ไม่พบผลการค้นหา
‘สิริพรรณ’ ยกเคส ‘ชิลี’ เป็นอุทธาหรณ์ทำประชามติร่าง รธน.ใหม่ หลายรอบ ฟาก ‘สมัชชาคนจน’ หวั่นยิ่งช้าคนจนยิ่งแย่ ด้าน 'ไอติม ก้าวไกล' หมดข้ออ้าง ‘ประชามติ 3 รอบ’

ที่บริเวณลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ถนนดินสอ เขตพระนคร เครือข่ายสมัชชาคนจน จัดงาน 'เบิกฟ้ารัฐธรรมนูญใหม่' โดยมีการเสวนาในเวที “เส้นทางสู่รัฐธรรมนูญใหม่” โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ประกอบไปด้วย นิกร จำนง กรรมการและโฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560, พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล

ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ และ บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ดำเนินรายการโดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

เริ่มที่ 'สิริพรรณ' เห็นด้วยที่รัฐธรรมนูญ 2560 สมควรได้รับการแก้ไข เพราะมาจากคณะรัฐประหาร คสช. โดยไม่มีความชอบธรรม ในแง่ของกระบวนการร่างก็มาจากคนกลุ่มเดียว กระบวนการได้มาซึ่งประชามติก็เป็นการรณรงค์เห็นต่างไม่ได้ และที่สำคัญยังมีการเพิ่มคำถามพ่วงอันไม่ชอบมาพากล

ดังนั้นหากจะพูดถึงเนื้อหา อำนาจในการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจอธิปไตย 3 ฝ่าย คือ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ เรามีองค์กรอิสระที่เป็นผู้ควบคุมทุกอย่าง แต่กลับไม่มีใครมาควบคุมคนที่ตรวจสอบคนอื่น และในหมวดสิทธิเสรีภาพ ก็ถูกลดทอนลงไปมาก ด้วยประโยคที่ว่า “ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกฎหมายกำหนด หากไม่มีกฎหมายกำหนดก็ไม่ได้รับการคุ้มครอง” หรือ ขึ้นอยู่กับความมั่นคงของรัฐ 

นอกจากนี้ กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนก็ถูกลดทอนลงไปมาก เช่น การเข้าชื่อถอดถอนนักการเมืองก็หายไป จากเดิมเคยปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 หรือในส่วนของสมาชิกวุฒิสภา ถ้าหากมีก็ต้องมาจากการเลือกตั้ง จำนวนเป็นเท่าไหร่ หน้าที่คืออะไร และไม่ได้มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี

หลุมพรางทางการเมือง

สิริพรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่าการที่พรรคการเมืองสามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ได้ 3 รายชื่อ ทำให้เกิดปัญหาพ่วงตามมา เพราะไม่มีประเทศไหนทำกัน จะอ้างว่าเพื่อให้ประชาชนรู้ว่าใครจะมาเป็นว่าที่นายกฯ ไม่ได้ เพราะสร้างความสับสนว่าใครจะเป็นตัวจริงกันแน่ จึงเห็นว่าควรมีการแก้ไข 

ในส่วนของวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญ 2560 รวมถึงฉบับ 2550 ซึ่งมีที่มาหลังการทำรัฐประหารนั้น เป็นไปเพื่อลดทอนอิทธิพลของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ และสืบทอดอำนาจชนชั้นนำหรือกลุ่มจารีต ซึ่งฉบับปี 2560 ได้บรรลุวัตถุประสงค์ไปแล้วอย่างเข้มข้น สะท้อนจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เรียกว่าวัตถุประสงค์แอบแฝงของรัฐธรรมนูญ 2560 คือความตั้งใจจะใช้ยาแรงกับทุกเรื่อง จึงนำมาสู่การบรรจุสนามเพลาะหรือหลุมพรางทางการเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เพื่อให้การแก้ไขเป็นไปได้ยาก 

