนที่จะได้รับการฉีด ดังนี้

"สาเหตุใดประเทศไทยจึงไม่มีการจัดซื้อวัคซีนที่ครอบคลุมจำนวนประชากรอย่างเหมาะสม ขณะที่แผนฉีดวัคซีนในประเทศไทยมีความล่าช้าเกินไปหรือไม่และในอนาคตรัฐบาลมีแผนงานแจกจ่ายวัคซีนระยะยาว ในประเทศไทยอย่างไร"

นายกฯ-ความพยายามและดำเนินการในการจัดหาวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขและสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้เริ่มในช่วงเดือนสิงหาคมปี 2563 ภายหลังจากที่ได้เห็นเงื่อนไขต่าง ๆ จากทั้งผู้ผลิตวัคซีน และ COVAX ในลักษณะเป็นการจองวัคซีนล่วงหน้าโดยที่ยังไม่ทราบผลการทดลองวัคซีนเฟส 3 ประเทศไทย ในขณะนั้นยังไม่มีกลไกการจัดหาวัคซีนที่มีเงื่อนไขในการจ่ายเงินก่อนโดยที่มีโอกาสไม่ได้รับวัคซีนหากการวิจัยล้มเหลว 

สถาบันวัคซีนแห่งชาติและกรมควบคุมโรคได้ดำเนินการประสานขอคำปรึกษาหน่วยงานด้านกฎหมายของประเทศได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง ก็ได้รับข้อแนะนำและหนังสือตอบกลับจากกรมบัญชีกลางว่าไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง 2560 ได้ 

จึงได้ดำเนินการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ 2561 เพื่อให้สามารถดำเนินการจองวัคซีนล่วงหน้าได้ตามกฎหมายที่มีแผนการฉีดวัคซีนได้มีการเตรียมการไว้เพื่อการกระจายวัคซีนในทุกกลุ่มประชากร ตามลำดับความสำคัญที่สอดคล้องกับปริมาณวัคซีนที่จะส่งมอบ

"การจัดซื้อวัคซีนมีการเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุนบางรายอย่างไม่เหมาะสมหรือไม่"

นายกฯ-การจัดซื้อวัคซีนเป็นการพิจารณาตามคุณลักษณะของวัคซีนซึ่งได้แก่

  • รูปแบบการวิจัย พัฒนา และการผลิต ของวัคซีนนั้น
  • ผลการวิจัย ทั้งด้านคุณภาพและประสิทธิภาพ
  • ระยะเวลาในการส่งมอบ
  • การบริหารจัดการวัคซีนที่ต้องใช้ในวงกว้าง การจัดเก็บ การขนส่ง และความชำนาญของบุคลากรที่จะดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน
  • ประโยชน์ระยะยาวที่มีผลต่อความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ เช่น มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่เราสามารถต่อยอดการวิจัยพัฒนาในประเทศได้ต่อไป

 "สาเหตุใดรัฐบาลจึงไม่มีการจัดซื้อวัคซีนจากหลายบริษัท แต่เน้นซื้อเพียง 2 บริษัท คือบริษัท แอสตราเซเนกา และซิโนแวคเท่านั้น ถือเป็นความประมาทของรัฐบาลหรือไม่"

นายกฯ-การจองซื้อวัคซีนล่วงหน้าเป็นการแบกรับความเสี่ยง ซึ่งการที่เราได้มีการจองซื้อวัคซีน AstraZeneca เป็นบริษัทแรกได้นั้น เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการประกาศผลวัคซีนของ 3 บริษัทในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน (Pfizer, Moderna และ AstraZeneca) ทำให้เราคาดการณ์ได้ว่าจะมีวัคซีนอีกหลายรูปแบบที่จะทยอยประกาศผลสำเร็จในการวิจัย โดยที่เราจะมีข้อมูลพิจารณาการจองซื้อวัคซีนที่ประเทศไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงทั้งในเรื่องความปลอดภัย ประสิทธิผลในการป้องกัน การบริหารจัดการวัคซีนบางชนิดที่ต้องดูแลเป็นพิเศษและอาจเป็นภาระต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ต้องแบกรับภาระการดูแลสุขภาพประชาชนในทุกมิติอยู่แล้ว

"การคัดเลือกบริษัทเอกชนที่รัฐบาลจะให้เงินงบประมาณสนับสนุน มีวิธีการและขั้นตอนอย่างไร มีสัญญาจ้างและแผนดำเนินการเช่นไร"

นายกฯ-สถาบันวัคซีนแห่งชาติมีการประเมินศักยภาพผู้ผลิตวัคซีนในประเทศทุกแห่ง และมีอนุกรรมการวิชาการพิจารณาข้อเสนอของเอกชนก่อนให้กรรมการบริหารสถาบันวัคซีนแห่งชาติเห็นชอบ และในส่วนงบประมาณตาม พรก.เงินกู้ฯ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะเป็นผู้พิจารณากลั่นกรองก่อนการเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

วัคซีน-แอสตราเซเนกา


"แผนการฉีดวัคซีนเพียงร้อยละ 21.5 ของจำนวนประชากร ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้แก่สังคมได้ถือเป็นการใช้งบฯ ไม่คุ้มค่า และไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างแท้จริง หรือไม่"

