องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโกเผยแพร่ผลการวิจัยชื่อ I'd blush if I could: closing gender divides in digital skills through education ซึ่งระุบว่า การใช้เสียงผู้หญิงพูดในโปรแกรมผู้ช่วยดิจิทัล เช่น สิริของแอปเปิล และอเล็กซาของแอมะซอน ยิ่งตอกย้ำอคติทางเพศที่อันตราย
การใช้ชื่อและเสียงผู้หญิงในการเป็นผู้ช่วยดิจิทัลเป็นการสร้างอคติทางเพศให้กับคนในสังคม โดยเฉพาะเด็กๆ เนื่องจากผู้ช่วยดิจิทัลหญิงมีหน้าที่รับใช้ผู้ใช้งานอย่างไม่มีเงื่อนไข พวกเธอจะยินยอมเป็นเบี้ยล่างและยอมรับคำตอบเชิงชู้สาว ซึ่งยิ่งสนับสนุนแนวคิดว่าผู้หญิงเป็นเบี้ยล่างของผู้ชาย และมีความอดทนต่อการถูกปฏิบัติที่ไม่ดี
รายงานดังกล่าวระบุว่า เสียงของผู้ช่วยดิจิทัลเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเสียงผู้หญิง ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าผู้หญิงเป็นผู้ช่วยที่เชื่อฟัง เชื่องและต้องการเอาใจ พร้อมช่วยเหลือเสมอเพียงแค่กดปุ่มหรือออกคำสั่งด้วยน้ำเสียงแข็งกร้าวอย่าง “เฮ้” หรือ “โอเค” ผู้ช่วยดิจิทัลเหล่านี้ไม่มีอำนาจใดๆ เหนือไปจากสิ่งที่ถูกสั่ง มันจะยกย่องคำสั่งและตอบโต้ด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนไม่ว่าผู้ออกคำสั่งจะใช้น้ำเสียงและคำพูดหยาบคายอย่างไรก็ตาม
ยูเนสโกระบุในรายงานว่า การรับใช้อย่างอ่อนน้อมของผู้ช่วยดิจิทัลเป็นเรื่องน่ากังวลยิ่งขึ้น เมื่อปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอตอบโต้การคุกคามทางเพศด้วยวาจาอย่างไม่สะทกสะท้าน หรือ เช่น สิริจะตอบผู้ใช้ที่พูดส่อไปในเรื่องเพศอย่างโจ่งแจ้งว่า I’d blush if I could (ฉันคงจะหน้าแดงถ้าฉันทำได้) หากผู้ใช้พูดว่า You’re a slut. (เธอมันสำส่อน) อเล็กซาจะตอบกลับว่า Well, thanks for the feedback. (เอ่อ ขอบใจสำหรับคำติชม)
นักวิจัยระบุว่า บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้มีทีมวิศวกรที่เต็มไปด้วยผู้ชาย และสร้างระบบเอไอให้ผู้ช่วยดิจิทัลเป็นผู้หญิงที่ยินดีรับการคุกคามทางเพศด้วยวาจา ตอบโต้ด้วยคำตอบเชิงหว่านสเน่ห์ หรือด้วยท่าทางเชิงขอโทษ
การคุกคามไม่ใช่เรื่องปกติ ผู้เขียนโปรแกรม Cortana ผู้ช่วยดิจิทัลของไมโครซอฟต์กล่าวว่า มีการตรวจสอบเกี่ยวกับการถามตอบเรื่องเซ็กส์ของผู้ช่วยดิจิทัลจำนวนมาก โดยมีการพูดคุยหรือถามตอบถึงร้อยละ 5 ที่เกี่ยวกับเรื่องเพศอย่างโจ่งแจ้ง แต่ไมโครซอฟต์เชื่อว่าตัวเลขจริงน่าจะสูงกว่านี้ เพราะระบบน่าจะไม่สามารถตรวจจับข้อความที่ส่อเรื่องเพศได้ทั้งหมด
ซานิเย กูลเซอร์ โครัต ผู้อำนวยการด้านความเท่าเทียมทางเพศของยูเนสโกกล่าวว่า โลกจำเป็นต้องหันมาใส่ใจมากขึ้นว่าเทคโนโลยีเอไอถูกกำหนดเพศหรือไม่ ถูกกำหนดอย่างไร กำหนดเมื่อไหร่ และใครเป็นผู้กำหนด
การระแวดระวังเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในเทคโนโลยีใหม่ทำให้มีโอกาสในการพัฒนาบรรทัดฐานทางเพศที่ไม่สร้างความเสียหายกับสังคมมากนัก และบริษัทเทคโนโลยีไม่ควรกำหนดให้ผู้ช่วยดิจิทัลเป็นเสียงผู้หญิงเป็นหลัก และควรสำรวจความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาผู้ช่วยดิจิทัลที่ไม่ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย รวมถึงควรเขียนโปรแกรมให้เอไอแสดงอาการคัดค้านการใช้คำหยาบคายหรือคำที่แสดงถึงอคติทางเพศ และให้นิยามผู้ช่วยดิจิทัลเป็น “อมนุษย์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ที่เป็นมนุษย์”
ที่มา : The Guardian, The Verge