ไม่พบผลการค้นหา
ตำรวจไซเบอร์ ชี้แจงความคืบหน้าคดีหลอกลงทุน Xpower Team จับกุมผู้ต้องหาแล้ว 2 ราย ปัจจุบันมีผู้เสียหายกว่า 40 ราย ความเสียหายกว่า 20 ล้านบาท

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอเรียนชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินคดีกับ น.ส.อรทัย กับพวก ที่ได้ร่วมกันหลอกลวงชักชวนผู้เสียหายหลายรายให้ร่วมลงทุนเก็งกำไรในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา (Forex) ผ่านระบบฝากเทรดของ Xpower Team ดังต่อไปนี้

ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อประชาชนจากภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลอกลวงชักชวนประชาชนให้ร่วมลงทุน อ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว พร้อมได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนและปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง  

เพื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบในด้านงานป้องกันปราบปราม ได้กำชับไปยัง พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดทำการสืบสวนสอบสวนขยายผลหาความเชื่อมโยงในดดี มุ่งเน้นการปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในทุกรูปแบบ ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

คดีดังกล่าวเมื่อประมาณต้นเดือน มี.ค.66 ผู้เสียหายหลายรายได้แจ้งความร้องทุกข์ผ่านระบบการรับแจ้งความออนไลน์ https://thaipoliceonline.com เนื่องจากถูกผู้ต้องหากับพวก หลอกลวงให้ลงทุนในตลาดซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา (Forex) ในระบบของ Xpower Team ซึ่งอ้างว่าเป็นระบบฝากเทรดประกันเงินทุน จะได้รับผลกำไรมากถึง 20-35% ของเงินฝากต่อเดือน มีโปรโมชันลงทุนเพื่อรับของสมนาคุณต่างๆ เมื่อลงทุนตั้งแต่ 3,000 - 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ จะได้รับสิ่งของต่างๆ เช่น นาฬิกา ไอแพด หรือสิ่งของอื่นๆ ตามจำนวนเงินลงทุน โดยมีการทำสัญญาการลงทุนในระยะเวลาต่างๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้แล้วผู้ต้องหายังอ้างว่าเป็นเจ้าของกิจการโรมแรม มีอพาร์ทเม้นท์หลายแห่ง รวมถึงเป็นผู้มีความชำนาญในด้านการลงทุนดังกล่าว ที่ผ่านมาพบมีการโพสต์รูปภาพใช้ชีวิตหรูหรา โพสต์รูปภาพทรัพย์สินมูลค่าสูงหลายรายการ กระทั่งผู้ต้องหากับพวกไม่สามารถจ่ายเงินปันผลให้ผู้เสียหายได้ อ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาตรวจสอบ มีปัญหาเรื่องภาษี แต่ไม่สามารถแสดงบัญชีการลงทุนให้ผู้เสียหายตรวจสอบได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกหลอกลวงและได้รับความเสียหายจึงมาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาตามกฎหมาย 

ต่อมาจากการสืบสวนสอบสวนและรวบพยานหลักฐานพบว่า ผู้ต้องหากับพวกไม่ได้มีการนำเงินไปลงทุนตามที่กล่าวแต่อย่างใด มีการนำเงินลงทุนของผู้เสียหายรายใหม่ หมุนเวียนไปให้กับผู้เสียหายรายเก่า ทำให้หลงเชื่อว่าลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนจริง พนักงานสอบสวน บก.สอท.1 จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลขออนุมัติออกหมายจับผู้ต้องหา จำนวน 3 ราย ในข้อหา “ ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวงนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่ง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนฯ และร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน ” กระทั่งเมื่อวันที่ 31 มี.ค.66 และวันที่ 1 เม.ย. 66 เจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท. ได้ทำการจับกุมตัว น.ส.อรทัย อายุ 58 ปี และนายธเนศ อายุ 26 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับ นำตัวส่ง พงส.ดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนผู้ต้องหาอีก 1 ราย ยังอยู่ระหว่างหลบหนี ทั้งนี้ปัจจุบันคดีดังกล่าวมีผู้เสียหายกว่า 40 ราย ความเสียหายรวมกว่า 20 ล้านบาท 

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเรื่องของการหลอกลวงชักชวนให้ลงทุนที่ผ่านมายังคงมีมูลค่าความเสียหายรวมสูงเป็นอันดับที่ 1 ของการหลอกลวงออนไลน์ทั้งหมด โดยมิจฉาชีพมักจะอาศัยความโลภของประชาชนเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง ทรัพย์สินส่วนใหญ่ที่ประชาชนนำไปลงทุน บางรายเป็นเงินเก็บก้อนสุดท้ายของชีวิต หรือบางรายต้องเอาทรัพย์สินอื่นไปจำนองเพื่อให้ได้เงินมาลงทุน ถือเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน ฝากเตือนไปยังมิจฉาชีพที่ยังคงหลอกลวงประชาชนในลักษณะดังกล่าว ในท้ายที่สุดก็ต้องถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตตามจับกุมมาดำเนินคดีทุกราย ไม่มีละเว้นเด็ดขาด

ทั้งนี้ขอฝากเตือนประชาชนถึงแนวทางการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

1.ระมัดระวังอย่าหลงเชื่อการเชิญชวนในลักษณะดังกล่าว มักเป็นการหลอกลวงในรูปแบบของแชร์ลูกโซ่ ควรศึกษาทำความเข้าใจให้ดี ก่อนตัดสินใจลงทุน พิจารณาถึงความเสี่ยง และความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการ

2.มิจฉาชีพมักหลอกลวงเหยื่อด้วยภาพลักษณ์ของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว เช่น ถ่ายภาพกับยานพาหนะหรู ที่พัก หรือของแบรนด์ต่างๆ 

3.ในระยะแรกเหยื่อจะได้รับผลตอบแทนจริง เพื่อชักจูงโน้มน้าวให้เพิ่มการลงทุน ภายหลังไม่ได้รับผลตอบแทนมิจฉาชีพหนีไปกับเงินลงทุนของเหยื่อ

4.อย่าหลงเชื่อการลงทุนที่เข้าถึงได้ง่าย ได้รับผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว

5.หลีกเลี่ยงการโอนเงินให้ผู้อื่นซื้อขายหรือลงทุนแทน ควรลงทุนด้วยตนเอง

6.การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศต้องทำกับผู้ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเท่านั้น เช่น ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์ ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อของผู้ได้รับใบอนุญาตได้ทางเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (www.bot.or.th)

7.ในการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ จะต้องทำกับธุรกิจที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเท่านั้น และปัจจุบันยังไม่เคยให้ใบอนุญาตแก่บุคคลหรือ นิติบุคคลที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ ในการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อการลงทุนแต่อย่างใด

8.กรณีผู้ที่สนใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ควรศึกษาข้อมูลบริษัทที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น www.sec.or.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของทาง ก.ล.ต. เป็นต้น 

9.หากได้รับความเสียหายในคดีลักษณะเดียวกันนี้ ให้รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป