ไม่พบผลการค้นหา
กรุงเทพฯ คือเมืองด้อยโอกาสทางการแพทย์ 'กลุ่มแคร์-หมอเลี้ยบ' หนุนนโยบายทีม ส.ก. ของพรรคเพื่อไทย “50 เขต 50 โรงพยาบาล” อุดช่องโหว่คนจนเมือง เข้าถึงการรักษายากอย่างยิ่งในเมืองหลวง

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ผู้ร่วมผลักดันนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ผู้ประสานงานกลุ่มแคร์ กล่าวถึงนโยบาย “50 เขต 50 โรงพยาบาล” ซึ่งเป็นนโยบายของทีม สก.เพื่อไทย ระบุ เป็นนโยบายที่น่าสนใจ และ ควรผลักดันให้เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ

โดยกรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลใหญ่ๆ มากมาย ซึ่งคุณหมอบอกว่าเป็นโรงพยาบาลระดับ 3 หรือเรียกว่า ระดับ “ตติยภูมิ” โรงพยาบาลเหล่านี้เป็นโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยเฉพาะทาง และ ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยหนักที่ถูกส่งตัวมาจากต่างจังหวัด หรือ แม้แต่ในกรุงเทพฯ เอง แต่กรุงเทพฯ กลับขาดโรงพยาบาลในระดับ 2 หรือระดับ “ทุติยภูมิ” ที่ให้การรักษาการเจ็บป่วยปานกลาง ดังนั้นระบบบริการสาธารณสุขในกรุงเทพฯ รวมถึงปริมณฑลจึงมีปัญหาช่องว่างตรงนี้

ปัญหานี้ถูกซุกอยู่ใต้พรมมาช้านาน จนเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ มีเตียงไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย เราจึงเห็นผู้ป่วยโควิดหลายต่อหลายรายที่เข้าไม่ถึงเตียงพยาบาลหรือเข้ารับการรักษาไม่ทันจนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก คุณหมอกล่าวว่า “มีคนรู้จักคนหนึ่งขนาดเป็นคนมีเงิน ก็ยังไม่สามารถหาเตียงได้ทัน จนสุดท้ายก็มาเสียชีวิตเพราะได้รับการรักษาเมื่ออาการหนักมากแล้ว” ดังนั้น ต่อให้มีบัตรทองหรือมีประกันสังคม แต่เมื่อไม่มีเตียง ผู้ป่วยก็ไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้

ในช่วงที่ติดโควิด อาจถือได้ว่าคนต่างจังหวัดโชคดีกว่าคนในกรุงเทพฯ เพราะ 1) ต่างจังหวัดมี อสม.ช่วยดูแลประชาชนเบื้องต้นกว่า 1,050,000 คนทั่วประเทศ 2) ต่างจังหวัดมีเครือข่ายระบบบริการสาธารณสุขที่ดีมาก ตั้งแต่โรงพยาบาลระดับ 1 (ปฐมภูมิ) เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในระดับตำบล, ระดับ 2 (ทุติยภูมิ) โรงพยาบาลชุมชนในระดับอำเภอ และ ระดับ 3 (ตติยภูมิ) โรงพยาบาลทั่วไปในระดับจังหวัดที่สามารถทำงานและประสานงานส่งต่อกันอย่างทั่วถึง และเครือข่ายโรงพยาบาลเหล่านี้มีจำนวนเตียงรวมที่รองรับผู้ป่วยโควิดซึ่งมีอาการหนักได้อย่างเพียงพอ

คุณหมอยกตัวอย่างโรงพยาบาลที่คุณหมอเคยทำงานที่ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ คุณหมอกล่าวว่าปัจจุบันมีประชากร 130,000 คน มีโรงพยาบาลชุมชนขนาด 130 เตียงซึ่งมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ครบครันไว้รองรับการรักษาให้ประชาชน

ดังนั้น ประชาชนในต่างจังหวัดมีโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาลทุกระดับและจำนวนเตียงต่อประชากรก็มีจำนวนมากกว่าในกรุงเทพฯ ช่วงเวลาการแพร่ระบาดของโควิดที่ผ่านมา คนต่างจังหวัดซึ่งเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อติดโควิดต่างพากันกลับต่างจังหวัดเพราะคิดว่า โอกาสในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและการเข้าถึงเตียงรักษามีสูงกว่าในกรุงเทพฯ

เมื่อหันมามองระบบสาธารณสุขในกรุงเทพฯ หากคิดคร่าวๆ ว่ากรุงเทพฯมีประชากรกว่า 5 ล้านคน (ไม่รวมประชากรแฝง) แต่กรุงเทพฯ มี อสม.ที่ดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นเพียง 10,000 คน (ซึ่งเมื่อคำนวณตามอัตราส่วนของทั้งประเทศ กรุงเทพฯควรมี อสม. 100,000 คน)

