เวลา 10.15 น. วันที่ 21 มิ.ย. 2565 ที่พรรคเพื่อไทย ในการแถลงข่าวคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย เรื่องการฟื้นความสามารถแข่งขัน ฟื้นเศรษฐกิจไทย จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ รองเลขาธิการ และคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สำหรับการท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้นเรียกได้ว่า “รอดตายอย่างหวุดหวิด” เพราะการท่องเที่ยวไทยที่กำลังฟื้นตัว อีกทั้งข่าวลือของการมาเยือนของนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ และอินเดีย ทำให้การท่องเที่ยวไทยกลับมามีโอกาสและเหมือนมีแสงสว่างขึ้นอีกครั้ง
จักรพล กล่าวว่า ผลงานของรัฐบาลในอดีตนั้น ไม่ได้ช่วยภาคการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง เป็นเพียงละครที่เล่นเพื่อตบตาประชาชน และการผลาญงบประมาณอย่างสิ้นเปลือง เป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ไร้ประสิทธิภาพ เน้นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุมากกว่าการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน
ขณะที่ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ที่ผ่านมามาตรการของภาครัฐทำให้ผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยวต่างๆ ในประเทศไทย ต้องปิดตัวเป็นจำนวนมาก จากเดิมที่มีมากกว่า 10,000 บริษัท ปัจจุบันน่าจะเหลือไม่ถึง 7,000 บริษัท เช่น “โครงการไทยเที่ยวไทย” หรือ “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” ที่มองภายนอกอาจจะดูดีแต่กลายเป็นว่า เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวนั้นแทบจะไม่ตกถึงผู้ประกอบการรายย่อย และ SME ต่างๆ เลย เป็นลักษณะมือใครยาวสาวได้สาวเอา เพราะโครงการดังกล่าวนักท่องเที่ยวสามารถติดต่อกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้โดยตรง และถึงแม้จะมีคูปองเพื่อใช้เป็นส่วนลดในการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ แต่ระบบที่เข้าถึงยากทำให้นักท่องเที่ยวเลือกที่จะใช้บริการผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เข้าถึงได้มากกว่า
อีกทั้งกำแพงเงินกู้ที่สูงเกินไป ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนดังกล่าวได้ โดยเฉพาะการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) แต่จากคำสัมภาษณ์ของผู้ช่วยประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและผู้เกี่ยวข้องท่านอื่น พบว่า "ไม่มีบริษัททัวร์ใดสามารถเข้าถึง เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ แม้แต่บริษัทเดียว" นั่นเป็นเพราะภายใต้ “มาตรการอันเข้มงวด” ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องมีการยื่นหลักฐานมากมาย ในที่สุดผู้ประกอบการหลายรายก็หมดลมหายใจจากการท่องเที่ยวไทยและสร้างความสิ้นหวังให้กับคนไทยเป็นอย่างมาก
ดังนั้น เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยเดินต่อไปได้ รัฐบาลควรฟังคำแนะนำของภาคเอกชน เช่น ขยายเวลาการเปิดให้การบริการของเศรษฐกิจภาคกลางคืน ยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าทุกชนิดในช่วง 6 เดือนหลังทั้ง Tourist Visa และ Visa on Arrival เป็นต้น
จักรกล ยังได้เสนอ แนวทาง 4 เส้นทาง สู่ความยั่งยืนของการท่องเที่ยวไทยไว้คือ
1. ถนนแห่งโอกาส เนื่องจากประเทศไทยเพิ่งมีการเปิดประเทศ เพื่อรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นคือ 'สถานะทางการเงินของผู้ประกอบการ' รัฐควรออกมาตรการหรือนโยบายเพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการทั้งต้นทุนการผลิต ต้นทุนการบริการ รวมถึงภาษีต่างๆ ที่จะสร้างผลกระทบต่อผลประกอบการที่จะเกิดขึ้น เน้นการสร้างจุดขายแบบ A-Z และการท่องเที่ยวเทรนด์ใหม่นี้ต้องสู้ด้วย 'สงครามคุณภาพ' หลีกเลี่ยง 'สงครามราคา' ดังนั้นการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับการพัฒนาคุณภาพการบริการและผลผลิตอื่นๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลห้ามมองข้ามสิ่งนี้อย่างเด็ดขาด
