การบินไปต่างประเทศยาวของ พล.อ.ประวิตร ถูกจับตาในทางการเมือง
ซึ่งเรื่องนี้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ชี้แจงว่าไม่ได้บินไปพักผ่อน แต่บินไปทำงาน ทำให้สื่อต้องถามต่อ “ไปพบใคร” หรือไม่ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ฉุนสื่อที่ถามทันที ทำให้มีการตีความว่า “ออกอาการ” อีกแง่หนึ่งเพื่อ “ตัดบท” หรือไม่
ทว่ามาพร้อมกระแสข่าว “บิ๊กดีล” ทางการเมือง ระหว่าง “รัฐบาล-ฝ่ายค้าน” ในการเกลี่ยเก้าอี้รัฐมนตรีใหม่ โดยเอาจากโควต้าของ พล.อ.ประยุทธ์ มาจัดใหม่ โดยเฉพาะการเกลี่ยให้ “พรรคเศรษฐกิจไทย” 1-2 เก้าอี้
แม้ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จะยืนยันไม่ปรับ ครม. รวมทั้ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย ยืนยันไม่รับตำแหน่งใน “ครม.ประยุทธ์” แต่นั่นก็เป็นคำตอบเมื่อ 2 เดือนก่อน ว่ากันว่าตัวแทนพรรคเศรษฐกิจไทยที่อาจมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีจะเป็น “อดีตนายพล” หรือไม่ เพื่อรักษาเสียงในสภาฝั่งรัฐบาล ในการรับมือศึกซักฟอก ช่วงเดือน ส.ค.นี้
สำหรับ “พรรคเศรษฐกิจไทย” หนีไม่พ้นคำครหาอยู่ใต้เงา พล.อ.ประวิตร เพราะบรรดาคนที่ส่งไปคุมพรรค “ขุนพล” ของ พล.อ.ประวิตร ทั้ง “บิ๊กน้อย”พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่นั่งหัวหน้าพรรคฯ กับ ร.อ.ธรรมนัส เลขาธิการพรรค ซึ่งทั้งคู่ให้ความเคารพ พล.อ.ประวิตร ไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร จะยืนยันชัดเจนว่าพรรคเศรษฐกิจไทยอยู่กับรัฐบาล แต่ท่าทีของ “บิ๊กน้อย-ผู้กองมนัส” ก็แสดงออกชัดเจนไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์
ทั้งนี้ในกระแสข่าว “บิ๊กดีล” ผูกโยงไปถึงไทม์ไลน์ “ศึกซักฟอก” ด้วย ที่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน โดย “พรรคฝ่ายค้าน” จะนัดคุยประเด็นอภิปรายในวันที่ 26 เม.ย.นี้ ซึ่งในการคุยในวันดังกล่าว จะยังไม่สรุปประเด็น ยังไม่พิจารณาว่าจะอภิปรายรัฐมนตรีคนใดบ้าง และยังไม่กำหนดวันยื่นญัตติ ด้วยเหตุผลยังมีข้อมูลใหม่เข้ามาอยู่ตลอด
ก่อนหน้านี้ทาง “พรรคฝ่ายค้าน” เผยไทม์ไลน์เบื้องต้นอาจเกิดขึ้นช่วงปลาย ส.ค.นี้ ภายหลังร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ.2566 ผ่านสภาฯก่อน รวมทั้งหลังวาระ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ครบ 8 ปี ขัดรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ ซึ่งไทม์ไลน์ดังกล่าวใกล้เคียงกับปี 2564 ที่เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคาบเกี่ยวปลายเดือน ส.ค.-ต้นเดือน ก.ย.