ไม่เพียงเท่านั้นจำนวนเตียงต่อประชากรก็ไม่เพียงพอ เพราะโรงพยาบาลใหญ่ๆในกรุงเทพ เช่น โรงพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลของกรมการแพทย์ เป็นโรงพยาบาลระดับ 3 รับเฉพาะผู้ป่วยหนัก โรงพยาบาลชุมชนที่รักษาโรคระดับ 2 เหมือนในอำเภอต่างๆทั่วประเทศแทบไม่มี โรงพยาบาลใหญ่ที่อยู่ภายใต้สำนักการแพทย์มีเพียง 11 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นระดับ 3 และ มีศูนย์บริการสาธารสุขสังกัดสำนักอนามัย กรุงเทพมหานครซึ่งไม่มีเตียงรักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยในอีกเพียง 69 แห่ง เมื่อเกิดโควิดจึงทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากในกรุงเทพฯ ไม่สามารถเข้าถึงเตียงและการรักษาที่ทันท่วงที จนต้องสร้างโรงพยาบาลสนามอย่างเร่งด่วน

จากสภาพปัญหาการขาดแคลนระบบบริการสาธารณสุขในกรุงเทพฯ ดังที่กล่าวมา สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของคนในกรุงเทพฯ คุณหมอสุรพงษ์กล่าวว่า “...จะได้เตียงโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ถ้าไม่รู้จักกับอาจารย์หมอ หรือ หัวหน้าพยาบาลก็ยากที่จะได้คิวเตียง...” ผู้เขียนคิดว่า เผลอๆ ผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ที่ไม่ได้ติดโควิด อาจป่วยหนักกว่าเดิม หรือ อาจเสียชีวิตก่อนที่จะถึงคิวนัดหมอ หรือ คิวได้รับเตียงรักษาพยาบาลก็เป็นได้

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การขาดแคลนเตียงในกรุงเทพฯ นี้ ไม่ได้สะท้อนปัญหาเพียงเรื่องสุขภาพ หรือระบบบริการสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังตอกย้ำปัญหาความเหลื่อมล้ำ และ ความไม่เท่ากันของคนในกรุงเทพฯ อีกด้วย

เมื่อถามถึงว่าจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร ทั้งปัญหาการขาดแคลนสถานพยาบาล และ ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากปัญหาการขาดแคลนสถานพยาบาลในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ผู้เขียนในนามเยาวรุ่นกลุ่ม CARE เห็นว่านโยบาย “ 50 เขต 50 โรงพยาบาล” นี้แหละ ที่จะสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

แล้วจะเริ่มได้อย่างไร คุณหมออธิบายอย่างนี้ว่า กรุงเทพฯ มีศูนย์บริการสาธารณสุขอยู่ทั่วทุกเขตของกรุงเทพฯ ที่สามารถขยายเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 120 เตียงประจำเขตได้มากถึง 69 แห่ง บางแห่งมีพื้นที่แออัด ก็สามารถก่อสร้างโรงพยาบาลในพื้นที่ใหม่โดยอาจขอรับบริจาคที่ดินจากผู้มีจิตศรัทธาเหมือนในต่างจังหวัด

ส่วนงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างตีไปเลยคร่าว ๆ โรงพยาบาลละ 200 ล้านบาท รวม 50 เขต 50 โรงพยาบาล จะใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถทำได้ เพราะงบประมาณของกรุงเทพฯ ในแต่ละปีนั้นมีมากถึง 80,000 – 90,000 ล้านบาท

และเราไม่จำเป็นต้องสร้างเสร็จภายในปีเดียว แต่สามารถทยอยสร้างไปตลอด 4 ปีครบวาระของ สก.หรือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ จะใช้งบประมาณเฉลี่ยปีละเพียง 2,500 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่มาก หากสามารถแก้ปัญหาระบบบริการสาธารณสุขของกรุงเทพฯ ที่เป็นอยู่ได้

ส่วนงบประมาณที่ใช้เป็นเงินเดือนแพทย์ พยาบาล และค่ายาต่างๆ สามารถใช้งบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานประกันสังคม ที่จัดสรรให้ตามจำนวนประชาชนที่ขึ้นทะเบียนในกรุงเทพฯ ปีละกว่า 15,000 ล้านบาทได้

กลุ่ม CARE คิดเคลื่อนไทย คิดว่านโยบาย “ 50 เขต 50 โรงพยาบาล” เป็นสิ่งที่ควรผลักดันให้เกิดขึ้น เหมือนกับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคที่คุณหมอสุรพงษ์เคยร่วมผลักดันให้เกิดขึ้นมาแล้วและสามารถช่วยชีวิตพี่น้องประชาชนได้อย่างมหาศาล