นายกฯ-การจัดหาวัคซีนในขณะนี้ จำนวน 63 ล้านโด๊ส ครอบคลุมประชากร 31.5 ล้านคน และจะสามารถจัดหาได้เพิ่มเติมอีกจนครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มเป้าหมายตามความสมัครใจ

"หากบริษัท แอสตรา เซเนกา ไม่สามารถส่งวัคซีนได้ตามข้อตกลง รัฐบาลมีแผนการดำเนินการเช่นไรต่อไป"

นายกฯ-การจัดหาวัคซีนจากบริษัทอื่นสามารถดำเนินการได้และกำลังดำเนินการอยู่บนข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศมากที่สุด อีกทั้งสายการผลิตที่ AstraZeneca สามารถจัดหาวัคซีนจากแหล่งผลิตที่มีอยู่ทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในแหล่งการผลิต เป็นการบริหารความเสี่ยงที่ดีอีกทางหนึ่งด้วย

"สาเหตุใดถึงไม่ให้องค์การเภสัชกรรมที่มีโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นผู้ผลิตวัคซีน แทนบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ที่ต้องทำโรงงานวัคซีนฯ ให้พร้อมก่อน ซึ่งใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4 เดือน กว่าจะผลิตวัคซีนได้จริง"

นายกฯ-องค์การเภสัชกรรมไม่สามารถผลิตวัคซีนชนิดไวรัลเวคเตอร์ได้ และ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ไม่ได้รอการทำโรงงานวัคซีนให้พร้อม แต่เวลาที่รอคือรอการผลิตจริงตามมารตฐาน AstraZeneca ที่ได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่ ธันวาคม 2563 เพื่อการขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

"สาเหตุใดถึงให้บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ (ที่มีผลขาดทุน 581 ล้านบาท) ผูกขาดในการผลิตวัคซีนในประเทศไทยเพียงรายเดียว แล้วจะสามารถผลิตวัคซีนได้ทันเวลาหรือไม่"

นายกฯ- AstraZeneca เป็นผู้คัดเลือกเอกชนที่จะร่วมดำเนินการกับทางเค้า พิจารณาจากความสามารถและศักยภาพของทั้งบุคลากรและเครื่องมือที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีของทาง AstraZeneca ซึ่งไม่เกี่ยวกับผลประกอบการเดิม ซึ่งบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ นั้นถูกจัดตั้งขึ้นอันเนื่องมากจากวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนที่จำเป็นและไม่ได้แสวงผลกำไรแต่อย่างใด

"บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ลงทุนผลิตวัคซีนร่วมกับบริษัทแอสตรา เซเนกา อีกทั้งยังใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตแต่สาเหตุใดวัคซีนที่ประเทศไทยจะได้รับ จึงมีราคาสูงเท่ากับราคาที่บริษัทแอสตรา เซเนกา ขายให้กับประเทศที่ไม่ได้ลงทุนร่วม?"

นายกฯ-AstraZeneca เป็นผู้กำหนดราคา ที่พิจารณาจากต้นทุนการวิจัย การผลิต และยึดนโยบายราคาเดียวในทุกประเทศที่อยู่ใน Supply Chain ที่จะผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ประเทศไทยได้ประโยชน์มากอยู่แล้วในการได้เทคโนโลยีการผลิตที่จะมีอยู่ในประเทศไทยไปตลอด

"เมื่อผลิตวัคซีนสำเร็จแล้ว สิทธิบัตรวัคซีนจะเป็นของบริษัทเอกชนทั้งหมดหรือไม่ และสัญญาร่วมทุนกำหนดให้บริษัทเอกชนมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสิทธิบัตรวัคซีน ให้กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ หรือองค์การเภสัชกรรมเพื่อน ามาผลิตในราคาถูกให้กับคนไทยทั่วประเทศหรือไม่ พร้อมตั้งคำถามว่าหากสิทธิบัตรและเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนเป็นสิทธิของบริษัทเอกชนเท่านั้น การร่วมลงทุนจะเป็นการสูญเปล่างบประมาณหรือไม่"

นายกฯ-สิทธิบัตรเป็นของ AstraZeneca โดยประเทศไทยซื้อวัคซีนจาก AstraZeneca ส่วนเทคโนโลยีที่ได้จะเป็นความรู้สำหรับการพัฒนาวัคซีนของเราเองในประเทศที่เราต้องมาดำเนินการเอง 

"ความเป็นกังวลต่อผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ว่าจะเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือไม่"

นายกฯ-ผลข้างเคียงจากวัคซีนเกิดขึ้นได้จากทุกวัคซีน ไม่ใช่จากวัคซีนโควิด-19 การพิจารณาอย่างรอบคอบจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่จะต้องดูจากข้อมูลการวิจัยอย่างครบถ้วนมากที่สุด และมีหน่วยงานที่ดูแลด้านความปลอดภัยตั้งแต่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุข ที่จะดำเนินการอย่างรอบคอบตามมาตรฐานการให้วัคซีนที่ดี