สำหรับการจัดทำประชามติให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากไปดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 จะเห็นคำหลักๆ ที่ว่า “อำนาจในการแก้ไขเป็นของรัฐสภา” และอีกส่วนที่ว่า “ให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญให้ความเห็นชอบก่อน” จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมถึงต้องมีการจัดทำประชามติก่อน

ฉันทามติที่โอบอุ้มความเห็นต่าง

สิริพรรณ ย้ำว่า โดยส่วนตัว อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาทันสมัยและตอบโจทย์ประชาชน โดยได้ยกกรณีตัวอย่างของประเทศชิลี ที่มีความพยายามจัดทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ไม่ผ่านถึง 3 ครั้ง ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา มีการเลือก สสร. ถึง 2 ครั้ง ในครั้งแรก ประชาชนบอกว่าเนื้อหามีความก้าวหน้าเกินไป ส่วนครั้งที่สองมีความอนุรักษนิยมขวาจัดเกินไป สะท้อนภาพสังคมที่เป็นการดึงกันการระหว่างฝ่ายซ้ายจัดและขวาจัด ถือเป็นอุทาหรณ์สอนเราว่า จะทำอย่างไร ถึงจะได้ฉันทามติที่โอบอุ้มความเห็นต่างทั้งหลายทั้งปวงได้

สิริพรรณ ยังระบุด้วยว่า พ.ร.บ.ประชามติ 2564 กำหนดไว้ว่าในการทำประชามติจะต้องใช้เกณฑ์ในการผ่าน 2 ชั้น คือ 1. ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งต้องไปใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่ง 2. เกินกึ่งหนึ่งของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิต้องมีเสียงเห็นชอบ ประกอบกับการที่ในการจัดทำประชามติมีช่องให้ออกเสียงว่า “ไม่แสดงความเห็น” จึงเป็นความกังวลว่าประชามติอาจจะผ่านได้ยากลำบาก

ประชามติ 'ผ่าน' แต่ 'ไม่ง่าย'

ทั้งนี้ สิริพรรณ เชื่อว่าการทำประชามติจะผ่านแต่ไม่ง่าย หากมองในแง่เหตุผลทางการเมือง เห็นว่ารัฐบาลมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องรักษาสัญญาเรื่องการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขณะเดียวกันเหตุผลทางการเมือง อาจจะทำให้รัฐบาลต้องใช้ความระมัดระวังในการเดินไปข้างหน้า จึงอาจทำให้การจัดทำประชามติไม่รวดเร็วทันใจ

พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงแรงต้านที่จะเกิดขึ้นจากคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มพลังมากและอิทธิฤทธิ์สูงจากฝ่ายจารีต ซึ่งมีตัวแทนหลักคือสมาชิกวุฒิสภา ที่มองว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ดีอยู่แล้ว แต่นักการเมืองไม่ดีเอง หรือจากกลุ่มที่ก้าวหน้ามาก ดันเพดานสูงมากอาจจะทำให้เมื่อถึงจุดหนึ่ง มีคำถามที่ไม่ถูกใจ เงื่อนไขไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ก็อาจจะเกิดการรณรงค์ให้คนออกมาไม่ใช้สิทธิ์ก็ได้ ดังนั้น สิ่งที่สังคมสามารถช่วยกันได้ คือ การโอบรับความแตกต่าง ลดทอนความต้องการ และชวนกันออกมาทำประชามติไม่ว่าจะ 2 หรือ 3 รอบก็ตาม

‘สมัชชาคนจน’ เร่งทำ ‘ประชามติ’

บารมี กล่าวว่า สมัชชาคนจนเคลื่อนไหวมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นเครื่องมือทางกฎหมายสูงสุดของประเทศที่นำมาต่อสู้ให้กับชาวบ้าน ตนรู้สึกโกรธแค้นต่อคณะรัฐประหาร เมื่อปี 2549 ที่ฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ส่วนรัฐธรรมนูญ 2550 องค์กรอิสระไม่อิสระอีกแล้ว อีกทั้งยังเกิดตุลาการภิวัฒน์

