ไม่พบผลการค้นหา
อันด์แชย์ ดูดา ประธานาธิบดีโปแลนด์กล่าวว่า ตนกำลังพิจารณาเรียกร้องให้มีการประชุมฉุกเฉินของสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ในวันพุธนี้ (16 พ.ย.) หลังจากขีปนาวุธที่ “ผลิตโดยรัสเซีย” ตกในพรมแดนของโปแลนด์ ส่งผลให้มีประชาชนในประเทศเสียชีวิต 2 ราย

เหตุการณ์ขีปนาวุธผลิตโดยรัสเซียตกในโปแลนด์ นับเป็นครั้งแรกที่อาณาเขตของประเทศสมาชิก NATO ถูกโจมตีในช่วงสงครามยูเครนที่ดำเนินมายาวนานกว่า 9 เดือน และหลังจากรัสเซียโจมตียูเครนด้วยขีปนาวุธกว่า 100 หัวรบ ซึ่งทำให้ประชาชนหลายล้านคนถูกตัดขาดออกจากพลังงานและสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีวิต ซึ่งรวมถึงประชาชนในมอลโดวาที่อยู่ใกล้กับยูเครนก็ต่างพบกับความหยุดชะงักดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ประธานาธิบดีโปแลนด์กล่าวว่า ตนได้พูดคุยกับ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร และ โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และบอกกับเหล่าผู้นำชาติสสมาชิก NATO ว่า “มีความเป็นไปได้สูง” ที่โปแลนด์จะขอเปิดการประชุมปรึกษาหารือรอบพิเศษของ NATO

ยังไม่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้ยิงขีปนาวุธดังกล่าว ซึ่งตกลงใส่หมู่บ้านปรีเชวูดาว ที่ตั้งอยู่ห่างจากชายแดนยูเครนไปไม่กี่กิโลเมตร ในช่วงบ่ายวันอังคาร (15 พ.ย.) โดยดูดากล่าวเสริมว่า ตนและเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ พบหลักฐานว่าขีปนาวุธดังกล่าวผลิตขึ้นโดยรัสเซีย นั่นอาจหมายความว่ามันเป็นอาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซีย 

อย่างไรก็ดี มันอาจเป็นขีปนาวุธจากระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-300 ของยูเครน ซึ่งเป็นอาวุธที่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าแต่เดิมผลิตในรัสเซีย ทั้งนี้ ไบเดนระบุกับผู้สื่อข่าวหลังการหารือกับพันธมิตร G7 ว่า ขีปนาวุธดังกล่าว “ไม่น่าจะ” ถูกยิงมาจากทางฝั่งรัสเซีย โดยสหรัฐฯ และพันธมิตรยังคงให้การสนับสนุนโปแลนด์ในการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวต่อ

รัฐบาลโปแลนด์กล่าวว่า ทางการได้เรียกเอกอัครราชทูตรัสเซียเข้าพบเพื่อขอคำอธิบาย แต่กระทรวงกลาโหมของรัสเซียปฏิเสธว่า ขีปนาวุธของตนไม่ได้ถูกยิงข้ามไปยังโปแลนด์ พร้อมโจมตีรายงานดังกล่าวว่าเป็น “การยั่วยุโดยเจตนา” ในแถลงการณ์ “ไม่มีการจู่โจมเป้าหมายใกล้พรมแดนรัฐยูเครน-โปแลนด์โดยจรวดของรัสเซีย ซากปรักหักพังที่เผยแพร่โดยสื่อโปแลนด์จากที่เกิดเหตุในหมู่บ้านปรีเชวูดาวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาวุธของรัสเซีย” กระทรวงกลาโหมรัสเซียกล่าวเสริม

เหตุการณ์ขีปนาวุธผลิตโดยรัสเซียตกในโปแลนด์ ส่งผลให้มีเกษตรกร 2 คนเสียชีวิต และรถแทรกเตอร์ถูกทำลาย หลังจากการระเบิดครั้งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อเวลา 15.40 น.ในหมู่บ้านทางตะวันออก ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่โปแลนด์และ NATO เร่งเข้าสืบสวนสอบสวนเพื่อหาคำตอบ และหาทางตอบรับกับเหตุการณ์ดังกล่าว

การประชุม NATO รอบพิเศษถูกกำหนดอยู่ภายใต้มาตรา 4 ของสนธิสัญญา NATO ซึ่งกำหนดให้พันธมิตรทั้งหมดรวมตัวกันเพื่อพูดคุยกันได้เมื่อ “บูรณภาพแห่งดินแดน ความเป็นอิสระทางการเมือง หรือความมั่นคง” ของสมาชิกรายใดก็ตามถูกคุกคาม ทั้งนี้ ทำเนียบขาวกล่าวว่า ไบเดนพร้อมให้ “การสนับสนุนอย่างเต็มที่” สำหรับการสอบสวนเหตุการณ์ในโปแลนด์ต่อดูดา โดยในการโทรศัพท์หารือกันของทั้งสอง ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยัง “ยืนยันคำมั่นสัญญาอันแข็งขันของสหรัฐฯ ที่มีต่อ NATO” และเรียกร้องให้ทั้งสองประเทศติดต่อกันอย่างใกล้ชิด

ก่อนหน้านี้ มาแตอุช มอราวีแยตสกี นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อความมั่นคงและการป้องกันของประเทศอย่างเร่งด่วน เพื่อตอบสนองต่อเหตุระเบิดดังกล่าว ผ่านการประเมินสถานการณ์และประสานการตอบสนอง โดยหลังการประชุม เจ้าหน้าที่โปแลนด์กล่าวว่า โปแลนด์กำลังวางหน่วยทหารบางส่วนในสภาวะตื่นตัวที่เพิ่มขึ้น และจะเพิ่มการเฝ้าระวังน่านฟ้าของตน

โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนกล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็น “การยกระดับที่สำคัญ” ของความขัดแย้ง “ขีปนาวุธของรัสเซียโจมตีใส่โปแลนด์” เซเลนสกีกล่าวโดยไม่ได้มีการอ้างหลักฐาน ทั้งนี้ นักวิเคราะห์บางคนกล่าวว่า พวกเขาเชื่อว่าภาพถ่ายของชิ้นส่วนขีปนาวุธในที่เกิดเหตุแสดงให้เห็นว่า มันน่าจะเป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-300 ของยูเครน ซึ่งน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องในการยิงขีปนาวุธของรัสเซีย แต่ยังไม่สามารถยืนยันรายงานเหล่านั้นได้

การโจมตีโดยเจตนาต่อสมาชิกของ NATO ในทางทฤษฎี อาจนำไปสู่การเรียกร้องตามมาตรา 5 ของกลุ่มพันธมิตร ซึ่งระบุว่าการโจมตีสมาชิกคนหนึ่งของพันธมิตรทางทหาร ถือเป็นการโจมตีต่อทุกชาติสมาชิก แต่การปฏิบัติตามสนธิสัญญา NATO ในมาตรา 5 ไม่น่าจะเกิดขึ้นจากการโจมตีโดยไม่ได้ตั้งใจ ทั้งนี้ มาตรา 4 ของสนธิสัญญา เป็นขั้นตอนการตอบรับที่น้อยกว่าที่จะอนุญาตให้สมาชิก NATO ประชุมได้โดยไม่ต้องกระตุ้นผลลัพธ์ของเหตุการณ์ใดๆ ทั้งนี้ ผู้นำชาติ G7 และ NATO ได้พบกันในที่การประชุม G20 ในอินโดนีเซีย เพื่อหารือเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้แล้ว

เหตุการณ์ในโปแลนด์เกิดขึ้นพร้อมกันกับการยิงขีปนาวุธของรัสเซียถล่มใส่หลายเมืองของยูเครน โดยในช่วงดึกของวันอังคาร เซเลนสกีกล่าวว่าพลังงานได้รับการฟื้นฟูให้กับประชาชน 8 ล้านคนจาก 10 ล้านคนแล้ว หลังจากถูกตัดการเชื่อมต่อพลังงาน ที่เกิดขึ้นจาก “การโจมตีของผู้ก่อการร้าย” รัสเซียทั่วประเทศ ทั้งนี้ ยูเครนเตือนว่าสถานการณ์ด้านพลังงานของตนนั้น “สำคัญ” อันเป็นผลมาจากการโจมตีของรัสเซียต่อฐานพลังงาน 15 แห่งของยูเครน รวมถึงอาคารที่อยู่อาศัย โดยมีรายงานว่าพื้นครึ่งหนึ่งของกรุงเคียฟ 80% ของลวิฟ และภูมิภาคอื่นๆ อีกหลายแห่งไม่มีไฟฟ้าใช้ ทั้งนี้ ฤดูหนาวของยุูรนในปัจจุบันอาจมีอุณภูมิต่ำถึง -10 ถึง -20 องศาเซลเซียส

จากรายงานข่าวของรัสเซียกล่าวหาว่า ยูเครนเป็นผู้ทำการโจมตีโปแลนด์ในครั้งนี้ ในขณะที่ ดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยูเครน ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว พร้อมระบุว่าการรรายงานดังกล่าวจากทางรัสเซียเป็น “ทฤษฎีสมคบคิด” อย่างไรก็ดี ยังไม่มีรายงานยืนยันชัดเจนว่า ใครเป็นผู้ยิงขีปนาวุธตกใส่โปแลนด์ในครั้งนี้

ทั้งนี้ การโจมตีดังกล่าวดูเหมือนถูกกำหนดเวลาโดยเจตนา ซึ่งช่วงกลางของการประชุมสุดยอด G20 ไปได้ 2 วัน ซึ่งเป็นความพยายามโดยความจงใจของ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ที่อาจพยายามท้าทายประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งกำลังวางแผนที่จะออกแถลงการณ์ประณามการโจมตียูเครนของรัสเซีย โดยร่างแถลงการณ์ดังกล่าว มีการใช้ภาษาที่รุนแรง เช่น “สมาชิกส่วนใหญ่ประณามสงครามในยูเครนอย่างรุนแรง” และเน้นว่า “มันก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานอย่างใหญ่หลวงต่อมนุษย์ และทำให้ความเปราะบางที่มีอยู่ในเศรษฐกิจโลกทวีความรุนแรงขึ้น” ทั้งนี้ สหรัฐฯ พยายามกดดันให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ที่รุนแรงขึ้น

ปูตินไม่ได้เข้าร่วมการประชุม G20 แต่ได้ส่ง เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมแทน พร้อมกันกับการระบุว่ามี "การทำให้เป็นการเมือง" ในการประชุม G20 และตำหนิตะวันตกที่ปล่อยให้เกิด "สงครามลูกผสม" ในยูเครน ก่อนที่ลาฟรอฟจะเดินออกจากการประชุม 


ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2022/nov/15/stray-russian-missiles-feared-landed-poland-ukraine?CMP=Share_iOSApp_Other&fbclid=IwAR2KZt64hkUFTdbOyZ9Q77KxvyPSrQlFVyyqAbei7yiKzTcvgtEsy_JAvnw