ไม่พบผลการค้นหา
ศาลปทุมวันพิพากษา แกนนำ ‘อนาคตใหม่’ พร้อมจำเลย รวม 8 คน คุก 4 เดือน รอลงอาญา 2 ปี ปรับ 11,200 บาท ปมม็อบสกายวอล์ค ปี 62

วันที่ 5 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการอ่านคำพิพากษาของศาลปทุมวัน ในกรณีที่แกนนำพรรคอนาคตใหม่ ประกอบด้วย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, พรรณิการ์ วานิช, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ปิยบุตร แสงกนกกุล และไพรัฏฐโชติก์ จันทรขจร พร้อมจำเลยอีก 3 คน ได้แก่ ณัฏฐา มหัทธนา, พริษฐ์ ชิวารักษ์ และธนวัฒน์ วงค์ไชย รวมเป็น 8 คน 

โดยล่าสุด ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งหมดมีโทษจำคุก 4 เดือน พร้อมปรับเป็นจำนวนเงิน 1,000 บาท และศาลเห็นว่า จำเลยไม่เคยกระทำความผิด และมีหน้าตาทางสังคมจึงให้รอลงอาญา 2 ปี ศาลยังเห็นว่า มีการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมปรับโทษเป็นพินัยตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เป็นจำนวนเงิน 10,200 บาท รวมปรับทั้งหมด 11,2000 บาท 

นอกจากนี้ ศาลยังเห็นอีกว่า จำเลยอยู่ในฐานผู้สั่งการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งก่อนล่วงหน้าใน 24 ชม. และจัดการชุมนุมไม่ให้กีดขวาง และไม่ควบคุมการชุมนุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ก่อเกิดความไม่สะดวก และเดือดร้อนต่อประชาชนในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งในทางกฎหมายมีโทษทางแพ่ง และอาญา พิพากษาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ม.7 และ ม.8 และกฎหมายอาญา ม.83 

LINE_ALBUM_แกนนำอนาคตใหม่คดีแฟลชม็อบ_240205_7.jpg

ศาลยังชี้พฤติการณ์ของจำเลยอย่าง ธนาธร ซึ่งมีการโพสต์ในโซเชียลมีเดีย 13 ธ.ค. 2562 เชิญประชาชนมาที่สกายวอล์คแยกปทุมวัน จากข้อความ และภาพที่ปรากฏ จำเลยซึ่งเป็นผู้นัด ถือว่าเป็นผู้ประสงค์จัดชุมนุมสาธาณะ มีหน้าที่แจ้งการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชม. และจัดให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย 

โดยช่วงการชุมนุม พบว่า ตำรวจได้แจ้งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมแล้ว แต่ไม่เห็นผล และในวันดังกล่าวยังพบว่า ผู้ชุมนุมมีจำนวนมากที่ จากภาพที่ปรากฎออกมาย่อมเห็นว่า มีการกระทบต่อประชาชนกวีดขวางการเข้าออกพื้นที่สาธารณะ อีกทั้งยังชุมนุมใกล้วังสระปทุมในรัศมี 150 เมตร ซึ่งศาลได้ชี้ว่า การชุมนุมภายใต้สิทธิเสรีภาพทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และขอบเขต รวมถึงสถานที่ตามกฎหมาย แต่จำเลยกลับเพิกเฉย 

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการฟังคำพิพากษาดังกล่าว จำเลยทั้งหมด 8 คน เดินทางมาครบ โดยยังมีพริษฐ์ หรือ ‘เพนกวิน‘ นักกิจกรรมทางการเมืองซึ่งขณะนี้ยังคงอยู่ระหว่างการบวชจึงมาร่วมฟังคำพิพากษาในผ้าจีวร 


อุทธรณ์คดีแฟลชม็อบต่อ

พิธา เปิดเผยว่า อุทธรณ์ต่อในหลายเรื่อง ทั้งความได้สัดส่วนของกฎหมาย แน่นอนว่า การชุมนุมสาธารณะนั้นอาจจะมีกระทบกระทั่งกับทางสังคมบ้าง เปรียบเทียบกับการชุมนุมที่สนามบินกลับมีโทษปรับเพียง 20,000 บาท และไม่มีโทษทางอาญาแต่อย่างใด 

พิธา กล่าวอีกว่า ได้คุยกับทีมทนายว่าจะไปดูฎีกาย้อนหลังว่า ศาลมีคำตัดสินอย่างไร นอกจากนี้ยังมีความคาดเคลื่อนในเรื่องของระยะทางในรัศมี 150 เมตร ซึ่งยืนยันว่า จากสกายวอล์คไปจนถึงวังสระปทุมนั้นเกิน 150 เมตรแน่นอน จึงอยากทราบว่า วัดระยะอย่างไรตรงจุดที่แกนนำยืนอยู่ หรือในปลายจุดของการชุมนุม 