ส่วนรัฐธรรมนูญ 2560 เลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพราะให้ความสำคัญความมั่นคงของรัฐมากกว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิเสรีภาพกลายเป็นหน้าที่ของรัฐ รัฐแย่งสิทธิเสรีภาพของประชาชนไปทำ มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

"คนจนต้องกำหนดของตนเอง แต่เอาใครไม่รู้ว่ากำหนดอนาคตอีก 20 ปี มันเลวร้ายมาก ยอมไม่ได้ที่จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้" บารมีกล่าว

บารมี กล่าวต่อว่า ผลพวงของรัฐธรรมนูญ 2560 คือการออกกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากร เช่น พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐมากมายมหาศาล เข้าค้นบ้านใครก็ได้โดยไม่มีหมายศาล ถ้าจะสร้างบ้านในเขตอุทยานตัองขออนุญาตจากอธิบดี

ส่วนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีแผนนำที่ดินไปปลูกป่าทำคาร์บอนเครดิต ภายในปี 2580 เพื่อรักษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐธรรมนูญแบบนี้ปล่อยไว้ไม่ได้ ยิ่งปล่อยช้าไป เรายิ่งเดือดร้อน

"อย่าไปเสียเวลาการศึกษาทำประชามติมากนัก เริ่มเลยดีกว่า พวกผมเดือดร้อนมามากแล้ว รอไปอีก 4 ปี พวกผมไม่มีที่อยู่กันพอดี" บารมีกล่าว

บารมีกล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญฉบับบใหม่ไม่ควรมีการให้อำนาจ หน้าที่ของรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ วุฒิสภา ซึ่งจากการเปิดเวทีรัฐธรรมนูญคนจน ไม่มีใครต้องการวุฒิสภา ส่วนเรื่องที่ควรมีคือ การกระจายอำนาจ กระบวนการยุติธรรม รัฐธรรมนูญ หมวด 1 หมวด 2 ควรแก้ไขได้

ส่วนศาลรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจตัดสินยุบพรรคการเมืองต่างๆ จะให้มีอำนาจเหนือ 3 อำนาจอธิปไตยไปไม่ได้ ในส่วนกระบวนการทำประชามติต้องตั้งคำถามให้ง่ายให้สั้นที่สุด อย่าไปมีคำถามพ่วง ถามคำเดียวง่ายๆ เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ รีบทำประชามติ ค่อยไปเถียงรายละเอียดตอนที่มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

‘พริษฐ์’ ชี้ฉบับใหม่ไม่พอ ถ้าเนื้อหาเหมือนฉบับ 2560

พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ถึงแม้ก้าวไกลไม่มีตัวแทนในคณะกรรมการศึกษาประชามติฯ แต่ก็ให้ความร่วมมือพูดคุยเสนอความเห็นกับคณะกรรมการอย่างต่อเนื่อง โดยพรรคก้าวไกล มองว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาทั้งที่มากระบวนการและเนื้อหา ถูกขีดเขียนโดยไม่กี่คน กระบวนการโดยอ้างประชามติ แต่ไม่เป็นธรรมตามประชาธิปไตยสากล คนที่ออกมาคัดค้านถูกดำเนินคดี คำถามพ่วงก็ถูกเขียนอย่างซับซ้อนและชี้นำโดยเจตนา

ในส่วนของเนื้อหา มีหลายมาตราหลายส่วน ที่อาจบกพร่องและถดถอยเชิงประชาธิปไตย เมื่อเทียบกับฉบับก่อนหน้า ทั้งโจทย์คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือโจทย์ออกแบบสถาบันทางการเมืองต่างๆ ให้ชอบธรรม และตอบสนองความต้องการของประชาชน รวมถึงตรวจสอบถ่วงดุลอย่างมีประสิทธิภาพ เราเลยมองเป้าหมายว่า แก้ไขรายมาตราไม่เพียงพอ แต่ต้องจัดทำฉบับใหม่

