จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร PLOS Biology เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (24 ม.ค.) ลิงใหญ่สามารถส่งสัญญาณสื่อสารได้มากกว่า 80 ตัว เพื่อสื่อสารเป้าหมายในชีวิตประจำวัน ท่าทางเหล่านี้รวมถึง “การเกาที่เกิดเสียงดัง” ซึ่งแปลความหมายได้ว่า “แปรงขนฉัน” โดยลิงใหญ่ทำท่าทางเหล่านี้เพื่อกำจัดแมลงหรือสิ่งสกปรกออกจากเส้นขนของกันและกัน
นอกจากนี้ “การเขย่าวัตถุ” อาจหมายถึง “มามีอะไรกันเถอะ” “ดูแลฉันหน่อย” หรือไม่ก็ “ถอยห่างออกไปนะ” ยังมีท่าทาง “การผลักกันตรงๆ” หมายถึง “ปีนขึ้นมาบนหลังของฉัน” ในลิงโบโนโบ หรือ “ย้ายตำแหน่งไปที่ใหม่” ในลิงชิมแปนซี
ผลจากการศึกษาระบุว่า ลิงชิมแปนซีและลิงโบโนโบ ใช้ท่าทางสื่อสารร่วมกันมากกว่า 90% โดยมันเป็นญาติสนิทที่ยังมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ โดยท่าทางของพวกมันถูกอธิบายว่าเป็นกรอบสำคัญในวิวัฒนาการทางภาษาของมนุษย์ ตามที่ คริสตี้ อี เกรแฮม ผู้เขียนและนักวิจัยจากคณะจิตวิทยาและประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูในสกอตแลนด์ และ คาเธอรีน โฮเบเทอร์ นักวิทยาบรรพกาลและนักวิจัยหลักที่ไวด์มายด์สแล็บของมหาวิทยาลัย ระบุ
นักวิจัยกล่าวว่าทารกอายุ 1 ถึง 2 ขวบใช้ท่าทางมากกว่า 50 ท่าทางจากท่าเต้นของลิง ดังนั้น พวกเขาจึงคิดว่ามนุษย์อาจจะยังคงเข้าใจคุณลักษณะหลักของท่าทางของลิงได้
นักวิจัยใช้ข้อมูลจากผู้เข้าร่วมการทดลอง 5,656 คน ที่ดูวิดีโอบนระบบออนไลน์ 20 คลิปที่ถูกตัดออกมา เพื่อแสดงท่าทางที่ทำโดยลิงโบโนโบหรือลิงชิมแปนซี โดยไม่ต้องทำการตอบสนอง ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมจะต้องเลือกความหมายที่ถูกต้องของท่าทางจาก 4 ตัวเลือกที่เป็นไปได้
นักวิจัยได้เลือกประเภทท่าทางที่พบได้บ่อยที่สุด 10 ประเภท ซึ่งก่อนหน้านี้พบว่ามีความหมายสำหรับทั้งลิงชิมแปนซีและลิงโบโนโบนำมารวมไว้ในวิดีโอ ผู้เข้าร่วมการทดลองจะได้รับภาพประกอบท่าทางง่ายๆ ของลิง เพื่อช่วยให้ผู้ไม่มีประสบการณ์ในการพยายามระบุท่าทางการกระทำในคลิปมาก่อน
ผู้เข้าร่วมการทดลองแต่ละคนได้รับการสุ่มให้เล่นเกมที่จะมีภาพ “วิดีโอเท่านั้น” หรือวิดีโอที่มีบริบทอธิบาย 1 บรรทัด ที่จะช่วยอธิบายว่าลิงกำลังทำอะไรก่อนที่จะเล่นภาพการทำท่าทาง การศึกษาความเข้าใจประเภทนี้เคยถูกนำมาใช้เพื่อทดสอบความเข้าใจในภาษามนุษย์ของสัตว์สปีชีส์อื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ แต่แบบจำลองในครั้งนี้ถูกพลิกกลับให้มนุษย์ทำความเข้าใจท่าทางของลิงใหญ่แทน
