ไม่พบผลการค้นหา
'วิษณุ' ชี้หากศาลสั่ง 'ประยุทธ์' หยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างรอตัดสินปม 8 ปี ยังร่วม ครม.ในฐานะ รมว.กลาโหมได้-หากถูกฟันให้พ้น นั่งรักษาการจนได้นายกฯคนใหม่ ด้าน 'ส.ว.ดิเรกฤทธิ์' ชี้วินิจฉัยปม 8 ปีนายกฯ เป็นหน้าที่รัฐสภา อย่าโยนภาระให้ประชาชนไปลงถนน ย้ำตีความยึดตามตัวบท รธน. แนะสังคมเคารพหลักกฎหมาย

วันที่ 22 ส.ค. วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายให้สัมภาษณ์กรณี ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยื่นเรื่องให้ศาลตีความประเด็นความเป็นนายกฯ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม วันเดียวกันนี้ รัฐบาลต้องเตรียมการชี้แจงอย่างไรหรือไม่ ว่า ยังไม่ต้องถึงขนาดนั้น เพราะยังไม่รู้ว่าศาลจะสั่งให้ชี้แจงหรือไม่ อาจไม่ต้องให้ใครชี้แจง หรือสั่งให้ใครชี้แจง อาจจะเป็นนายกฯ โดยตรงหรือรัฐบาล ซึ่งก็คือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อความเป็นธรรม เพราะเรื่อง 8 ปี จะเกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์ คนเดียวก็คงไม่ใช่มันต้องเป็นท่าทีของรัฐบาล จึงยังไม่รู้จะเตรียมอะไร แต่คร่าวๆในใจมีกันอยู่ 

ฉะนั้นหากศาลสั่งมาแนวทางไหนก็พร้อมชี้แจง แต่ขอเวลาหน่อย วันถึงสองวัน เรื่องนี้ไม่เสียเวลาคิด แต่เสียเวลาพิมพ์ เพราะเวลายื่นคำตอบต่อศาลการพิมพ์ต้องใช้เวลา เพราะไม่ใช่นึกจะเขียนอะไรก็เขียนไปมันต้อง 9 ชุด 

เมื่อถามว่า ข้อมูลในใจคร่าวๆ ที่ว่าคืออะไร วิษณุ กล่าวว่า บอกไม่ได้ เดี๋ยวเสียรูปคดี

เมื่อถามอีกว่า กรณีที่ ชวน ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง กับกรณีที่มีผู้ร้องผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีความต่างกันอย่างไร วิษณุ กล่าวว่า ไม่แตกต่างเป็นเรื่องดีมากที่จะทำอย่างนั้น โดยเฉพาะช่องทาง กกต. จะได้ศึกษาอะไรเพิ่มเติมอย่างรอบคอบ เพราะฝ่ายค้านยื่นในมุมจ้องจะให้ออกก็มีวิธีให้เหตุผลแบบของเขา 

เมื่อถามว่า เมื่อชวนยื่นเรื่องไปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญต้องมีคำสั่งรับคำร้องภายในวันที่ 24 ส.ค. เลยหรือไม่เพราะผู้ร้องมองว่าวันดังกล่าวเลยการดำรงตำแหน่ง 8 ปี วิษณุ กล่าวว่า แล้วแต่ศาล ตนไม่ทราบ ส่วนจะใช้เวลาพิจารณานานหรือไม่ตนไม่ทราบ แต่ไม่ได้มีผลอะไรเหมือนที่ฝ่ายค้านอธิบายไปแล้วนั้นถูกต้อง เพราะเมื่อประธานสภา ส่งเรื่องไปที่ศาล โดยศาลจะสั่งสองอย่างคือไม่รับคำร้องกับรับคำร้อง ถ้ารับคำร้องจะมีคำสั่งตามมาว่า รับโดยให้นายกฯหยุดปฏิบัติหน้าที่ กับรับโดยนายกฯไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างรอคำพิพากษา "ถ้าให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ก็ปฏิบัติหน้าที่นายกฯแทน คณะรัฐมนตรีก็อยู่ทำหน้าที่ทั้งหมดไม่ต้องกลัวอะไรจะโมฆะ ไม่ว่าวันไหนศาลตัดสินว่าพล.อ.ประยุทธ์ พ้นหรือไม่พ้น คณะรัฐมนตรียังคงปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ก็ยังมีอีกตำแหน่งคือ รมว.กลาโหม ที่ไม่มีข้อกำหนด 8 ปี หากเป็นเช่นนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็นั่งเป็นลูกน้อง พล.อ.ประวิตร ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีระหว่างที่ศาลยังไม่มีคำวินิจฉัย 

ทั้งนี้ถ้าถึงที่สุดแล้วศาลวินิจฉัยให้พ้นเพราะประเด็น 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังคงรักษาการได้ แต่ควรหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง และคิดว่าการหานายกฯใหม่ไม่น่าจะยากอะไร นายชวน คงรีบดำเนินการใน 3 วัน 7 วัน"

เมื่อถามอีกว่า หากมีคำวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่ง แล้วไม่รักษาการต่อ พล.อ.ประวิตร จะทำหน้าที่นายกฯรักษาการทันทีเลยหรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า ก็มีวิธีการอยู่ เพราะนายกฯ เคยมีคำสั่งไว้ว่ากรณีไม่อยู่หรือปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ให้ พล.อ.ประวิตร เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนอันดับที่หนึ่ง รองนายกฯคนอื่นๆ เป็นลำดับถัดๆ ไป โดยไปหยิบคำสั่งดังกล่าวมาใช้ ไม่ใช่อยู่ดีดียึดอำนาจแล้วขึ้นได้เลย 

