นายสุรชาติ เทียนทอง รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทยและอดีต ส.ส. กทม. , น.ส. ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส เลขาธิการกลุ่มเพื่อไทยพลัสและอดีตผู้สมัคร ส.ส. กทม. เขตบางกะปิ - วังทองหลาง พร้อมด้วยคณะทำงาน น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ร่วมบริจาคโลหิตที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
นายสุรชาติ กล่าวว่า การมาบริจาคโลหิตในครั้งนี้ เนื่องจากได้ทราบข่าวมาว่าสภากาชาดไทยมีโลหิตไม่เพียงพอ เพราะมีพี่น้องประชาชน ไม่กล้าที่จะออกจากบ้านมาบริจาคโลหิตและอยู่บ้านตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสดควิด-19 อีกทั้งหลักเกณฑ์การคัดกรองผู้มาให้บริจาคโลหิตมีความเข้มข้นมากขึ้น ทำให้โลหิตที่นำไปใช้ได้มีปริมาณลดลง โดยผู้ที่บริจาคโลหิตจะต้องไม่เดินทางมาจากประเทศที่เสี่ยงและไม่สัมผัสกับบุคคลกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น ตนและทีมงานพรรคเพื่อไทยจึงขอเป็นตัวแทนในการสื่อสารของประชาชนที่แข็งแรงอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถบริจาคโลหิตได้ให้ทยอยออกมาช่วยกันบริจาคโลหิต
น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า มาตรการการตรวจที่เข้มข้นโดยสภากาชาดไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้มาบริจาคโลหิต โดยมีการตรวจอุณหภูมิ วัดไข้ และมีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1 เมตร ระหว่างบุคคลต่อบุคคล ทั้งยังมีการทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ ให้สะอาดปลอดเชื้อโรค จึงขอเชิญชวนพี่น้องมาร่วมบริจาคโลหิต เพื่อให้สภากาชาดไทยมีปริมาณเลือดสำรองเพียงพอ ต่อความต้องการใช้ในการช่วยเหลือผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั่วประเทศ
ด้านนายตรีรัตน์ กล่าวว่า ณ ขณะนี้ มีผู้ป่วยธาลัสซีเมียจำนวนมากที่ต้องใช้โลหิต แต่เนื่องจากผู้บริจาคน้อยลง ทำให้ปริมาณคลังโลหิตนั้นอาจไม่เพียงพอต่อผู้ต้องการได้ ซึ่งทางสภากาชาดไทย ได้มีหน่วยรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ไปตามเขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ หรือจุดที่ใกล้บ้าน จึงขอให้พี่น้องผู้ประสงค์บริจาคโลหิต ช่วยติดตามข่าวสาร เพื่อความสะดวกสบายในการเดินทางของผู้มาบริจาค และขอให้ความมั่นใจว่า สภากาชาดไทย มีมาตรการคัดกรองที่เข้มงวด ปลอดภัย ไม่ต้องกังวล
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันการจัดหาโลหิตบริจาคในแต่ละวัน จะต้องจัดหาให้ได้ 2,500 ยูนิต แต่ขณะนี้มีจำนวนลดลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ไม่เพียงพอจ่ายให้กับผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นโรคเลือดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้รับยีนธาลัสซีเมียจากพ่อและแม่ทำให้การสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงผิดปกติ ต้องได้รับการรักษาโดยการรับโลหิตเป็นประจำสม่ำเสมออย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวน 13,841 ราย นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยผ่าตัดใหญ่ อุบัติเหตุ ตกเลือดจากการคลอดบุตร ฯลฯ ที่มีการเสียโลหิตในปริมาณมาก ต้องให้โลหิตทดแทนอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยเหล่านี้ไม่สามารถที่จะเลือกเวลาได้ ถึงแม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ก็ตาม
ทั้งนี้เกณฑ์การคัดกรองตนเองก่อนมาบริจาคโลหิต โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ให้งดบริจาคโลหิต 4 สัปดาห์ สำหรับผู้ที่หายจากโรค และไม่มีอาการใดๆ หลงเหลืออยู่ ให้งดบริจาคโลหิต 3 เดือน