แม้ศาลจะมีคำพิพากษาให้รอลงอาญา 2 ปี โดยปกติแล้วจำเลยมักจะไม่สู้ต่อ แต่เหตุใดที่ยังคงอุทธรณ์ต่อนั้น พิธา กล่าวว่า เป็นการอุทธรณ์เพื่อให้สังคมเห็นบรรทัดฐานการควบคุมวาระทางสังคมผ่านการชุมนุมอย่างสันติมันเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แน่นอนว่า หากมีผลกระทบต่อเสรีภาะคนอื่นก็ย่อมมีโทษ แต่ต้องเป็นโทษที่ได้สัดส่วน รวมทั้งข้อเท็จจริงส่วนอื่นที่อาจมีความคลาดเคลื่อน 

ด้าน กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความพรรคก้าวไกล เสริมว่า คดีนี้ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด อาจจะอุทธรณ์ถึงฎีกาได้ จึงต้องปรึกษากับลูกความ แม้คนทั่วไปอาจจะไม่สู้ จึงมองว่า ไม่ใช่มาตรฐานของวิญญูชน และเมื่อเกิดประเด็นแบบนี้จึงอยากให้ไปคัดคำพิพากษาของศาลโดยละเอียดมาดู และเรื่องแบบนี้เราเห็นต่างกับคำพิพากษาแน่นอน ยกตัวอย่างที่การชุมนุมสกายวอล์คที่เดียวกัน แต่ศาลอาญากรุงเทพใต้ยกฟ้อง รวมถึงอัยการก็ไม่อุทธรณ์ต่อ พร้อมย้ำว่า เคารพคำพิพากษาของศาล แต่เคารพความจริงมากกว่า 

กฤษฎางค์ ยังเปิดเผยอีกว่า ศาลเห็นการจัดการชุมนุมเป็นเรื่องจริงแจ้งให้ทราบ แต่สำนักงานสอบสวน ระบุว่า โพสต์เชิญชวนมาแต่ไม่ได้แจ้ง ซึ่งคดีนี้ไม่มีโทษทางอาญา และศาลให้ปรับเป็นพินัย หรือคดีแพ่ง แต่ศาลแขวงเชียงรายมีคำพิพากษาเมื่อปีที่แล้วว่า เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ไม่ต้องขออนุญาตแจ้งให้ทราบ เมื่อพนักงานสอบสวนในท้องที่ทราบแล้ว เพราะในคดีนี้เห็นได้ชัดว่า ชุมนุมวันที่ 14 ธ.ค. 2562 แต่พนักงานสอบสวนรู้แล้วตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค. 2562 

กฤษฎางค์ กล่าวอีกว่า ศาลแต่ละศาลคงมีคำวินิจฉัยที่แตกต่างกัน แต่เราจะพิสูจน์ความจริงไม่ได้พิสูจน์ว่าใครโกหก ส่วนหากอุทธรณ์ต่อจะไม่มีการรองลงอาญาหรือไม่นั้น ยืนยันว่า มั่นใจโทษจะไม่หนักกว่าเดิม เพราะโทษที่มีอยู่นั้นหนักพอแล้ว ดุลยพินิจของศาลไม่ควรเกินไปมากกว่านั้น เทียบกับกรณีการยึดสนามบินของกลุ่มพันธมิตรที่ยังมีแค่ปรับ 20,000 บาท ส่วนตัวรับไม่ได้ 

ขณะที่ พิธา กล่าวเสริมว่า คงสู้ในบรรทัดฐานของการตัดสิน และพิสูจน์ความจริง รวมถึงต้องไปศึกษาคำพิพากษาย้อนหลังทั้งการจัดชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ และพื้นที่เดียวกัน ซึ่งต้องรอดูรายละเอียดคำพิพากษาต่อไป ขณะนี้ยังคงต้องใช้สมาธิในการทำงาน เพราะอาทิตย์หน้าจะมีการอภิปรายเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับประชาชน พร้อมย้ำว่า ตนไม่ได้มองว่า พรรคก้าวไกลเสียเครดิตทางการเมือง เพราะเป็นไปตามกระบวนการ สังคมส่วนใหญ่คงแยกออกว่าอะไรเป็นอะไร 

