25 พฤษภาคม 2563 - 'สายชล ทรัพย์มากอุดม' หัวหน้าสายงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าจากการรายงานข่าวในต่างประเทศเกี่ยวกับการรั่วไหลของข้อมูลลูกค้าเอไอเอสนั้น บริษัทฯ ขอเรียนว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า แต่เป็นข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งานอินเตอร์เน็ตในภาพรวมบางส่วน และไม่ใช่ข้อมูลที่สามารถก่อให้เกิดความเสียหายด้านการเงินหรือด้านอื่นๆ โดยกรณีนี้เกิดจากการทดสอบเพื่อปรับปรุงคุณภาพเครือข่ายที่มีขึ้นในเดือนพฤษภาคม และภารกิจดังกล่าวได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว พร้อมยืนยันอีกครั้งว่า ไม่มีลูกค้ารายใดได้รับผลกระทบทั้งด้านการเงินและด้านอื่นๆ อย่างแน่นอน
หัวหน้าสายงานประชาสัมพันธ์ของเอไอเอสยังระบุว่า เอไอเอสให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ที่ผ่านมามีการปฏิบัติตามและทบทวนขั้นตอนการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุดตามมาตรฐานระดับสากลอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม บริษัทต้องขออภัยที่อาจทำให้ลูกค้าเป็นกังวลใจจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้เอไอเอสได้แก้ไขปรับปรุงขั้นตอนการใช้ข้อมูลเพื่อทดสอบบริการเรียบร้อยแล้ว โดยท้ายที่สุดนี้ขอให้ลูกค้าและประชาชนโปรดมั่นใจและเชื่อมั่นในมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยที่บริษัทดำเนินการมาโดยตลอด
แถลงการณ์ของเอไอเอสมีขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ข่าวไอที 'เทคครันช์' รายงานว่าข้อมูลอินเทอร์เน็ตคนไทยรั่วไหลกว่า 8,000 ล้านรายการ โดยอ้างอิงบทความของ 'จัสติน เพน' นักวิจัยด้านความมั่นคงที่เขียนลงบล็อกโพสต์ว่า พบฐานข้อมูลนี้บนอินเทอร์เน็ตซึ่งไม่ต้องอาศัยรหัสผ่านเข้าถึงเมื่อวันที่ 7 พ.ค. โดยเป็นการรวมกันของข้อมูลประเภท 2 ประเภท ได้แก่ DNS query logs และ NetFlow logs ซึ่งทำให้ผู้ที่เข้าถึงข้อมูลดังกล่าวสามารถปะติดปะต่อได้อย่างรวดเร็วว่าผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกำลังดูเว็บอะไร
ทั้งนี้ เทคครันช์จะระบุตรงกันกับเอไอเอสว่าข้อมูล DNS query ไม่ได้บรรจุข้อความส่วนตัว อีเมล หรือข้อมูลอ่อนไหวของผู้ใช้งาน เช่น พาสเวิร์ด แต่ข้อมูลดังกล่าวอาจถูกนำไปใช้ระบุว่าผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเข้าเว็บไซต์และใช้แอปพลิเคชันอะไร ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงสำหรับบุคคลบางอาชีพ เช่น นักข่าวและนักกิจกรรม ที่ประวัติการใช้งานอินเทอร์เน็ตของพวกเขาสามารถถูกใช้เพื่อระบุแหล่งข่าวได้
ขณะเดียวกัน ข้อมูล DNS query ยังสามารถนำไปใช้เพื่อทำความเข้าใจกิจกรรมการเข้าอินเทอร์เน็ตของบุคคลได้ ซึ่งมีประโยชน์ต่อบริษัทโฆษณา
อ้างอิง TechCrunch