“ฉบับใหม่ไม่พอ ถ้าเนื้อหาเหมือนฉบับ 2560 ก็ไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาที่การเมืองไทยเผชิญอยู่ได้ แต่ต้องเป็นฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ที่ต้องย้ำเพราะถ้าเราตั้งเป้าแค่ต้องฉบับใหม่ โดยไม่ได้สนใจเนื้อหา เราอาจจะได้ฉบับใหม่ก็จริง แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ดังนั้นเราต้องตั้งหลักใหม่ พอเราตั้งเป้าแบบนั้น กระบวนการถึงมีความสำคัญ

เพราะจะส่งผลต่อเนื้อหาว่าจะออกมาอย่างไร ถ้าออกแบบโดยไม่กี่คน ก็มีโอกาสสูงที่ถูกเขียนเพื่อพยายามสืบทอดอำนาจทางการเมือง และกีดกันอีกฝ่ายแต่ถ้าเปิดกว้างประชาชน ทุกชุดความคิด 60 กว่าล้านคนมีส่วนร่วม เช่น ผ่านกลไกของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ก็เพิ่มโอกาสให้รัฐธรรมนูญใหม่ สะท้อนชุดความคิดที่แตกต่างหลากหลายในสังคม และออกมาเป็นฉันทามติของสังคมที่แท้จริง” พริษฐ์ กล่าว

โอบรับจุดยืนที่แตกต่างของแต่ละฝ่าย

พริษฐ์ กล่าวต่อว่า บทสนทนาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำ ฟังผิวเผินอาจะเป็นเรื่องเทคนิคซับซ้อน แต่มีรายละเอียดที่สำคัญมาก เพราะจะส่งผลกระทบว่า ฉบับใหม่จะออกมาหน้าตาอย่างไร ชอบธรรมหรือไม่ ซึ่งถ้าถามว่า แล้วกระบวนการจัดทำฉบับใหม่ ในมุมของพรรคควรเป็นอย่างไร จุดยืนเราชัดเจนมาตลอดคือ ‘ทำใหม่ทั้งฉบับ โดย ส.ส.ร.100 %’ เพราะมีความชอบธรรมและตรงไปตรงมาที่สุด แต่เข้าใจว่ามีบางกลุ่มที่จุดยืนต่างจากเราไปบ้าง

“ดังนั้น โจทย์ของก้าวไกลคือ เราจะออกแบบกระบวนการอย่างไรเพื่อให้ตอบโจทย์ 3 ข้อนี้ คือ 1. ทำอย่างไรให้ได้รัฐธรรมนูญใหม่เร็วที่สุด 2.เป็นฉบับใหม่ที่ชอบธรรมทางประชาธิปไตย 3.ต้องเป็นกระบวนการที่โอบรับจุดยืนที่แตกต่างของแต่ละฝ่าย

ดังนั้น ข้อเสนอในเชิงกระบวนการที่ก้าวไกลเสนอมี 2 ส่วนสำคัญ คือ 1. ต้องมีประชามติกี่ครั้ง หากเราจะเดินตามกฎหมายที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่พูดถึงกันในปัจจุบัน ต้องมีการจัดประชามติอย่างน้อย 2 ครั้งเป็นไฟต์บังคับ ซึ่งต้องไปแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อไปเพิ่มหมวดเกี่ยวกับ ส.ส.ร.และต้องผ่าน 3 วาระของรัฐสภา” พริษฐ์ ชี้

