ไม่พบผลการค้นหา
สำรวจที่มาที่ไป กอ.รมน. องค์กรพิเศษอำนาจ ขอบเขตงานครอบจักรวาล พวกเขาเกิดขึ้นมาด้วยเหตุใด และทำไมจึงยังคงอยู่

ถือเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงพอสมควรกับอนาคตของ องค์กรที่ชื่อว่า ‘กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร’ หรือ กอ.รมน. หลังจากพรรคก้าวไกล ปักหมุดเป็นวาระสำคัญของพรรคโดยการยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ. ยกเลิก พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 หรือร่างกฎหมาย ยุบ กอ.รมน. ซึ่งเป็นการยื่นกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯเป็นครั้งแรก (ในสมัยที่เป็นพรรคอนาคตใหม่กฎหมายชุดแรกที่ยื่น กฎหมายยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร)

ปัจจุบันร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผ่านเว็บไซต์ของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแล้ว กว่า 4.5 หมื่นคน ทว่าเสียงส่วนใหญ่ 72.21 เปอร์เซ็นกลับไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าาว มีเพียง 27.22 เปอร์เซ็นเท่านั้นที่เห็นด้วยกับการยุบเลิก กอ.รมน. (ณ วันที่ 31 ต.ค. 2566)

ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่าในช่วงเวลาใกล้เคียงกันร่างกฎหมายฉบับอื่นๆ มีผู้เข้ามาแสดงความเห็นในสัดส่วนที่น้อยมาก แต่เมื่อเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับ กอ.รมน. กลับมีผู้เข้ามาแสดงความเห็นจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ และส่วนมากไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก


จุดกำเนิด กอ.รมน. องค์กรปราบปราม ‘คอมมิวนิสต์’

แต่ก่อนที่จะเลือกตัดสินใจว่า กอ.รมน. ควรมีอยู่ต่อไปหรือไม่ ลองย้อนกลับมาที่จุดเริ่มต้นกันอีกครั้งว่า องค์กรนี้ มีที่มาอย่างไร หน้าที่อของพวกเขาคืออะไร และตลอดช่วงเวลาที่ดำรงอยู่มามีความเปลี่ยนแปลงในทางโครงสร้างไปอย่างไรบ้าง 

หากจะพูดถึงจุดเริ่มต้นของ กอ.รมน. จำเป็นต้องย้อนกลับไปในยุคสงครามเย็น ในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญหน้ากับสงครามตัวแทนระวังขั้วอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย กับคอมมิวนิสต์ ในทศวรรษที่ 2490

ทศวรรษที่ 2500 อุมการณ์คอมมิวนิสต์ได้แผ่อิทธิมาถึงประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านมากพอสมควร ภายใต้คำแนะนำของ CIA รัฐไทยได้ลงทุนกับการใช้วิธีการอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากการใช้กำลังเข้าปราบปราม โดยหันมาดำเนินนโยบายการเข้าไปพัฒนาพื้นที่ชนบท พร้อมกับการประสานพลังมวลชน โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลาง แน่นอนว่านี่ไม่ใช่การสู้รบเพื่อเอาชนะกันในทางทหารเท่านั้น แต่นี่ถึงเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามแย่งชิง ‘ประชาชน’ ภายใต้สิ่งที่เรียกว่าปฏิบัติการจิตวิทยา

จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นจึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 เพื่อจัดตั้งกองบัญชาการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (บก.ปค.) ขึ้นในปี 2508 โดยมีภาระกิจหลักคือ การต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 

ทว่าความหมายของ ‘ความมั่นคง’ กลับถูกตีความกว้างขึ้น งานจำพวกขุดคลอง สร้างถนน ฝึกอาชีพ ฯลฯ กลายเป็นงานหลักขององค์กรด้านความมั่นคงแห่งนี้ ทำไปพร้อมๆ การจัดตั้งความคิดให้ชาวบ้าน

ต่อมาในปี 2512 กองบัญชาการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (บก.ปค.) ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น กองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอ.ปค.) จากนั้นในปี 2516 ได้มีการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ซึ่งยังเป็นชื่อที่มีการใช้งานอยู่จนถึงทุกวันนี้ 

ช่วงก่อนเกิดปรากฎการณ์ขวาพิฆาตซ้าย ในยุค 6 ตุลา 2510 กอ.รมน. มีส่วนสำคัญในการจัดตั้งกลุ่มทวลชนฝ่ายขวา ทั้งกลุ่ม นวพล กระทิงแดง อภิรักษ์จักรี รวมทั้งลูกเสือชาวบ้าน ซึ่งกลุ่มเหล่านี้เกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ต.ค. 2519 

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ กอ.รมน. ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ฆาตกรรมชาวบ้านนับพันคนในจังหวัดพัทลุงเมื่อปี 2515 หรือเหตุการณ์ “ถีบลงเขา เผาลงถังแดง” รวมถึงการสังหารประชาชน และเผาหมู่บ้านที่บ้านนาทราย จังหวัดหนองคายในปี 2517 

แม้ในท้ายที่สุดสงครามคอมมิวนิสต์ภายในประเทศจะสิ้นสุดลง แต่สถานะของ กอ.รมน. กลับไม่ได้หยุดลงด้วย กอ.รมน. แต่หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 กระแสสังคมโดยเฉพาะชนชั้นกลางไม่เอาทหารแล้ว กองทัพจะได้ลดบทบาทตัวเองในทางการเมืองลงไป แต่ยังคงทำงานสาธารณะ ในด้านของการบริการประชาชนอยู่ กอ.รมน. ในช่วงเวลานั้นจึงเป็นเหมือนองค์กรที่ถูกลืมไปโดยปริยาย

ต่อมาในปี 2543 ได้มีการประกาศยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ชีวิตของ กอ.รมน. ก็ไม่ได้สิ้นสุดลง เพราะในเวลาเดียวกัน ชวน ได้ประกาศต่ออายุ กอ.รมน. โดยใช้คำสั่งนายกรัฐมนตรี โดยให้ทำเรื่องยาเสพติด ความมั่นคงชายแดน การข่าว ปฏิบัติการจิตวิทยา แต่ก็ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากนัก

ต่อมาในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ก็ได้มีการประกาศรับรองสถานะของ กอ.รมน. อีกครั้ง แต่นัยของการออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีนั้นคือ การให้ลดบทบาทในการจัดการปัญหาภาคใต้ลง และมีบทบาทสนับสนุนการแก้ไขปัญหายาเสพติดแทน นอกจากนี้ยังมีความพยายามในการจัดโครงสร้างใหม่ให้ กอ.รมน.จังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการ มาขึ้นตรงกับผู้อำนวยการ กอ.รมน.ส่วนกลาง ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรี จากเดิมที่อยู่ภายใต้ กอ.รมน.ภาค ที่มีแม่ทัพภาคเป็นผู้ดูแล นัยสำคัญคือ ความพยายามดึง กอ.รมน. ที่เดิมอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพให้มาอยู่ภายใต้กำกับการดูแลของกระทรวงมาดไทย


ฟื้นคืนชีพอย่างเป็นทางการ ลงหลักปักฐานหลังรัฐประหารปี 49

สถานะของ กอ.รมน. กลับมาตั้งมั่นอย่างเป็นทางการเอีกครั้งหลังการรัฐประหารปี 2549 แม้ต่อมาจะมีการกล่าวถึงการยึดอำนาจครั้งนั้นว่าเป็น ‘การรัฐประหารที่เสียของ’ แต่มรดกชิ้นสำคัญของการรัฐประหารครั้งนั้นคือ การใช้สภานิติบัญญัติที่มาจากการแต่งตั้งทำหน้าที่เป็นสภาตรายางเห็นชอบกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับคือ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 และพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551

มากไปกว่านั้น ในช่วงเวลาที่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พบว่า มีปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย เพราะการลงมติในวาระ 2 และ 3 ไม่ครบองค์ประชุมโดย สนช.ในขณะนั้นมีอยู่ทั้งหมด 242 คน กึ่งหนึ่ง หรือ "องค์ประชุม" คือต้องมีสมาชิกเข้าประชุมเกิน 121 คน แต่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร วาระ 2 มีผู้ลงคะแนนเพียง 100 คน และวาระ 3 มีผู้ลงคะแนนรวม 115 คน ซึ่งต่ำกว่าจำนวนเสียงกึ่งหนึ่งซึ่งเป็น ‘องค์ประชุม’

