ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์ทนายฯ เผย “หนุ่มนนทบุรี” ถูก ตร.บุกจับถึงบ้าน คดี ม.112 - ยึดโทรศัพท์มือถือ เหตุแสดงความเห็นโพสต์ของ สมศักดิ์ เจียมฯ ก่อนศาลให้ประกัน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อ 27 ธ.ค. 2564 ปาฏิหาริย์ ดวงพัตรา อายุ 25 ปี ชาว จ.นนทบุรีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมตามหมายจับ ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และยึดโทรศัพท์มือถือ พร้อมนำตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เหตุแสดงความคิดเห็นบนโพสต์เฟซบุ๊กของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เกี่ยวกับข่าวลือเรื่องอาการประชวรของรัชกาลที่ 10 ก่อนที่ผู้ต้องหาจะถูกนำไปฝากขังที่ศาลอาญาฯ และได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ด้วยหลักทรัพย์ 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ในเวลาต่อมา โดยปาฏิหาริย์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ไม่ได้ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม และจะให้การเพิ่มเติมภายในวันที่ 28 มกราคม 2565


“ปาฏิหาริย์” เผย จนท.อ้างเคยส่งหมายเรียกมาแล้ว 2 ครั้ง - ข่มขู่ให้เซ็นเอกสาร ขณะไม่มีทนายความ

ปาฏิหาริย์ เปิดเผยกับศูนย์ทนายฯ ว่า “ตอนนั้นเวลาประมาณบ่ายสอง ผมกำลังตากผ้าให้ลูกอยู่ และก็เห็นมีรถยนต์มาจอดหน้าบ้านคันหนึ่ง มีผู้ชายมาด้อมๆ มองๆ และก็ถามว่า ‘ใช่คุณปาฏิหาริย์ไหม? มีพัสดุมาส่ง’ เขาใส่ชุดคลุมไปรษณีย์มา แต่ผมดูก็รู้ว่าไม่ใช่ไปรษณีย์”

ปาฏิหาริย์บอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันจับกุม หลังเขาเดินออกไปดูหน้าบ้านแล้วพบว่า มีรถยนต์จอดอยู่อีก 2-3 คัน พร้อมกับเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสวมชุดนอกเครื่องแบบไม่ต่ำกว่า 10 นาย ยืนรออยู่

“พอผมปิดประตูรั้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจก็เข้ามาจับตัวเลย เขาแสดงบัตรเจ้าพนักงาน แนะนำตัว และก็ถามว่า ‘นี่ใช่เราไหม?’ เราก็ตอบว่าใช่ แต่ตอนจับกุม เจ้าหน้าที่ไม่ได้บอกว่าผมโดนข้อหาอะไร โดนเรื่องอะไร จากเหตุไหน เขาไม่ได้บอก”

นอกจากนี้ ปาฏิหาริย์เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าเคยส่งหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ บก.ปอท. มาแล้ว 2 ครั้ง แต่เขาไม่ได้ตามนัดหมาย เจ้าหน้าที่จึงร้องขอศาลให้ออกหมายจับแทน

“ผมงง ตอนที่เขาบอกว่ามีหมายเรียก เจ้าหน้าที่บอกว่าเคยเอาหมายเรียกมาแปะที่บ้าน 2 ครั้งแล้ว ผมก็เลยไปย้อนดูกล้องวงจรปิดที่หน้าบ้าน แต่ไม่เคยมีหมายมาแปะตามที่เขาบอก ถ้ามันมี ผมก็ไปตามที่เรียกอยู่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งอะไรเลย ญาติผมก็อยู่บ้านกัน ถ้ามันมีหมายมาส่ง เขาก็ต้องเห็น แต่นี่ไม่เห็นเลย”

ปาฏิหาริย์ยังเล่าอีกว่า ในระหว่างการจับกุม เจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง ไม่ได้ใส่กุญแจมือ แต่ใช้สายเคเบิ้ลมัดข้อมือไว้ ก่อนจะมีการยึดโทรศัพท์มือถือไปตรวจสอบ

“เจ้าหน้าที่พยายามกดดันจะตรวจมือถือ แต่ผมบอกว่า ‘ไม่ได้ เป็นของส่วนตัว มีรูปถ่าย รหัสผ่าน ข้อมูลส่วนตัว ให้พี่ดูไม่ได้หรอก’ ทีนี้เจ้าหน้าที่ก็เข้ามากดดัน ให้หลายๆ คนมาพูดว่า ‘ต้องให้นะ’ และก็เอากระดาษ (บันทึกตรวจค้น) มาบังคับให้ผมเซ็นชื่อ”

ภายหลังจากที่ปาฏิหาริย์ถูกพาตัวมา บก.ปอท. แล้ว เขาพยายามจะโทรศัพท์ติดต่อหาที่บ้าน แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต ก่อนถูกข่มขู่ให้ลงลายมือชื่อในเอกสารที่เข้าใจว่าเป็นการรับทราบหมายจับ และบันทึกตรวจยึด โดยไม่มีทนายความอยู่ด้วย

“ตอนอยู่ ปอท. ผมอยู่คนเดียว ไม่มีใครอยู่ด้วย เจ้าหน้าที่ก็ไม่ให้ผมคุยโทรศัพท์กับทางครอบครัว แต่อนุญาตให้คุยกับทนายได้ ตอนนั้น ทนายบอกว่า อย่าเพิ่งเซ็นเอกสารอะไรนะ รอให้ทนายไปถึงก่อน แต่เจ้าหน้าที่ ปอท. ก็บอกว่า ‘ยังไงก็ต้องเซ็น มันไม่เกี่ยวกัน อันนั้นมันตอนที่ทนายมา แต่ถ้ายังไม่มีใครมา ก็ต้องทำตามที่เขาสั่ง’ แต่ผมก็ยืนยันไปว่า ยังไงก็ต้องรอทนายมาก่อน”


ศาลอนุญาตให้ประกัน วงเงิน 100,000 บาท โดยไม่มีเงื่อนไข

ศูนย์ทนายฯ รายงานต่อว่า ต่อมาในช่วงเช้าของวันที่ 28 ธ.ค. 2564 หลังปาฏิหาริย์ถูกสอบสวน และนำตัวไปคุมขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง เป็นเวลาหนึ่งคืน พนักงานสอบสวนได้ยื่นขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลอาญา ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ 

ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยขอวางเงินสดจำนวน 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เป็นหลักประกัน ก่อนที่ศาลอาญาจะอนุญาตให้ประกันตัวโดยไม่มีเงื่อนไข

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นอกจากคดีของปาฏิหาริย์ ยังมีคดีมาตรา 112 อย่างน้อยอีก 3 คดี ที่พบว่าเหตุแห่งการกล่าวหาเกิดจากการเข้าไปแสดงความคิดเห็นในโพสต์เฟซบุ๊กลักษณะดังกล่าวของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้แก่ คดีของ “นันท์” (นามสมมติ), คดีของ “ภู” (นามสมมติ) และคดีของลักขณา (นามสมมติ) ทั้งหมดถูกดำเนินคดีที่ บก.ปอท. เช่นเดียวกัน