เกรแฮมบอกกับสำนักข่าว CNN ผ่านทางอีเมลเมื่อวันพฤหัสบดี (26 ม.ค.) ว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองสามารถตีความท่าทางของลิงชิมแปนซีและลิงโบโนโบได้สำเร็จ โดยมีความแม่นยำมากกว่า 50% ซึ่งเป็น 2 เท่าของความคาดหวังโดยบังเอิญของนักวิจัย ทั้งนี้ ท่าทางบางอย่างประสบความสำเร็จในการทำให้ผู้เข้าร่วมการทดลองเข้าใจได้ถึง 80% เช่น “การตบปาก” ซึ่งหมายถึง “เอาอาหารนั้นมาให้ฉัน” และ “การเกาเสียงดังๆ”
ความสามารถในการทำความเข้าใจนี้ ยังคงมีอยู่ในการระบุความหมายของท่าทางที่คลุมเครือมากขึ้น ซึ่งมีความหมายของท่าทางไปในทางอื่น โดย “การเขย่าวัตถุ” เป็นท่าทางเดียวที่ผู้เข้าร่วมไม่สามารถกำหนดความหมายหลักหรือความหมายอื่นได้
“การที่ผู้เข้าร่วมของเราสามารถตีความการสื่อสัญญาณของลิงใหญ่ ช่วยสร้างเสริมการค้นพบล่าสุดที่ชี้ว่ามนุษย์อาจสามารถรับรู้สัญญาณอารมณ์ในการเปล่งเสียงของลิงใหญ่” ผู้เขียนการศึกษาระบุในบทสรุปงานวิจัย ทั้งนี้ เกรแฮมกล่าวกับสำนักข่าว CNN ว่า “ท่าทางเหล่านี้ใช้ร่วมกันกับลิงใหญ่สายพันธุ์อื่นๆ และถ้ามนุษย์เข้าใจพวกมัน ก็ดูเหมือนว่าสิ่งนี้เป็นความสามารถในการแสดงท่าทางของลิงใหญ่ ที่บรรพบุรุษร่วมกันคนสุดท้ายของเราได้ใช้มันมา”
อย่างไรก็ดี นักวิจัยกล่าวเสริมว่ากลไกพื้นฐานที่ช่วยให้มนุษย์เข้าใจลิงยังคงไม่ได้รับการไขข้อกระจ่าง คำอธิบายที่พอจะเป็นไปได้ในบางประการสำหรับปริศนานี้ ได้แก่ มนุษย์สืบเชื้อสายมาจากลิงใหญ่ ลิงและมนุษย์ใช้สติปัญญาทั่วไปร่วมกันในการตีความสัญญาณ เช่นเดียวกับระนาบของร่างกายและเป้าหมายทางสังคมที่มีร่วมกัน หรือความคล้ายคลึงกันของท่าทางกับการกระทำที่พวกมันตั้งใจจะสื่อสารให้บรรลุผล
“เราจำเป็นต้องตรวจสอบว่า ผู้เข้าร่วมเข้าใจท่าทางอย่างไร มนุษย์ได้สืบทอดคำศัพท์หรือความสามารถมาหรือไม่ หรือเรากำลังหาเหตุผลในความพยายามทำความเข้าใจเรื่องดังกล่าวอยู่ มันเป็นคำถามใหญ่ที่ต้องใช้แนวทางที่หลากหลายในการหาคำตอบ” เกรแฮมกล่าว “แต่การทดลองนี้เป็นข้อพิสูจน์ที่สำคัญของแนวคิด และจากจุดนี้ เราสามารถทดลองกับข้อมูลที่ผู้เข้าร่วมได้รับ และถามผู้เข้าร่วมเพิ่มเติมว่า พวกเขาตีความท่าทางอย่างไร เรากำลังศึกษาชุมชนต่างๆ ของลิงใหญ่ในป่า เพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นของท่าทางของพวกมัน”
นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าท่าทางของลิงกอริลลาและลิงอุรังอุตัง ก็สามารถถูกตีความได้โดยมนุษย์ แม้ว่ามันจะยังไม่มีการระบุความหมายของท่าทางในลิงชนิดนี้ “สุนัขก็น่าสนใจเช่นกัน เพราะเราไม่ได้เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด แต่เราเลี้ยงและพัฒนาร่วมกับพวกมันมาเป็นเวลาหลายหมื่นปีแล้ว” เกรแฮมกล่าวเสริม “ดังนั้น วิธีที่เราสื่อสารกับพวกมันจึงเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับนักวิจัยเช่นกัน”
ที่มา: