ไม่พบผลการค้นหา
กสทช. ประกาศยืดเวลาตัดสินดีล 'ทรู-ดีแทค' ไปเป็นเวลาอีก 30 วัน เนื่องจากยังไม่ได้รับผลการศึกษาเพิ่มเติม 6 ข้อกลับมาที่กสทช.

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงาน กสทช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ไม่มีวาระการหารือเรื่องการลงมติเรื่องควบรวมกิจการ ระหว่าง บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เนื่องจากที่บอร์ด กสทช. ทั้ง 5 ราย ยังไม่ได้รับผลศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องโครงสร้างการรวมธุรกิจของบริษัทใหม่ รวมถึงเรื่องผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาด การถือครองคลื่นความถี่ การลดอัตราค่าบริการ ฯลฯ หลังจากได้มีมติการประชุมเมื่อวันที่ 3 ส.ค. ให้สำนักงาน กสทช. ไปรวบรวมเพิ่มเติมแล้วเสนอกลับมายังบอร์ดเพื่อใช้พิจารณาในเรื่องนี้อีกครั้ง โดยได้วางกรอบให้เสนอข้อมูลกลับมาภายใน 30 วัน

"การประชุมบอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ไม่มีการพูดถึงเรื่อง การควบรวมทรู-ดีแทค ยังคงต้องรอข้อมูลใหม่ก่อน โดยวาระที่พูดคุยเป็นเรื่องทั่วไป เช่น การพิจารณาในเรื่องของกระบวนการร้องเรียนของประชาชน ที่มีต่อสำนักงาน กสทช. ในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง กับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เช่น เรื่องที่บรรดาผู้บริโภคต่างถูกคิดค่าบริการเกินจริงหรือไม่ หรือเรื่องการถูกบรรดาแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงแล้วร้องเรียนเข้ามาว่าจะทำอย่างไรเพื่อจะแก้ปัญหาให้ประชาชนได้เร็วขึ้น โดยจะมีวีธีการทำงานเพื่อให้แก้ปัญหาได้เร็วขึ้น"

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา คณะกรรมการ กสทช. ทั้ง 5 ราย ได้กล่าวถึงการพิจารณาเรื่องการควบรวมกิจการระหว่างบริษัททรู-ดีแทค ไว้ว่า การพิจารณาในเรื่องนี้จะไม่มีการยืดเยื้ออย่างแน่นอน โดยได้ให้สำนักงาน กสทช. ไปหาข้อมูลผลการศึกษามาเพิ่มเติมให้รอบคอบในทุกด้าน เพื่อกรรมการทั้ง 5 คน จะได้ใช้ข้อมูลทั้งหมดมาพิจารณาได้อย่างรอบคอบและครบถ้วน ทั้งนี้ได้มอบให้สำนักงาน กสทช. เร่งส่งเรื่องกลับมาโดยเร็วที่สุด โดย กรรมการ กสทช. แต่ละคน จะมีมติอย่างไรขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกรรมการ กสทช. แต่ละคนไม่จำเป็นต้องมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน แต่ทุกคนก็ยังสามารถทำงานร่วมกันได้ โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นหลัก

สำหรับ มติเมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น ระบุไว้ว่า ให้ทางสำนักงาน กสทช. ไปวิเคราะห์ข้อมูลที่มีหลักฐานทางวิชาการและข้อมูลเชิงประจักษ์รองรับเพิ่มเติมในประเด็นต่อไปนี้

1.วิเคราะห์โครงสร้างการรวมธุรกิจของทรูและดีแทคโดยให้รวมถึงผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งหมดที่ทรูและดีแทคและ New Co (ชื่อบริษัทใหม่หากมีการควบรวมแล้ว) มีอำนาจควบคุม

2.วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการบริหารจัดการ การดำเนินธุรกิจ การแข่งขันในตลาดของผู้รับใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่บริษัท New Co เข้าเป็นผู้มีอำนาจควบคุม

3.วิเคราะห์ผลดีอันเกิดจากการประหยัดเนื่องจากขนาด (economies of scale) อย่างเป็นรูปธรรมและแนวทางในการส่งต่อผลดีดังกล่าวไปยังผู้บริโภคอย่างประเมินได้ชัดเจน

4.วิเคราะห์การถือครองคลื่นของบริษัท New Co ว่าก่อให้เกิดการได้เปรียบและมีผลต่อการแข่งขันในตลาดหรือไม่อย่างไร

5.วิเคราะห์แนวทางในการลดอัตราค่าบริการ การรักษาคุณภาพการบริการเพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภคในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

6. วิเคราะห์มาตรการการส่งเสริม MVNO (บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน) และเสนอแนวทางในการปรับปรุงกฎเกณฑ์ เพื่อให้ MVNO สามารถเกิด คงอยู่ และแข่งขันได้ในตลาดเพื่อเพิ่มระดับการแข่งขันให้สูงขึ้น รวมทั้งทางเลือกให้ผู้บริโภค