พริษฐ์ กล่าวต่อว่า ข้อถกเถียงที่มีอยู่ในปัจจุบันคือ ‘จะต้องมีการทำประชามติเพิ่มอีกครั้งไหม’ ทำตอนเริ่มต้นเลย ที่ตนเรียกว่าประชามติ A ซึ่งจุดยืนก้าวไกล เรายืนยันว่าไม่มีความจำเป็นทางกฎหมาย แค่ B (ก่อนมี ส.ส.ร.) กับ C (หลังมี ส.ส.ร.) ก็พอแล้ว แต่เรามองว่าการทำประชามติรอบแรกมีประโยชน์ทางการเมือง ในการแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างใน 2 มิติ

โดยมิติที่ 1 คือ ต่างที่การตีความกฎหมาย ซึ่งรัฐสภาซีกนึงมองว่า ควรทำแค่ 1 ครั้งแบบก้าวไกล แต่บางคนโดยเฉพาะ ส.ว.ไปตีความคำวิจิฉัยอีกแบบว่า ต้องทำ 3 ครั้ง ซึ่งถ้าเรายืนยันจะไม่ได้รับเสียงหนุนจาก ส.ว. เจอทางตัน เพราะคนกลุ่มนี้จะหยิบยกคำวินิจฉัยมาอ้าง แต่ในทางกลับกัน

ถ้าเรายอมทำเพิ่มอีก 1 ครั้ง แม้ไม่จำเป็นทางกฎหมาย แต่ถ้าประชาชนบอกว่า ‘’ควรมีการจัดทำฉบับใหม่หรือไม่” ถ้าทำแบบนั้นแล้วประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบ เสียงของประชาชนตรงนี้น่าจะมีประโยชน์มาก ในการไปยันในรัฐสภา ว่าสมาชิกทุกคนต้องโหวตตามเสียงของประชาชน ผ่านการทำประชามติ คนที่ยกข้ออ้างประชามติ 3 ครั้ง ก็จะหมดข้ออ้าง

“ประโยชน์ที่ 1 คือแก้ไขความเห็นที่แตกต่างในการตีความคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 2.คือแก้ไขความเห็นที่แตกต่างเชิงจุดยืนการเมือง ถ้าเราไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ต่างฝ่ายต่างยื่นร่างฯ แล้วไปเถียงกัน แต่ความท้าทายคือ ไม่ได้พึ่งแค่เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาฯ เพราะรัฐธรรมนูญไปเขียนว่า ร่างใดที่จะผ่านสภาฯ ได้ ต้องได้ไฟเขียวจากทุกฝ่าย ทั้ง ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว. ดังนั้น ถ้าไม่หาวิธีแก้ไขในรายละเอียด จะเถียงรัฐสภาไม่จบ เราจึงมองว่า ถ้าอย่างนั้นอะไรที่จะเถียงไม่จบ ดึงมาถามในประชามติรอบแรกเลย ประชาชนเห็นแบบไหนเดินแบบนั้น ต้องน้อมรับ” พริษฐ์ กล่าว

สูตร 1 คำถามหลัก 2 คำถามรอง

จากนั้น พริษฐ์กล่าวถึงข้อเสนอแนะในความเห็นของก้าวไกลว่า 1.ถ้าเชิงกฎหมายจำเป็นแค่ 2 ครั้ง แต่ถ้าจะเพิ่มอีก 1 ครั้งก็มีประโยชน์เชิงการเมือง 2.ถ้าจะออกแบบประชามติเพื่อตอบโจทย์ทางการเมือง คำถามควรจะเป็นอย่างไร เห็นตรงกันว่า คำถามควรจะเรียบง่าย แต่ในมุมก้าวไกล ถามคำถามที่เรียบง่ายได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคำถามเดียว ข้อเสนอของเราจึงเป็น 1+2 คำถาม แยกเป็น 1 คำถามหลัก 2 คำถามรอง ในส่วนของคำถามหลัก ควรเรียบง่ายและกว้าง เช่น ‘เห็นด้วยหรือไม่ ให้มีการจัดทำฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร’ 