พิธา กล่าวว่า หลักใหญ่ในเชิงนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ คือความได้สัดส่วน แน่นอนว่า มีสิทธิเสรีภาพที่เกินขอบเขต ฉะนั้นความเกินขอบเขตนั้นควรลงโทษแบบไหนให้เหมาะสมกับเหตุที่กระทำ นี่คือหลักใหญ่ของสังคมไทย รวมทั้งความสม่ำเสมอทางกระบวนการต่างๆ 

สำหรับกรณีที่อัยการยื่นร้องต่อศาลให้นับโทษจำเลยบางคนต่อจึงอาจทำให้ไม่มีการรอลงอาญานั้น กฤษฎางค์ กล่าวว่า โจทก์มาเสนอเพิ่มเติมต่อจำเลย 2-3 คน และศาลรับคำเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมนับโทษต่อ แต่โจทก์แถลงแล้วว่า ทุกคดีที่นับโทษต่อ ยังไม่มีศาลไหนตัดสินถึงที่สิ้นสุด ศาลจึงไม่นับโทษต่อให้ 

อย่างไรก็ตาม ตนในฐานะนิติบัญญัติได้เคยมี กมธ.การยุติธรรมฯ พิจารณากฎหมายควบคุมการชุมนุมเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และประชาธิปไตย และหากมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพก็ให้มีบทลงโทษที่พอดี รวมทั้ง กมธ. ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทั้งหลายน่าจะศึกษาว่า ภาคีต่างๆ ในระดับสากลที่เคยไปลงนามไว้มีวิธีการจัดการเพื่อรักษาดุลยภาพสังคมอย่างไร 

“การชุมนุมโดยสันติเป็นสิทธิของประชาชนในระบบประชาธิปไตย ตนในฐานะยังเป็นอนาคตใหม่ ก็คำนึงถึงสวัสดิการของประชาชน มั่นใจว่า พยายามดูแลความปลอดภัยให้ทั่วถึง เก็บขยะ และตระหนักถึงผลกระทบทางสังคม ดังนั้นจึงยืนยันว่า ทางพรรคอนาคตใหม่ก็ระมัดระวังกันอยู่แล้วในการชุมนุมเมื่อปี 2562” พิธา กล่าว 

ด้าน ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ มองว่า ใช้เวลาไปประมาณ 1 ชั่วโมง และมีหลายประเด็นไม่ครบถ้วน จึงเตรียมอุทธรณ์ต่อไป ซึ่งหลายเรื่องในคำพิพากษาไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง พร้อมเห็นพ้องว่า การวัดระยะการชุมนุมควรวัดจากจุดที่ยืนปราศรัยกับวังสระปทุม เพราะเราไม่มีทางรู้ว่า ท้ายแถวของการชุมนุมจะไปจบที่ใด หรือคนในท้ายที่สุดมาร่วมชุมนุม หรือแค่เดินผ่านเฉยๆ 

รวมถึงดุลยพินิจในการลงโทษ เชื่อว่า วิญญูชนคนทั่วไปเอาไปเปรียบเทียบกับหลายกลุ่มที่ผ่านมา และสุดท้ายศาลลงโทษปรับเพียง 20,000 บาท แม้จะคนละกรณี แต่ความเดือดร้อนของประชาชนนั้นแตกต่างกัน เพราะตอนชุมนุม 14 ธ.ค. 2562 นั้นสั้นมาก ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง และยังมีการช่วยกันทำความสะอาด แต่กลับถูกศาลพิพากษาจำคุก 4 เดือน รองลงอาญา 2 ปี 

ส่วนความไม่เหมาะสม หรือไม่สมเหตุสมผลของตัวบทกฎหมาย ปิยบุตร เชื่อว่า พรรคก้าวไกลคงไปขยายต่อ เพราะในช่วงที่ทำงานร่วมกันในสมัยพรรคอนาคตใหม่ เคยตั้งประเด็นนี้ไว้แล้วว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จำกัดสิทธิเสรีภาพมากเกินไปในหลายๆ เรื่อง ให้เป็นหน้าที่ของสภาฯ ที่จะพิจารณากัน 

ปิยบุตร กล่าวทิ้งท้ายว่า การเทียบกับม็อบพันธมิตรนั้น แน่นอนเป็นคนละกรณี แต่เห็นว่า หลักของการพิจารณานั้นทำให้คนอื่นเดือดร้อนหรือเปล่า ถามว่า การชุมนุมในวันที่ 14 ธ.ค. 2562 เทียบเป็นน้ำหนักแล้วต้องติดคุก 4 เดือนเลยหรือ แต่ตนยืนยันเรื่องสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมตลอด ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน หรือแม้จะเป็นกฎหมายคนละฉบับ แต่ถ้าวัดความเดือดร้อนของประชาชนคงไม่น่าส่งผลให้ได้รับโทษเช่นนี้