ประเด็นนี้ ทวี สอดส่อง มองว่า กฎหมาย กอ.รมน.มีสภาพเป็น "อภิสิทธิ์ของกฎหมาย" คือเป็นกฎหมายที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแต่ยังใช้บังคับอยู่ได้

ผลจากกฎหมายทั้งสองฉบับนี้คือ การลงหลักปักฐานให้องค์กรซึ่งเดิมมีสถานะที่ค่อยๆ ถูกลดบทบาทลง และดำรงอยู่ได้โดยการออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี กลายเป็นองค์กรถาวร โดยมีหน้าที่หลักๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบด้วย 

1.ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินแนวโน้มของสถานการณที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคาม ด้านความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดําเนินการต่อไป

2.ให้มีอํานาจหน้าที่เสนอ แผนและแนวทางในการปฏิบัติงานและดําเนินการต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ ความเห็นชอบ เมื่อคณะรัฐมนตรีให ความเห็นชอบแล้วให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามแผนและแนวทางนั้น

3.อํานวยการ ประสานงาน และเสริมการปฏิบัติของหนวยงานของรัฐที่เกี่ยวข องในการ ดําเนินการตามแผนและแนวทางในการปฏิบัติงานตามแผนงานความมั่นคงของ กอ.รมน.

4.เสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักในหน้าที่ที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ ซึ่งชาติ ศาสนา และ พระมหากษัตริย์ สร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามี ส่วนร่วมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และความสงบเรียบร้อยของสังคม

5.ดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติหรือตามที่คณะรัฐมนตรี สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย

จะเห็นได้ว่า กอ.รมน. มีอำนาจหน้าที่ที่ระบุไว้เป็นเพียงหลักการกว้างได้ไม่ได้มีการระบุในลักษณะเฉพาะเจาะจง การออกแบบแผน และแนวทางในการปฏิบัติงานจึงขึ้นอยู่กับการตีความ และดุจพินิจของผู้วางนโยบายเป็นหลัก เราจึงงานที่ผ่านมาของ กอ.รมน. ที่หลากหลาย และหลายครั้งมีความทับซ้อนกับงานของหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ อาทิ มีส่วนร่วมในการจัดสรรที่ดินที่ทำกินให้กับเกษตรกร ปลูกป่า สร้างฝาย และที่สำคัญคือการทำแผนงานแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ยังมีงานด้านวัฒนธรรมเช่น จัดประกวดภาพยนตร์สั้น และเป็นผู้สนับสนุนหลักในงานคอนเสิร์ต  รวมทั้งยังมีการจัดอบรมในประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ภายในโรงเรียนประถมศึกษา และมัธยมศึกษา 

สิ่งที่มากไปกว่านั้นคือ ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ (แม้ยังไม่ถึงขั้นที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ)  ครม. สามารถมีมติมอบหมายให้ กอ.รมน. เป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกันปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่และระยะที่กำหนดไว้ได้ โดย 1.ใช้อำนาจหน้าที่แทนหน่วยงานรัฐอื่น 2.ออกข้อกำหนด ให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามคำสั่ง กอ.รมน. 3.ห้ามประชาชนเข้าหรือออกจากพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่กำหนดไว้ 4.ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (curfew) 5.ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน 6.ห้ามใช้เส้นทางหรือยานพาหนะ 7.ห้ามบุคคลใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ 8.เจ้าหน้าที่ กอ.รมน. สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานร่วมสอบสวนคดีความทางอาญาในฐานะพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ 

โดยที่กระทำต่างๆ นี้ ไม่ถือว่าอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ความหมายคือ ปัจเจกบุคคลไม่สามารถฟ้องร้องเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐผ่านศาลปกครองได้ ขณะที่ถ้าจะฟ้องศาลอาญาและศาลแพ่งเกี่ยวกับข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำใดของกอ.รมน.ก็ทำได้ต่อเมื่อการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐได้สิ้นสุดลงแล้ว แปลความได้ว่า ต่อให้คำสั่งดังกล่าวของรัฐละเมิดกฎหมายและสิทธิของประชาชน ศาลยุติธรรมก็ไม่สามารถสั่งยกเลิกคำสั่งดังกล่าวได้ 

พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า หลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลง ปัญหาที่ทำให้สังคมไทยไม่มีความมั่นคงในมุมมองของทหารคือ ปัญหาจากนักการเมืองที่คอร์รัปชั่น ซื้อเสียง ชาวบ้านขายสิทธิ โง่ จน เจ็บ และลามไปถึงการเมืองแบบรัฐสภาที่ไม่มีสามารถควบคุมได้ เพราะ ผู้นำทหารไม่เชื่อในการตัดสินใจของประชาชน 


 โครงสร้าง กอ.รมน. แทรกซึมทั่วถึงทุกพื้นที่ 

โครงสร้างของ กอ.รมน. ส่วนกลางในปัจจุบัน ถูกปรับเปลี่ยนอีกครั้งหลังจากการรัฐประหารของ คสช. โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารได้ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 51/2560 (แม้คำสั่งหัวหน้า คสช. หลายฉบับจะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ฉบับนี้ยังคงอยู่ และมีบังคับใช้) เปลี่ยนแปลงโครงสร้างกอ.รมน. ส่วนกลาง ให้ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย อัยการสูงสุด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อํานวยการสํานักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ

โครงสร้างที่ปรับเปลี่ยนไปนี้ มีความพิเศษอย่างหนึ่งคือ การอัยการสูงสุด เข้ามาด้วย นอกจากนี้โครงสร้างในระดับภาคของ กอ.รมน.มีการกำหนดให้ ผู้อำนวยการ กอ.รมน.ภาค ซึ่งก็คือแม่ทัพภาค ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ และมีอธิบดีอัยการภาคที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีอาวุโสสูงสุดเข้ามาเป็นกรรมการของคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคด้วย

ประเด็นนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ และเป็นเรื่องที่ต้องจับตาว่า การร่วมมือกันระหว่างกองทัพและอัยการภาคจะออกมาในรูปแบบใด เนื่องจากอัยการเป็นหน่วยงานในการทำหน้าที่ฟ้องคดี และช่วงเวลาที่ผ่านมากองทัพก็ได้กลายเปแ็นโจทก์ฟ้องร้องดำเนินคดีกับประชาชนจำนวนมาก ทั้งในกรณีที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งใน 3  จังหวัดชายแดนภาคใต้ และประเด็นละเอียดอ่อนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัติรย์ 

นอกจากนี้คำสั่งดำกล่าว ยังกำหนดให้ การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรหมายถึง การดำเนินการเพื่อป้องกัน ควบคุม แก้ไข และฟื้นฟูสถานการณ์ใดที่เป็นภัย หรืออาจเป็นภัยอันเกิดจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ก่อให้เกิดความไม่สงบสุข ทำลาย หรือทำความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ รวมถึงในกรณีที่เกิดหรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัยตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้กลับสู่ภาวะปกติเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ

ต่อประเด็นนี้ สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงเคยเขียนบทความไว้ว่า คำสั่ง คสช.นี้ทำให้ กอ.รมน.มีสถานะเป็น 'ผู้ควบคุมงานความมั่นคง' ของประเทศไว้ทั้งหมดและมีลักษณะเป็น 'รัฐซ้อนรัฐ' 

โดยสุรชาติเห็นว่า จากการกำหนดนิยามใหม่เช่นนี้ ภารกิจของ กอ.รมน. คือการขยายบทบาทในเรื่องของการป้องกันภายในสำหรับศตวรรษที่ 21 เพราะคำสั่งนี้เปิดโอกาสให้ กอ.รมน.สามารถกำหนดเองว่า “สถานการณ์ใดที่เป็นภัยหรืออาจเป็นภัย” ซึ่งเท่ากับเปิดช่องทางให้เกิดการตีความได้อย่างไม่จำกัด อันจะทำให้กองทัพในอนาคตสามารถมีบทบาทกว้างขวางอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน


งบประมาณ และจำนวนบุลคลากร

ในส่วนของบุคลากรภายใต้สังกัดของ กอ.รมน. นั้น วอยซ์ เคยพยายามขอข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ถึงจำนวนบุคลากรของ กอ.รมน.ทั้งหมด ได้คำตอบว่า "ไม่มี" เพราะเป็นหน่วยงานลักษณะพิเศษ  

"เราก็เคยขอตัวเลขบุคลากรกับเขาไปเหมือนกัน แต่ไม่เคยได้รับ" เจ้าหน้าที่ ก.พ.กล่าว 

อย่างไรก็ตาม เท่าที่สามารถสืบค้นได้ พบเพียงจำนวนบุคคลากร ของ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้าเท่านั้น (โครงสร้างที่ใหญ่ที่สุดของ กอ.รมน. ทำหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้) พบมีบุคคลากร (รวมกลุ่มที่เป็นอาสาสมัคร) ประมาณปีละ 50,000-70,000 คน โดยมีจำนวนเพิ่มมากที่สุดในช่วงรัฐประหาร โดยในปี 2565 บุคลากรอยู่ที่ 54,101 คน

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ทวี สอดส่อง ในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2554 เคยเปิดเผยว่า เอาเข้าจริงแล้ว เจ้าหน้าที่ประจำของ กอ.รมน. ไม่ถึง 300 คน ที่เหลือเป็นเพียงกลุ่มอาสาสมัคร และประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องงบประมาณของ กอ.รมน. ที่ได้งบเฉลี่ยปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท ถูกจัดเป็น ‘งบรายจ่ายอื่น’ ประมาณ 95 - 98 %

‘งบรายจ่ายอื่น’ หมายถึง รายจ่ายที่ไม่เข้าลักษณะประเภทงบรายจ่ายใดงบรายจ่ายหนึ่ง หรือรายจ่ายที่สำนักงบประมาณกำหนดให้ใช้จ่ายในงบรายจ่ายนี้ เช่น (1) เงินราชการลับ (2) เงินค่าปรับที่จ่ายคืนให้แก่ผู้ขายหรือผู้รับจ้าง (3) ค่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษา วิจัย ประเมินผล หรือพัฒนาระบบต่างๆ ซึ่งมิใช่เพื่อการจัดหา หรือปรับปรุงครุภัณฑ์ ที่ดินและหรือสิ่งก่อสร้าง (4) ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราว (5) ค่าใช้จ่ายสำหรับหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ (ส่วนราชการ) (7) ค่าใช้จ่ายสำหรับกองทุน หรือเงินทุนหมุนเวียน (6) รายจ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้ 

ทวี เห็นว่า "งบรายจ่ายอื่น" เป็นเรื่องนามธรรม ตรวจสอบยากมาก ถึงมากที่สุด

ส่วนงบประมาณ สำนักงบประมาณระบุว่า กอ.รมน.ได้รับงบดังนี้

  • 2555 - 6,915 ล้านบาท
  • 2556 - 7,980 ล้านบาท
  • 2557 - 8,202 ล้านบาท
  • 2558 - 8,906 ล้านบาท
  • 2559 - 10,201 ล้านบาท
  • 2560 - 6,358 ล้านบาท
  • 2561 - 10,050 ล้านบาท
  • 2562 - 10,240 ล้านบาท
  • 2563 - 9,894 ล้านบาท
  • 2564 - 8,855 ล้านบาท
  • 2565 - 7,765 ล้านบาท
  • 2566 - 7,867 ล้านบาท

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อมูลในระดับกระพี้ หรือพื้นผิวเท่านั้น เพราะข้อมูลที่ลึกไปมากกว่านี้ โดยเฉพาะการดำเนินการต่างๆ ของ กอ.รมน. ที่ไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกประชาสัมพันธ์ เป็นเรื่องยากที่จะเข้าถึง และเมื่อยิ่งพยายามเข้าใกล้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นการเดินเข้าไปชนกำแพงที่มีชื่อว่า ‘ความมั่นคง’ มากขึ้นเท่านั้น

อ้างอิง

https://prachatai.com/journal/2019/09/84410

https://prachatai.com/journal/2018/02/75638

https://prachatai.com/journal/2018/02/75615

https://prachatai.com/journal/2018/03/75837

https://voicetv.co.th/read/o9V3_54te