ในทางกลับกัน การถามคำถามที่มีเงื่อนไขเยอะ เช่น ‘เห็นด้วยหรือไม่ให้การจัดทำฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร.ที่มาจากการแต่ตั้ง แต่ล็อกหมวด’ คนที่อาจเห็นด้วยกับการทำฉบับไม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับบางส่วนของคำถาม เขาจะลำบากใจมากว่าจะลงคะแนนอย่างไร แล้วถ้าเกิดเขาไปลงมติ ‘ไม่เห็นชอบ’ เพียงเพราะไม่เห็นชอบกับบางเงื่อนไข เสียงของเขาจะถูกนับรวมกับคนที่ ไม่อยากจัดทำฉบับใหม่ โอกาสที่จะมีฉบับใหม่ยากขึ้นแต่ยังไม่พอ 

จึงมองว่าอะไรที่จะเป็นปัญหาในอนาคต ดึงมาเป็น 2 คำถามรอง ข้อที่ 1 คือเห็นชอบหรือไม่ให้ ส.ร.ร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 2. เห็นด้วยหรือไม่ว่า ส.ส.ร.ควรมีอำนาจพิจารณาทุกหมวด ตราบใดที่ไม่กระทบรูปแบบรัฐ การปกครอง เพราะบางคนเห็นต่างว่าควรจะล็อกหมวด 1-2 ดังนั้น ข้อเสนอของก้าวไกลคือ ‘ทำประชามติเพิ่มอีกครั้ง’ เพื่อประโยชน์ทางการเมือง และเป็น 1 คำถามหลัก + 2 คำถามรอง

เมื่อถามย้ำว่าเอาประชาติครั้งที่เพิ่มขึ้น เป็นตัวจัดการความเห็นที่ต่างในหมู่สมาชิกรัฐสภาให้จบก่อน ใช่หรือไม่ พริษฐ์ กล่าวว่า ใช่ เพราะถ้าไปดูคำแถลงนโยบาของนายกฯ เรื่องรัฐธรรมนูญ เขียนด้วยซ้ำว่าเพื่อ แก้ไขปัญหาที่แตกต่าง ในการใช้กลไกที่เป็นประชาธิปไตย แน่นอนว่าถ้าเพิ่มอีก 1 รอบ หลายคนอาจมองว่าเพิ่มขั้นตอนและงบประมาณ แต่หากตอบโจทย์การเมืองแบบนี้ น่าจะคุ้มค่า

“ความจริงเราเคยเสนอว่า ประชามติรอบแรก จะประหยัดงบฯ ได้ ควรจัดพร้อมเลือกตั้ง สส. แต่ข้อเสนอนี้ตกไป การเพิ่มประชามติอีกครั้ง บวก ลบ คูณ หาร แล้วน่าจะคุ้มค่า หากออกแบบคำถามที่เป็นประโยชน์ ในการไขปัญหาทางการเมือง ที่อาจจะหาข้อยุติยาก ผ่านกลไกอื่นที่ไม่ใช่ประชามติ” พริษฐ์ ระบุ

'นิกร' ชี้รัฐธรรมนูญหมวด 1-2 ไม่ได้มีปัญหา

นิกร กล่าวว่า ตนยุ่งกับรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับ มีวิกฤตรัฐธรรมนูญ ในสมัยปี 2535 ประชาชนถูกยิงตายบนถนน ตนน้ำตาไหลทนไม่ได้ ซึ่งวิกฤตรัฐธรรมนูญมีอยู่จริง ช่วงร่างรัฐธรรมนูญ 2540 กลุ่มของบารมีมาล้อมทำเนียบ เป็นจุดกำเนิดของสมัชชาคนจน ส่วนรัฐธรรมนูญ 2560 ตนไม่เห็นด้วย รณรงค์ไม่ให้ไปโหวต เห็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีคำว่าการกระจายอำนาจ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีแต่ความมั่นคง

