สำหรับขั้นตอนการผลิตโต๊ะนักเรียนจากกากข้าวมอลต์ ทางโรงงาน “สิงห์ เบเวอเรช” ได้นำกากข้าวมอลต์ มาเข้าสู่กระบวนการแปรรูปด้วยการตากแห้งและอัดเป็นแผ่นก่อนส่งมอบให้กับทางคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นำไปต่อยอดออกแบบประกอบเป็นโต๊ะเก้าอี้นักเรียน ภายใต้ชื่อรุ่นการผลิตคือ “บางเลน 1” โดยในการผลิตชิ้นส่วนของโต๊ะเก้าอี้จากกากข้าวมอลต์ ยังมีการออกแบบในแนวคิดที่คำนึงถึงความคุ้มค่าในการใช้วัสดุให้เหลือเศษน้อยที่สุด มีโครงสร้างเหล็กทำเป็นกรอบปิดขอบไม้เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้วัสดุหลุดรุ่ยเสียหาย เป็นการช่วยยืดอายุการใช้งาน ส่วนการยึดตัววัสดุให้เข้ากับโครงเหล็กใช้สกรูเป็นตัวยึดเพื่อให้ง่ายต่อการประกอบและการบำรุงรักษาซ่อมแซมจากทางโรงเรียน นอกจากนี้โต๊ะและเก้าอี้จากกากข้าวมอลต์ ยังถูกออกแบบให้สามารถวางซ้อนกันได้ เพื่อประหยัดพื้นที่และลดจำนวนเที่ยวในการขนส่งอีกด้วย
ทั้งนี้ “สิงห์ เบเวอเรช” เป็นหนึ่งในบริษัทในเครือ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตเบียร์สูงและมีการบริหารจัดการเรื่อง By Product Management ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดกับสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยในการผลิตโต๊ะเก้าอี้นักเรียนจากกากข้าวมอลต์ครั้งนี้ “สิงห์ เบเวอเรช” ได้ร่วมมือกับคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดการออกแบบโต๊ะนักเรียนที่ตอบโจทย์การใช้งานจริงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยังรวมถึงการต่อยอดไปสู่การร่วมกันพัฒนากากข้าวมอลต์เป็นเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องเขียนอื่นๆ ในอนาคต
ในส่วนประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ “จากโรงงานสู่โรงเรียน” นอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กากข้าวมอลต์แล้ว ยังเป็นตัวอย่างของการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ที่จะช่วยปลูกฝังและทำให้เยาวชนหรือคนในชุมชนหันมารู้จักกระบวนการ Upcycling นำของเหลือใช้มาสร้างสรรค์หรือพัฒนาให้เกิดเป็นสินค้าใหม่ๆ ที่จะช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ทั้งยังเป็นการร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญยังเป็นการช่วยดูแลให้โลกของเราสะอาดปลอดจากมลภาวะและสวยงามอีกด้วย
คุณปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่านโยบายขององค์กรต้องการให้ทุกๆ โรงงานเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือดูแลสังคม สร้างคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้คนในชุมชนโดยรอบโรงงาน โดยมุ่งหวังให้โครงการนี้เป็นต้นแบบให้ทุกๆ โรงงานในเครือบุญรอดฯทั่วประเทศนำไปพัฒนาประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของแต่ละโรงงานแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างความสุขให้กับคนในชุมชนอย่างยั่งยืน
ขณะที่ คุณสุชิน อิงคะประดิษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงห์ เบเวอเรช จำกัด กล่าวว่า จากนโยบายของบริษัทและของคุณปิติ ภิรมย์ภักดี ต้องการให้ทุกโรงงาน มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบสังคมมาปฏิบัติบทบาทการช่วยเหลือดูแลชุมชน “สิงห์ เบเวอเรซ” ในฐานะที่เป็นเจ้าบ้านหรือเป็นหนึ่งในพลเมืองของจ.นครปฐม ได้ระดมบุคคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ มีทรัพยากร มีเครือข่าย นำมาพัฒนาชุมชนหรือพื้นที่ให้มีความสุข มีความเป็นอยู่ที่ดีและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีควบคู่กันไป สำหรับที่มาของโครงการ “จากโรงงานสู่โรงเรียน” เกิดจากการที่ “สิงห์ เบเวอเรช” ได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ในการบริหารจัดการกากของเสียในอุตสาหกรรม จึงได้ให้ความสำคัญกับโครงการนี้และคิดค้นสิ่งประดิษฐ์จากของเหลือใช้ให้เป็นนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสูด เพื่อเป็นการร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งเพื่อเป็นการสนับสนุนการเรียนการสอนของโรงเรียนในพื้นที่อำเภอบางเลนต่อไป
นอกจากการผลิตโต๊ะเก้าอี้นักเรียนจากของเหลือใช้ในกระบวนการผลิตเบียร์คือกากข้าวมอลต์แล้ว “สิงห์ เบเวอเรช” ยังมีโครงการต่าง ๆ อีกมากมายหลายโครงการ ที่ได้ทำมาอย่างต่อเนื่องเพื่อดูแลชุมชนผ่านการนำองค์ความรู้ ทรัพยากรและเครือข่ายที่มีเข้าไปสร้างความสุข ดูแลชุมชนอาทิ โครงการ SMART FARM ที่ “สิงห์ เบเวอเรช” ได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาตร์ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จัดทำขึ้น โครงการโรงเรียนเกษตรพอเพียง และโครงการปุ๋ยอินทรีย์จากผักตบชวา ที่ได้ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.พระนครศรีอยุธยา จัดการสอนวิธีการแปรรูปผักตบชวาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ใช้ในการเกษตรให้แก่ชาวบ้าน รวมถึงได้ร่วมกับ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.สุวรรณภูมิ ศูนย์สุพรรณบุรี สร้างเครื่องตัดย่อยผักตบชวาเพื่อแปรรูปผักตบชวาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อีกด้วย