ดังนั้นพรรคฝ่ายค้านยังมีเวลาในการเตรียมตัว ตีปี๊บ จากที่เคยที่ย้ำชัดว่ากลางปี 2565 จะมีการเปิดศึกซักฟอก ทำให้ถูกมองว่าเป็นการ “เลื่อน” หรือไม่ ท่ามกลางกระแสข่าวเรื่อง “บิ๊กดีล” หากตกลงกันได้ ก็จะกำหนดวันเปิดศึกซักฟอกได้
นอกจากนี้มีการมองว่าใครจะมาเป็น “นายกฯ” หากมีดีลนี้เกิดขึ้น ทำให้มีการโยงไปที่ชื่อ พล.อ.ประวิตร ขึ้นมา ที่คุยได้กับทุกขั้ว สายสัมพันธ์ไปได้ไกล ผสมกับการขึ้นป้ายอวยพรสงกรานต์ของ พล.อ.ประวิตร ก็ถูกตีความ “เทียบบารมีนายกฯ” มาแล้ว แม้ทั้ง “ป.ประยุทธ์-ประวิตร” จะปฏิเสธชัด ในส่วน พล.อ.ประวิตร มีข้อกำจัดใหญ่คือเรื่องสุขภาพ และที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร ก็โวยใส่ลูกน้องและบรรดากองเชียร์ที่ยุให้ขึ้นนั่ง นายกฯ มาตลอด ซึ่งชื่อ พล.อ.ประวิตร ภาษีถือว่าน้อยกว่า พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะมีคอนเนกชั่นและความเป็นนักการเมืองมากกว่า
ดังนั้นทำให้อีกชื่อที่อาจ “ส้มหล่น” หนีไม่พ้น “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ก็โตมาจาก “พรรคไทยรักไทย” เคยเป็น รมช.สาธารณสุข ในยุคนั้น
ล่าสุดเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา “อนุทิน” ชี้แจงเรื่องของ “เนวิน ชิดชอบ” กับเรื่องค้างคาในอดีต สมัยออกจาก “พรรคเพื่อไทย” ที่แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา การเมืองไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร ซึ่งที่ผ่านมา “อนุทิน” พยายามวางภาพพรรคภูมิใจไทย ให้เข้าได้กับทุกขั้วทุกพรรค และลบภาพ “พรรคเนรคุณ” จึงทำให้ ภท. ในยุคนี้ “เนวิน” หลบไปอยู่หลังฉากแทน
“ส่วนตัวมองว่าไม่ได้มีอะไร ที่เป็นข่าวเป็นการวิเคราะห์และประเมินของสื่อ ของคนที่อยู่นอกเวที คนที่อยู่ในเวทีการเมืองเขาบอกแล้วว่าไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร เราขัดแย้งกันได้ เห็นไม่ตรงกันได้ เดินคนละเส้นทางกันได้ แต่ทางส่วนตัวเราไม่ทำร้ายกัน ไม่เกลียดกัน หลังๆมีแนวทางนี้ เราต้องดึงกลับไปให้ได้ การเห็นต่างเป็นสิ่งที่ดีในระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องไม่นำความเห็นต่างนั้นพกกลับไปบ้านแล้วไปหาวิธีแก้แค้น อันนั้นไม่ถูกต้อง ไม่ถือเป็นระบอบประชาธิปไตย แย่ยิ่งกว่าเผด็จการหากจะเอาความเกลียดชังส่วนตัวไปมุ่งมั่นทำลายกัน แบบนั้นใช้ไม่ได้” อนุทิน กล่าว
“ผมว่ากาลเวลามันก็ มันก็ คนก็อายุมากขึ้น อะไรมากขึ้น แต่ก็ไม่มีอะไรกัน เท่าที่ผมทราบไม่มีการพบปะกัน ไม่มีการพูดคุยอะไรกัน” อนุทิน กล่าว
แต่การที่กระแสข่าวออกมาเช่นนี้ ก็ถูกมองว่าเป็นการ “กดดัน” ให้ นายกฯ “ปรับ ครม.” ใน 2 ตำแหน่งที่ว่างลง หลังขับ “ธรรมนัส” พ้น รมช.เกษตรฯ กับ “อ.แหม่ม”นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้น รมช.แรงงาน โดยเฉพาะตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ริบคืนไป จะนำกลับมาเป็นโควต้าให้พรรคเศรษฐกิจไทยหรือไม่ หรือจะปล่อยโล่งไว้จนยุบสภา มี.ค. 2566 ที่รัฐบาลครบวาระพอดี
