ไม่พบผลการค้นหา
'เลขาฯ ครป.' ชี้เงื่อนไขตั้งรัฐบาล ตัวแปรสำคัญคือคดีหุ้นสื่อ 'พิธา' ไม่เกี่ยวเสียง ส.ว. หรือดีลลับ มองหาก 'ก้าวไกล' ชวดนายกฯ เก้าอี้หลุดไปหา 'แพทองธาร' เตือนระวัง IO ฝ่ายทหาร ปล่อยข่าวขัดขา

วันที่ 29 พ.ค. เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ให้ความเห็นว่า การเมืองขณะนี้กำลังเข้มข้นด้วยปฏิบัติการข่าวสารทางทหารและภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางการเมือง (the Political Dilemma) อันเนื่องจากกับดักรัฐธรรมนูญ 60 ที่ให้อำนาจ ส.ว.ไว้สืบทอดอำนาจ 5 ปี แต่เท่าที่ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ ขอวิเคราะห์ให้เห็นภาพ ดังนี้

1.ขณะนี้มีปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operations) ของทหารบางกลุ่ม เพื่อสกัดพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากต้องการต่อต้านข่าวกรองและนโยบายของพรรคไม่ให้สามารถปฏิบัติได้ เนื่องจากมีเงื่อนไข ส.ว.ที่สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้ จึงพยายามสร้างความขัดแย้งขึ้นในประเด็นนโยบายต่างประเทศและความขัดแย้งของมหาอำนาจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง เรื่องจริงยิ่งกว่าก็คือ กองทัพและรัฐบาลทหารใกล้ชิดรัฐบาลอเมริกามากกว่าพรรคการเมือง มีการซ้อมรบทางทหารและความร่วมมือทางอาวุธที่ขัดกันจำนวนมาก นอกจากนั้นเศรษฐกิจไทยยังขึ้นต่อกับมหาอำนาจอเมริกาและจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น 

2. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะได้เป็นนายกฯ หรือไม่ ตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่พรรคเพื่อไทย แต่ขึ้นอยู่กับคดีหุ้นสื่อ ITV ว่าหลัง กกต.รับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.แล้วจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร และหากวินิจฉัยแล้วส่งศาลรัฐธรรมนูญตัดสินซึ่งจะเกิดก่อนการเลือกนายกฯ แน่นอน เชื่อว่าช่วงไม่กี่วันนั้น พรรคเพื่อไทยคงจะเสนอชื่อนายกฯ แทน แต่ทั้งสองพรรคคงเป็นรัฐบาลร่วมกันเหมือนเดิม ตัวแปรมีแค่นายกฯ มาจากพรรคไหนเท่านั้น มวลชนทั้ง 2 พรรคตัดสินใจแทนไม่ได้

3.ดังนั้น ตำแหน่งประธานสภาฯ ระหว่างที่ตำแหน่งนายกฯ ยังมีตัวแปรอยู่จึงสำคัญมาก หากพรรคก้าวไกลชวดตำแหน่งนายกฯ เพราะคดีแคนดิเดตถือหุ้นสื่อ จะต้องยึดตำแหน่งประธานสภาให้มั่น เพราะตำแหน่งนายกฯ จะหลุดไปที่ แพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย แต่ถ้าคุณพิธาได้เป็นนายกฯ พรรคเพื่อไทยก็อยากได้ตำแหน่งประธานสภาฯ แทน ขณะที่การแบ่งกระทรวงต่างๆ ลงตัวหมดแล้ว แต่จะว่าไป ในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย มารัฐบาลพรรคพลังประชาชน หรือในสมัยพรรคเพื่อไทย ประธานสภาฯ ก็มาจากพรรคเดียวกัน ปัญหาก็คือ รัฐธรรมนูญกำหนดให้เลือกประธานสภาฯ ก่อนเลือกนายกฯ

4.จนถึงบัดนี้ไม่ว่าใครจะได้เป็นนายกฯ พรรคร่วมรัฐบาลก็คงจะยังเป็น 8 พรรคเดิมที่ลง MOU กันไว้ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมาเป็นนายกฯ เท่านั้นเอง ขณะที่เสียง ส.ว.ไม่ใช่เงื่อนไขแล้วยกเว้นจะมีการรัฐประหารโดยวุฒิสภา แต่เชื่อว่าการโหวตนายกฯ จะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี 

5.ตัวแปรและเงื่อนไขเหล่านี้ คือที่มาของปฏิบัติการข่าวสารและการต่อต้านข่าวกรองทั้งมวล เพื่อที่จะให้เกิดดีลลับ หรือทำให้ดีลลับกลายเป็นเรื่องจริงนั่นเอง เรื่องนี้คงมีคนคิดถึงปฎิญญาซูริคเดือน เม.ย. หน้าร้อนเมื่อปีกลาย ก่อนที่อำนาจต่อรองจะหายไป