"ผู้ประกอบการต้องเจอกับคลื่นน้ำลูกใหญ่คือ เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1% และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะสินค้าจำพวกไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปาที่ปรับตัวสูงถึง 32.56% น้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.43% ซึ่งจากการศึกษาและวิเคราะห์ความสามารถของรัฐบาลแล้วพบว่า รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสมอย่างแน่นอน" จักรพล กล่าว
2. ถนนแห่งการส่งออกซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งเพื่อไทยเน้นมาตลอดในเรื่องนี้ ผ่านการดึงศักยภาพคนไทยสร้างซอฟต์พาวเวอร์ 1 คน ต่อ 1 ครัวเรือน เพื่อนำมาพัฒนาศักยภาพทั้งระดับท้องถิ่น เพราะเทรนด์โลกสมัยใหม่คือการต่อสู้ด้วยอำนาจวัฒนธรรม นอกจากนี้พลังดังกล่าวต้องนำมาปรับใช้ในระดับประเทศเพื่อส่งออกไทยสู่สายตาคนทั่วโลก สร้างการตลาดใหม่โดยเน้นขายความจริง และคุณภาพของการท่องเที่ยวไทย ทั้งอาการการกิน ธรรมชาติ ผลงานของศิลปิน วัฒนธรรมและอื่นๆอีกมากมาย เน้นใช้ของที่มีอยู่ให้ยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุด
3. ถนนแห่งทรัพยากร ซึ่งประเทศไทยมีทรัพยากรหลากหลายให้เลือกใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น ทรัพยากรธรรมชาติ โดยมุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ลดการใช้พลังงาน กิจกรรมทดแทนการปล่อยมลพิษ เป็นต้น และทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะการศึกษาที่จะปูทางไปสู่การสร้างอาชีพในอนาคต และทรัพยากรวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม นอกจากเรื่องการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์แล้วยังจำเป็นต้องมีเรื่องของงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และเตรียมพร้อมให้คนไทยเข้าสู่ยุค 'Metaverse' โลกเสมือนจริง จะนำโลกที่เป็นจริงหรือสกุลเงินดิจิทัล รวมถึงเกมส์และอีสปอร์ต เพื่อพัฒนาทักษะเยาวชน
4. เส้นทางแห่งความหวัง นอกจากประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมสำหรับเทรนด์การท่องเที่ยวแบบใหม่ จำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับการท่องเที่ยวแบบแปลกใหม่ที่สร้างประสบการณ์ที่ดีต่อนักท่องเที่ยว รวมถึงการท่องเที่ยวตามแนวระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ผ่านยกระดับระเบียงเศรษฐกิจของไทยทั้ง 5 แห่ง, พัฒนาเส้นทางการคมนาคมใน GMS Economic Corridors และแนวเศรษฐกิจอื่นๆ ผ่านการใช้งบประมาณที่คุ้มค้า ซึ่งนำไปสู่รายได้ในพื้นที่ขั้นต่ำ 23 ล้านล้านบาท
จักรพล กล่าวว่า เส้นทางทั้ง 4 เส้นนี้พรรคเพื่อไทยเชื่อว่าจะสร้างเส้นทางสู่ความยั่งยืนของการท่องเที่ยวไทยได้อย่างแท้จริง อยากให้รัฐบาลลองรับฟัง และนำไปปรับใช้เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แต่หากยังไม่ทำก็รอให้พรรคเพื่อไทยซึ่งจะเป็นรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำแทนก็ได้ เพราะประชาชนต้องการมืออาชีพมาดูแลคุณภาพชีวิต ต้องการมืออาชีพมาวางรากฐานสำหรับลูกหลานในอนาคต และต้องการมืออาชีพมาบริหารประเทศและแก้ไขความผิดพลาดของรัฐบาลก่อนหน้าที่สร้างหลุมดำให้กับประชาชนอย่างมากมาย
"วันนี้พรรคเพื่อไทยพร้อมแล้วที่จะจับมือกับภาคการท่องเที่ยวเพื่อสร้างอนาคตการท่องเที่ยวไทยที่สดใส และยั่งยืนเพื่อคนไทยทุกคน" จักรพล กล่าว