เมื่อถามอีกว่า ที่สุดแล้วหากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องแล้วไม่มีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ถึงที่สุดมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. การดำเนินการระหว่างนั้นของรัฐบาลจะมีผลกระทบอะไรหรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า สมบูรณ์ทุกประการ เพราะถ้าคิดง่ายๆ หาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่อยู่หรือยุบสภา พล.อ.ประยุทธ์ พ้นใช่หรือไม่ แต่คณะรัฐมนตรียังอยู่ใช่หรือไม่ สามารถมีมติคณะรัฐมนตรีได้

เมื่อถามว่าขณะนี้มีกระแสกดดันจากภายนอกให้นายกฯ ออกจากตำแหน่ง รัฐบาลกังวลหรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ ต้องถามผู้เกี่ยวข้อง แต่เรารู้อยู่ว่ามีการกดดันซึ่งไม่รู้ว่ากดดันใคร กดดันนายกฯหรือกดดันศาลก็ไม่รู้ 

เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีการฝากอะไรในที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เช้าวันเดียวกันนี้หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า ไม่มี ในที่ประชุมพูดกันเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี


ชี้วินิจฉัยปม 8 ปีนายกฯ เป็นหน้าที่รัฐสภา

ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. กล่าวภายหลังร่วมประชุมสัมมนาวิชาการ Morning Talk ที่อาคารรัฐสภา ซึ่งมีประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาหลากภาคส่วนทั้ง ส.ว. อาทิ เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. และนักวิชาการ เช่น เจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 

ดิเรกฤทธิ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการตีความทั้ง 3 แนวทาง คือ เริ่มนับตั้งแต่ปี 2557, 2560 และ 2562 ซึ่งเห็นพ้องกันว่าควรนับจากพระบรมราชโองการแต่งตั้งที่นำเข้าสู่ตำแหน่งเป็นหลัก จึงตัดการนับจากรัฐธรรมนูญ ปี 2560 บังคับใช้ออกไป และให้พิจารณาเทียบกันระหว่างพระบรมราชโองการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว ปี 2557 และรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็จะเห็นได้ชัดขึ้น

198791.jpg

แม้ เจษฎ์ และผู้เข้าประชุมบางส่วน เห็นว่าควรพิจารณารัฐธรรมนูญ มาตรา 264 ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ให้ถือเป็น ครม. ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย แต่ส่วนตัวมองว่าให้ดูพระบรมราชโองการว่าอาศัยมาตราอะไรในการกำหนดวาระดำรงตำแหน่งเป็นหลัก ก็จะเห็นชัดว่าควรนับจากเมื่อใด

ดิเรกฤทธิ์ ย้ำว่า ความเห็นเหล่านี้เป็นความเห็นทางวิชาการ สุดท้ายองค์กรที่วินิจฉัยได้คือศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องทั้งหลายเราควรเคารพกติกา เมื่อมีองค์กรวินิจฉัยปัญหานี้อยู่แล้ว เราจะทะเลาะกัน ใช้ความรุนแรง ลงถนนกันทำไม ควรเคารพการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

สำหรับการชุมนุมเคลื่อนไหวของภาคประชาชน มองว่าเป็นการกดดันคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดิเรกฤทธิ์ มองว่า ภาคประชาชนมีแรงกดดันมาตลอด ด้วยความเห็นหรืออุดมการณ์ที่แสดงออกมา เราเคารพทุกความเห็น แต่ส่วนตัวคิดว่าควรอยู่ภายใต้กฎหมาย ทั้งนี้ คงกดดันศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ ท่านทนต่อกระแสและทำตามหน้าที่

“ทุกฝ่ายควรทำหน้าที่ของตัวเอง หรือแรงกดดันใดที่จะมีผลต่อการทำหน้าที่ของเรา ส.ส. และ ส.ว. ก็ควรทำหน้าที่มาประชุมและออกกฎหมาย เราเองก็มีดุลยพินิจโดยอิสระที่จะทำได้ โดยการให้คำแนะนำประชาชน หรือแม้แต่ควรรับคำร้องของประชาชนเป็นภาระของเรา หากศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ตัดสิน เราก็ทำหน้าที่ของเรา ไม่ควรให้ประชาชนเดือดร้อน ไปลงถนน ตากแดด” ดิเรกฤทธิ์ กล่าว

ส่วนประเด็นข้อเรียกร้องสามัญสำนึกจากนายกรัฐมนตรี ให้ลงจำตำแหน่งนั้น ดิเรกฤทธิ์ ตอบว่า มองยากเหมือนกัน อย่างไรก็ดี นี่เป็นกติกาบ้านเมืองที่ควรใช้ต่อไป แม้แง่มุมของฝ่ายที่บอกว่าเป็นการผูกขาดให้อยู่ต่อ แต่บางท่านก็บอกว่านี่คือการทำให้ท่านอยู่ในกติกาตามที่ศาลตัดสิน สุดท้าย อย่างไรก็ต้องดูในแง่มุมกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งมีกระบวนการอยู่แล้ว และเราควรเดินตามครรลองประชาธิปไตยเพื่อให้บ้านเมืองไปต่อได้

สำหรับกรณีหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ทางวุฒิสภามีมาตรการรองรับหรือไม่ ดิเรกฤทธิ์ ระบุว่า ส.ว.ไม่ต้องเตรียมตัวอะไร ทำกฎหมายต่อไปตามวาระ เราก็มีภารกิจอยู่แล้ว หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ก็ดูว่าจะต้องปรับตัวอย่างไร ส่วนการเลือกนายกฯ คนใหม่ พร้อมอยู่แล้วเพราะเป็นหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด