กูเกิลเปิดศูนย์วิจัยปัญญาประดิษฐ์แห่งแรกในทวีปแอฟริกา ณ กรุงอักกรา ประเทศกานา เพื่อพัฒนาวิธีแก้ปัญหาสาธารณสุข การศึกษา และเกษตรกรรม เช่น การช่วยวินิจฉัยโรคของพืช โดยมุสตาฟา ซิสเซ (Moustapha Cisse) หัวหน้าศูนย์กูเกิลเอไอ (Google AI) แห่งนี้กล่าวว่า เอไอจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำได้
"แอฟริกามีโจทย์ท้าทายหลายข้อที่การนำเอไอมาใช้จะเป็นประโยชน์ และบางทีจะเป็นประโยชน์มากกว่าการใช้ในที่อื่นด้วย" ซิสเซ กล่าว
กูเกิลได้ตั้งศูนย์วิจัยเอไอลักษณะเดียวกันมาแล้วในเมืองต่างๆ ทั่วโลกทั้งโตเกียว ซูริค นิวยอร์ก และปารีส และสำหรับศูนย์ในกานา ซึ่งเป็นศูนย์เอไอแห่งแรกของกูเกิลในแอฟริกานั้น นำโดย ซิสเซ ซึ่งเป็นผู้เชียวชาญจากประเทศเซเนกัล โดยเขามุ่งหวังจะให้วิศวกรผู้ชำนาญการและนักวิจัยปัญญาประดิษฐ์จะทำงานร่วมกันกับองค์กรและผู้กำหนดนโยบายในพื้นที่
ซิสเซนำทีมนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรซอฟต์แวร์ 9 คน จาก 9 ประเทศ เช่น เลโซโท ยูกันดา และไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นทีมที่มีความหลากหลายมาก และซิสเซเสริมว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ชาวแอฟริกาจะเป็นหัวหอกในการนำเสนอทางแก้ปัญหาในทวีปของตัวเอง พร้อมชี้ว่าเป้าหมายของทีมคือการจัดเตรียมผู้พัฒนาเทคโนโลยีและงานวิจัยต่างๆ ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างผลิตภัณฑ์ซึ่งแอฟริกากำลังเผชิญอยู่ในทุกวันนี้
"สิ่งที่เราทำส่วนใหญ่ในศูนย์วิจัยต่างๆ ของกูเกิล ไม่ใช่แค่ที่อักกรานี้เท่านั้น คือการเผยแพร่โค้ดโปรแกรมที่เข้าถึงได้ฟรี ให้ทุกคนนำไปสร้างสิ่งต่างๆ ได้" ซิสเซ กล่าว พร้อมยกตัวอย่างแอปพลิเคชันซึ่งชาวไร่รายหนึ่งในแทนซาเนียใช้ในการวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลัง โดยอธิบายว่านี่เป็นตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ที่ทางทีมวางแผนจะร่วมมือกับสถาบันต่างๆ ในหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนา
"สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยพวกเรา แต่เกิดจากผู้คนที่นำเครื่องมือที่เราสร้างไปใช้" เขาย้ำ
เพื่อเป้าหมายนี้แล้ว กูเกิลทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยและสตาร์ทอัพต่างๆ ในกานา ไนจีเรีย เคนยา และแอฟริกาใต้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเอไอในภูมิภาค พร้อมสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับผู้สนใจเอไอในสาขาต่างๆ ด้วย
นอกจากนี้ ทางศูนย์จะมุ่งพัฒนาศักยภาพการแปลภาษาของกูเกิลทรานสเลตในภาษาแอฟริกันให้แม่นยำยิ่งขึ้น เนื่องจากแอฟริกาเป็นทวีปที่มีภาษาถิ่นกว่า 2,000 ภาษา
ไม่ใช่เพียงกูเกิลเท่านั้นที่สนใจ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทวีปแอฟริกาได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางของบริษัทด้านเทคโนโลยีรายใหญ่เจ้าอื่นๆ อย่างเฟซบุ๊ก บริษัทเหล่านี้เริ่มมีการตั้งศูนย์และพัฒนาโครงการต่างๆ ในทวีปแอฟริกาเช่นกัน โดยมีเงื่อนไขทางประชากรเป็นแรงดึงดูด
มีการประมาณการณ์ว่าประชากรในทวีปแอฟริกามีจำนวน 1.2 พันล้านคน โดย 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากรมีอายุไม่เกิน 24 ปี และทางองค์การสหประชาชาติคาดว่าจำนวนประชากรทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเป็น 2.4 พันล้านคนในปี 2050
จากรายงานประจำปี 2018 ของโกลคีปเปอร์ส (Goalkeepers) ภายใต้มูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ ซึ่งก่อตั้งโดยผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์ ระบุว่าแอฟริกาเป็นทวีปเดียวในโลกที่ยังคงมีจำนวนเยาวชนอายุ 0 ถึง 24 ปีสูงขึ้น และคาดว่าในปี 2050 จะสูงขึ้นถึง 51 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี 2017 ส่งผลให้ทวีปนี้จะกลายเป็นทวีปที่มีเยาวชนสูงที่สุดในโลก ขณะที่ทวีปอื่นๆ ซึ่งมีเยาวชนสูงกว่าในปัจจุบันอย่างในแถบเอเชีย มีแนวโน้มจะมีจำนวนเยาวชนลดลงอย่างต่อเนื่อง