นอกจากนี้มีการมองโอกาสที่ “พรรคฝ่ายค้าน” จะมาร่วมรัฐบาลนั้น เป็นไปได้ยาก เพราะบรรดากองเชียร์อาจไม่ปลื้ม หนึ่งในนั้น คือ “กองหนุนตัวพ่อ” อย่าง “สุเทพ เทือกสุบรรณ”อดีตแกนนำ กปปส. รวมทั้ง “ศรัทธามวลชน” ฝั่งฝ่ายค้านเองด้วย ที่จะเป็นผลลบต่อ “พรรคฝ่ายค้าน” ในระยะยาว เว้นแต่ในเวลานั้น นายกฯ อาจไม่ได้ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นได้
ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ตกเป็นรอง พล.อ.ประวิตร ในการต่อรองเกมทางการเมืองระหว่าง 2 ขั้ว 2 ป. โดยเฉพาะการทำ “พรรคสำรอง” รองรับสถานการณ์ในอนาคต หลัง พล.อ.ประวิตร มีพรรคเศรษฐกิจไทยอยู่ในมือ ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ก็เอาแน่เอานอนไม่ได้ จะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ เพียงคนเดียวหรือไม่ แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะยืนยันว่า หัวหน้าพรรคบอกจะเสนอคนเดียว แต่ พล.อ.ประวิตร ก็ไม่เคย “พูดเต็มปากเต็มคำ” ในเรื่องนี้ สุดท้ายแล้วระหว่างพี่น้อง 2ป. จะมี “สัญญาใจลับ” อะไรกันหรือไม่
ทำให้อีกโฟกัสไปอยู่ที่ “พรรคสร้างอนาคตไทย” นำโดยกลุ่ม “สี่กุมาร” ที่ถูกขับพ้น พปชร. ไปรวมตัวกันใหม่ หากดูในวันประชุมใหญ่ครั้งแรก จะพบว่ารวมพลคนอกหักจาก พปชร. ทั้งสิ้น ซึ่งในวันงานเปิดตัว ร.อ.ธรรมนัส ไปร่วมยินดีด้วย โดยมีรายงานว่าทีมงานของ ร.อ.ธรรมนัส เป็นผู้ประสานไปเอง อีกทั้งพรรคสร้างอนาคตไทย ก็ชัดเจนแล้วว่าชูชื่อ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เป็นแคนดิเดตนายกฯ โดยทั้ง “สมคิด-สี่กุมาร-ธรรมนัส” เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง พปชร. มาด้วยกัน แม้ต่อมา “สี่กุมาร” จะถูก พล.อ.ประวิตร ยึดพรรคคืน แต่ในวันนี้ทั้งหมดถูกขับพ้นจาก พปชร.
ทั้งหมดนี้เป็นความเคลื่อนไหวควันหลงช่วงสงกรานต์ ที่ปูทางไปสู่การเมืองช่วงเปิดประชุมสภาอีก 1 เดือนข้างหน้า ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงเชื่อมั่นว่าจะประคองรัฐบาลให้อยู่ครบเทอม มี.ค. 2566 ได้ หลังสั่ง ครม. เร่งทำผลงาน ชี้แจงประชาชน รวมทั้งเปิดไทม์ไลน์ตารางงานรัฐบาลที่ลากยาวไปถึง พ.ค. 2566 ด้านหนึ่งก็สะท้อนว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังลุยต่อ เว้นแต่จะมีใครมา “รับไม้ต่อ” เมื่อนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะวางมือเอง
แต่ใช่ว่าจะราบเรียบไปตลอด เพราะจากนี้ไปการ “ต่อรองทางการเมือง” จะยิ่งเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ กระแสข่าว “บิ๊กดีล” ก็จะมาตามวงรอบเช่นกัน