"รัฐบาลมีการกีดกันไม่ให้บริษัทเอกชนนำเข้าวัคซีนเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนหรือไม่"

นายกฯ-ไม่ได้กีดกัน และรัฐบาลโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในฐานะผู้รับผิดชอบ ยินดีให้ทุกบริษัทมาขอขึ้นทะเบียนโดยเปิดช่องทางพิเศษ ปัจจุบันมีผู้มายื่นคำขอ ขึ้นทะเบียน 3 ราย และได้รับทะเบียนแล้ว 1 ราย คือ บริษัทแอสตราเซนเนกา (ประเทศไทย) จำกัด หากมีผู้มายื่นคำขอและผ่านหลักเกณณ์ที่กำหนดก็จะได้รับการขึ้นทะเบียนในระยะต่อไป

"ความจำเป็นในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่าต้องฉีดทุกคนหรือไม่"

นายกฯ-การฉีดวัคซีนนั้นเป็นการกระตุ้นเพื่อสร้างภูมิต้านทานให้มากกว่าร้อยละ 95 แต่การมีภูมิต้านทานนั้นไม่ได้หมายความว่าจะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ซึ่งหลักการของวัคซีนโควิด-19 มีหลักการที่เหมือนกับวัคซีนโรคไข้หวัด เพียงแต่วัคซีนไข้หวัดจะทดลองจนครบตามกระบวนการทางการแพทย์ที่กำหนดไว้คือฉีดและติดตามผลอย่างน้อย 1 ปี เพื่อดูผลสุดท้ายว่าผลลัพธ์คือป้องกันได้จริงหรือไม่ แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดในขณะนี้ทำให้ไม่สามารถรอได้เนื่องจากมียอดผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จึงเป็นการอนุมัติให้ใช้วัคซีนโควิด-19 แบบฉุกเฉิน โดยหลังจากที่มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วก็จะมีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง

เนื่องจากในขณะนี้ไม่สามารถยืนยันได้ว่าวัคซีนโควิด-19 นั้นสามารถป้องกันการติดเชื้อได้จริงจนกว่าจะครบอย่างน้อย 1 ปี แต่มีผลเบื้องต้นที่สามารถยอมรับได้คือฤทธิ์ข้างเคียงไม่เยอะ เป็นไปตามธรรมชาติ อย่างเช่นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฤทธิ์ข้างเคียงที่มีข้อมูลคือ เมื่อฉีดไป 1 ล้านคน มีผู้เสียชีวิต 1.1 คน แต่ข้อมูลปัจจุบันของวัคซีนโควิด-19 ถ้านับเป็น 1 ล้านคนมีผู้เสียชีวิต 11 คน ในทางการแพทย์ถือว่ายอมรับได้ 

หากได้รับการวัคซีนโควิด-19 อาจยังมีโอกาสที่จะติดเชื้อ แต่โอกาสที่จะป่วยก็มีน้อยลง ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะต้องการผ่านการทบทวน กลั่นกรอง และยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญ โดยวัคซีน Pfizer และ Moderna ได้ผลร้อยละ 95 วัคซีน AstraZeneca ได้ผลร้อยละ 90 ของ Sinavac และ Sinopharm ได้ผลร้อยละ 70 ซึ่งหลักเกณฑ์ทั้งหมดถูกกำหนดโดยองค์การอนามัยโลก ซึ่งประเทศไทยถือมาตรฐานวัคซีนที่ยอมรับได้ร้อยละ 50 เช่นเดียวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดกันเป็นประจำทุกปี

"กลุ่มที่ควรได้รับวัคซีนโควิด-19 ก่อนและหลัง"

นายกฯ-กลุ่มที่จะต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 ก่อนตามลำดับความจำเป็น คือ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มคนที่มีโรคร่วม เบาหวาน ความดัน และกลุ่มผู้สูงวัย เนื่องจากผู้สูงอายุหากติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงมากและมีอัตราการเสียชีวิตสูง ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยง โดยเฉพาะคนที่มีโรคร่วม หลังจากนั้นก็จะดูความเสี่ยงในพื้นที่ เช่น จ.สมุทรสาคร ที่ในตอนนี้มีความเสี่ยงสูงกว่าพื้นที่อื่น และถึงแม้ว่าในประเทศไทยจะมีอัตราผู้ติดเชื้อโควิด-19 น้อย แต่การได้รับวัคซีนโควิด-19 มานั้นไม่ได้แปลว่าจะเป็นการป้องกันร้อยเปอร์เซนต์ กว่าที่ทั่วโลกจะได้รับการฉีดวัคซีนครบทั้งหมดอาจใช้เวลาถึง 2 ปี จึงจะรอวัคซีนอย่างเดียวไม่ได้ ทุกคนจึงต้องปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุข การใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ การเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งสามารถทำได้เลยไม่ต้องรอและควรทำอย่างต่อเนื่อง เพราะการปฏิบัติทั้งหมดนั้นเปรียบเหมือนเป็นวัคซีนที่เราทำได้ด้วยกันป้องกันตนเอง

อ่านเพิ่มเติม