ไม่พบผลการค้นหา
พระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ เสร็จสิ้นลงแล้วเมื่อวานนี้ (19 ก.ย.) เป็นอันจบการไว้อาลัยแด่อดีตพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน พร้อมกันกับการกลับมาของการเมืองสหราชอาณาจักร ที่จะฟื้นคืนความร้อนแรงขึ้นมาอีกครั้ง เช่นก่อนหน้าข่าวเศร้าของคนทั้งชาติ

ปัจจุบันนี้ หลายครัวเรือนของสหราชอาณาจักรกำลังเผชิญหน้าอยู่กับราคาสินค้า และราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น ตลอดจนการมาถึงของภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยหลังจากการลาออกจากหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมของ บอริส จอห์นสัน เมื่อ 2 เดือนครึ่งที่ผ่านมา กับการขึ้นมามีอำนาจของ ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่เพียงแค่ 48 ชั่วโมง สหราชอาณาจักรกลับต้องเจอกับข่าวการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทำให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรกลายมาเป็นรัฐบาลครึ่งผีครึ่งคน เพราะไม่สามารถทำงานอะไรได้มากนักในช่วงการไว้ทุกข์

อย่างไรก็ดี พระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จบลงแล้ว การกลับมาถกเถียงกันในทางการเมืองและรัฐสภาอังกฤษกลับมากู่ก้องอีกครั้ง และคำเรียกร้องให้รัฐบาลของทรัสส์ลงมือทำอะไรบางอย่างที่ชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ ทรัสส์จะมีกำหนดการในการบินไปสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุมในสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก

ทรัสส์จะเข้าพบและหารือกับ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นทางการครั้งแรก หลังจากกำหนดการเดิมมีการวางแผนการพูดคุยกันที่กรุงลอนดอน การพูดคุยในเรื่องการเมืองและการระหว่างประเทศจะกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ท่ามกลางวิกฤตราคาพลังงาน ค่าครองชีพ และสงครามยูเครน ปัญหาทั้งภายนอกและภายในสหราชอาณาจักรเปิดฉากปะทะกับนายกรัฐมนตรีหญิงคนใหม่ของสหราชอาณาจักรแล้ว

ทรัสส์จะต้องพยายามหาทางทำให้สหราชอาณาจักรกลับมามีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยเธอกำหนดเป้าหมายหลักหลังจากการเข้ารับตำแหน่งว่า เธอจะเน้นนโยบายของตนเองไปกับการช่วยเหลือค่าพลังงาน และระบบสาธารณสุขของประเทศแก่ประชาชน อย่างไรก็ดี นโยบายการให้การสนับสนุนยูเครนตั้งแต่รัฐบาลจอห์นสัน จะยังคงเดินหน้าต่อไปภายใต้ทรัสส์ ซึ่งเธอเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในคณะรัฐมนตรีชุดก่อน

ยังคงมีการตั้งคำถามถึงท่าทีของทรัสส์ต่อจีน หลังจากความสัมพันธ์ของจีนกับสหราชอาณาจักรอยู่ในจุดที่หวานชื่นมากที่สุดเมื่อ 7 ปีก่อน ในยุคสมัยของ เดวิด คาเมรอน อดีตนายกรัฐมนตรี ก่อนที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติจะเข้าสู่จุดเยือกเย็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้

ในทางเศรษฐกิจ ทรัสส์กำลังวางกลยุทธ์ในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าวิธีการที่ทรัสส์วางเอาไว้อาจจะนำมาซึ่งปัญหาที่จะตามมาในภายหลัง โดยรัฐบาลชุดใหม่ถูกคาดหวังว่าจะมีการยกเลิกการจำกัดโบนัสของธนาคาร ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นเรื่องทางการเมือง มากกว่าการที่จะช่วยเหลือค่าครองชีพทั้งค่าอาหารและพลังงานของประชาชน ทรัสส์ยังให้คำสัญญาว่าตนจะทำการลดภาษีลงด้วย

การพิจารณาการร่างกฎหมายแช่แข็งราคาพลังงาน และระบบสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรหยุดชะงักลงชั่วคราว หลังจากการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แต่การพิจารณาและถกเถียงกันในรัฐสภาต่อกฎหมายดังกล่าวจะกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง รัฐบาลสหราชอาณาจักรกำลังเล็งที่จะช่วยเหลือธุรกิจต่างๆ ในประเทศ หลังจากการประสบกับภาวะเศรษฐกิจซบเซา เนื่องจากตลาดพลังงานที่ทำให้ปัญหาของภาคธุรกิจเกิดความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

แม้ว่าทรัสส์จะไม่ชอบนโยบายที่ถูกเธอเรียกว่าเป็น “การให้ทาน” แต่ขนาดของวิกฤตเศรษฐกิจภายในสหราชอาณาจักร อาจทำให้หลายคนกลายเป็นบุคคลและบริษัทล้มละลายได้ ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลชุดใหม่ของทรัสส์ล้มละลายตามไปด้วย มันจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ทีทรัสส์จะต้องเข้ามาแทรกแซงกลไกทางเศรษฐกิจของประเทศครั้งใหญ่ 

ฤดูหนาวกำลังเข้าใกล้มาเรื่อยๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน หลังจากการเกิดระบาดของโควิด-19 รัฐบาลของทรัสส์กำลังจะต้องรับมือกับวิกฤตด้านสาธารณสุข ซึ่งระบบสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรยังคงถูกประชาชนคาดหวังว่าจะมีความยุติธรรมมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางโพลของประชาชนที่มองไปในแนวทางเดียวกันว่า ทรัสส์กำลังจะเจอกับความท้าทายที่รอเธออยู่ในภายภาคหน้าในทุกด้าน

ตลอด 10 วันของความเงียบงันและเคร่งขรึมจากความเศร้าโศก ภายหลังจากการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะเปลี่ยนโหมดกลับเข้ามาสู่ความคึกคักและเดือดดาลในทางการเมืองภายใต้ยุคของทรัสส์แทนแล้ว


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/uk-politics-62959380?fbclid=IwAR1A2wcDQmtxXWM1WuTAzIQ-Y40tdYyGydtL-_XDr3tUw3lRCfe4VINVPYc