"ท่านบรรหารเคยพูดไว้ว่า เลือกตั้งมาก่อน แล้วทุกๆอย่างจะค่อยดี" นิกรกล่าว

นิกร กล่าวว่า ที่ศึกษารัฐธรรมนูญมา หมวด 1-2 ไม่ได้มีปัญหา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประชาชน แต่หมวดที่เหลือมีปัญหาหมด แต่ก่อนมีอำนาจอธิปไตย 3 ฝ่าย ฝ่ายที่ 4 เป็นองค์กรอิสระ จากรัฐธรรมนูญ 2540 ส่วนฝ่ายที่ 5 ศาลรัฐธรรมนูญ อยู่เหนือทุกอำนาจ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งตนไม่เห็นด้วย

"ผมเป็นกรรมการฯ อยู่ตอนนี้ มีประสบการณ์มากพอ เห็นการเกิด การแตก การดับ ของรัฐธรรมนูญ หน้าที่ที่ทำตอนนี้ต้องทำรัฐธรรมนูญใหม่สำเร็จให้ได้ ถ้าไม่สำเร็จตอนนี้ เราจะอยู่กับมันไปอีกนาน" นิกรกล่าว

นิกร กล่าวต่อว่า วันนี้รับฟังความเห็นวันสุดท้าย แอบน้อยใจว่า สส.ทำแบบสอบถามตอบกลับมาเพียง 221 คน ผลปรากฏว่า คำถามเว้น หมวด 1-2 กับ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีความเห็นที่ใกล้เคียงกัน ส่วนคำถามที่มีความเห็นพ้องกันคือ เห็นควรต้องทำประชามติรอบที่ 1 78% และรอบสุดท้ายต้องทำ 79% ส่วน สว. ตอบแบบสอบถามกลับมาเพียง 69 คน

"ที่เราทำกันมามันเป็นเรื่องยากจริงๆ ไม่ได้เป็นการเตะถ่วง เพราะถ้าพลาดไปคือร่วงเลย ยอมให้เป็นแบบนั้นไม่ได้ เราต้องระมัดระวังมาก" นิกรกล่าว

นิกร กล่าวว่า ตนเสนอแก้ไขกระบวนการประชามติ ว่า 1.เกินกึ่งหนึ่ง และ2.ให้ใช้ตามเสียงข้างมาก รวมถึงการออกเสียงประชามติเรื่องอื่นพร้อมๆกับการเลือกตั้งใหญ่ อย่างไรก็ตามไม่รอกฎหมายประชามติ ถ้าจะให้ทันต้องเสนอโดย ครม.เท่านั้น เพราะเป็นกฎหมายปฏิรูป

ส่วนที่มาของ สสร.นั้น นิกรกล่าวว่า เสนอการเลือกตั้งทางอ้อมในกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก สตรี คนชรา คนพิการ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มละ 2 คน และนักวิชาการต่างๆ ส่วนการเลือกตั้งทางตรงมาจากจังหวัดละ 1 คน

"คำถามประชามติ ท่านเห็นว่าควรจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมี สสร. หรือไม่ ไม่ถามเรื่องหมวด 1-2 ไปว่ากันข้างหน้า" นิกรกล่าว

สำหรับข้อกังวลที่ว่าพรรคร่วมรัฐบาลเป็นอุปสรรคต่อการทำรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ นิกรกล่าวว่า เมื่อตอนสมัยรัฐบาลบรรหาร อดีตนายกฯบรรหาร ได้บอกว่าตนรับปากประชาชนแล้ว ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญ ตนก็อยู่ร่วมรัฐบาลไม่ได้ ซึ่งรัฐบาลเศรษฐาพูดชัดและได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา รวมถึงเศรษฐาพูดย้ำเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ในวันรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา

"ผมเชื่อว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เชื่อไปก่อน ถ้ามันจะไปตายก็ไปตายข้างหน้า ยังมีเวลาเสียใจอีกเยอะ อย่าไปเสียใจระหว่างทาง มันเสียขบวน" นนิกรกล่าว