ไม่พบผลการค้นหา
ศาลอาญากรุงเทพใต้ ยกฟ้อง 'ลูกเกด ชลธิชา-แมน ปกรณ์' และพวก คดี ม.116 เหตุชุมนุมหน้า สน.ปทุมวัน ปี 58

วันที่ 18 ธ.ค. 2566 เวลา 10.00 น. ห้อง 405 ชั้น 4 ศาลอาญากรุงเทพใต้ เจริญกรุง แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ได้มีการอ่านคำพิพากษาชั้นต้น คดีชุมนุมหน้า สน.ปทุมวัน 24 มิ.ย. 2558 ข้อหา ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในราชอาณาจักร (ม.116)

โดยจำเลยที่มาศาลในวันนี้ได้แก่ วสันต์ เสดสิทธิ์, พายุ บุญโสภณ, อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์, ศุภชัย ภูคลองพลอย, ภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์, สุวิชชา พิทังกร, สุไฮมี ดูละสะ, ปกรณ์ อารีกุล, ชลธิชา แจ้งเร็ว, รัฐพล ศุภโสภณ, อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ และทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์

สรุปคำพิพากษาเบื้องต้น ศาลเห็นว่า การชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 ที่หน้า สถานีตำรวจนครบาลปทุมวันของจำเลยทั้งหมด เป็นการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีการใช้อาวุธ ไม่ได้ปรากฏเหตุการประทะหรือใช้กำลังกับเจ้าหน้าที่ และยุติการชุมนุมเองโดยไม่มีการสลายการชุมนุมจากเจ้าหน้าที่ แม้จะมีการปราศรัยโจมตี คสช. และเชิญชวนประชาชนให้ไม่ยอมรับอำนาจของการรัฐประหาร ก็ถือว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ตามสิทธิพึงมีในรัฐธรรมนูญชั่วคราวซึ่งบังคับใช้อยู่ในขณะนั้น จึงพิพากษายกฟ้อง 

อนึ่ง คดีนี้ในตอนแรกมีผู้ถูกกล่าวหารวมทั้งหมด 17 ราย โดยมีอีก 4 ราย ที่เคยถูกแจ้งข้อหา ได้แก่ วรวุฒิ บุตรมาตร, ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, รังสิมันต์ โรม และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แต่อัยการยังไม่ได้คำสั่งฟ้องทั้งสี่แต่อย่างใด 

สำหรับมูลเหตในคดีนี้ ตามคำฟ้องของพนักงานอัยการ ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 24 มิ.ย 2558 กลุ่มจําเลยได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นเวทีปราศรัยชั่วคราว บริเวณใกล้กับ สน.ปทุมวัน โดยมีกลุ่มมวลชนผู้ให้การสนับสนุนอยู่ร่วมด้วยประมาณ 200 คน กล่าวโจมตีรัฐบาลในทํานองว่าไม่ยอมรับหมายจับที่ออกโดยอํานาจศาลทหาร ไม่ยอมรับอํานาจของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มาจากการรัฐประหาร และกล่าวปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์ผลกระทบจากการรัฐประหารในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ในด้านสิทธิมนุษยชน ทรัพยากร และเสรีภาพในการแสดงออก และกล่าวโจมตีว่ารัฐบาลหนุนหลังกลุ่มนายทุนใช้อํานาจข่มเหงประชาชน ไม่ยอมรับการทํางานของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการปลุกปั่นท้าทายเจ้าหน้าที่ทหาร และตํารวจ ให้เข้าไปทําการจับกุมตัวจำเลยกับพวกบางส่วน ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลทหาร ในความผิดฐานมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจํานวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จนเจ้าหน้าที่ทหารและตํารวจหวั่นเกรงว่าหากใช้ดุลพินิจเข้าไปสลายการชุมนุมหรือบุกเข้าไปจับกุมผู้ต้องหาดังกล่าว ออกมาจากกลุ่มมวลชน อาจเกิดการชุลมุนและต่อต้านของกลุ่มมวลชนเพื่อช่วยเหลือหรือแย่งตัวผู้ต้องหา อันจะนําไปสู่วิกฤติการจลาจลก็เป็นได้ 

นอกจากนี้ จําเลยกับพวกยังได้เชิญชวนประชาชนทั่วไปให้ออกมาร่วมต่อต้านรัฐบาล พร้อมกับปลุกระดมประชาชนให้ไม่ยอมรับในอํานาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นการกระทําที่ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไปด้วยวาจา โดยมีเจตนาอันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

ทั้งนี้ คดีนี้สืบเนื่องมาจาก พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ (ยศขณะนั้น) เจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายกฎหมาย คสช. ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดี กรณีเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2558 ซึ่งมีการชุมนุมให้กำลังใจกลุ่มนักกิจกรรมและผู้ชุมนุมที่ถูกออกหมายเรียกไปดำเนินคดีจากการชุมนุมครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 ทางกลุ่มนักกิจกรรมต้องการแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงในวันดังกล่าว และปฏิเสธการเข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากไม่ยอมรับการใช้อำนาจของ คสช. จึงไปทำกิจกรรมที่หน้า สน.ปทุมวัน

โดยเมื่อกลุ่มนักศึกษาจะเดินทางเข้าแจ้งความกลับใน สน.ปทุมวัน กลับถูกปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ สน. จึงมีการตั้งเวทีปราศรัยขึ้นบริเวณหน้าสถานีตำรวจ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่เปิดให้ผู้จะเข้าแจ้งความเท่านั้นเข้าไปใน สน. ขณะทำกิจกรรมมีการร้องเพลง มอบดอกไม้ อ่านบทกวี ดำเนินไปตลอดบ่ายถึงค่ำ ก่อนจะมีการยุติการชุมนุมในเวลาต่อมา 

ปกรณ์ อารีกุล หนึ่งในจำเลยคดีนี้ กล่าวว่า “หลังจากนี้คงต้องรอดูว่าทางพนักงานอัยการจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ เบื้องต้นตนและเพื่อนๆ ขอขอบคุณ ศาลที่มอบความยุติธรรมให้กับพวกตน ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่พึงกระทำได้ไม่ว่าผู้มีอำนาจจะมาจากการรัฐประหารหรือหรือไม่ก็ตาม”