ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุภาพที่ 1 และนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป แถลงความคืบหน้าการติดตามผู้สัมผัสกรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ จ.เชียงใหม่และ จ.เชียงราย
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เราพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ จ.เชียงใหม่ 1 ราย และ จ.เชียงราย 2 ราย เป็นการเดินทางลักลอบเข้าประเทศ ซึ่งแถลงข่าวไปก่อนหน้านี้ ล่าสุดพบผู้ป่วยโควิด-19 อีก 1 รายที่ จ.เชียงราย ลักลอบเดินทางเข้าประเทศเช่นกัน เป็นหญิงไทยอายุ 25 ปี และเป็นเพื่อนร่วมงานในสถานบันเทิงประเทศเมียนมา
อย่างไรก็ตาม เราสามารถตรวจจับ ควบคุมโรคและติดตามผู้สัมผัสได้เป็นอย่างดี ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยที่เกิดจากการสัมผัสผู้ป่วยทั้ง 4 ราย สถานการณ์ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ คือ มีผู้ป่วยนำเข้าเป็นรายๆ (Spike) สามารถติดตามควบคุมโรคได้รวดเร็ว และยังไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิดขึ้นจากผู้ป่วย 3 รายที่ จ.เชียงราย เนื่องจากเมื่อทราบข่าวของรายที่ จ.เชียงใหม่จึงมีการใส่หน้ากาก ป้องกันตนเองอย่างดี และหลีกเลี่ยงไปสถานที่ชุมชน
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีพรมแดนติดประเทศเพื่อนบ้านเป็นระยะทางยาว แม้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจะพยายามติดตามอย่างเข้มงวด และ อสม. อสต. ช่วยเฝ้าระวังในชุมชน ก็ต้องขอความร่วมมือประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตา หากพบเห็นบุคคลไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือต่างชาติ ที่ไม่ได้ผ่านการกักตัว ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำรวจโดยเร็ว และขอให้คนไทยที่ต้องการกลับบ้านเดินทางเข้าประเทศอย่างถูกต้อง เพื่อให้ได้รับการคัดกรอง หากติดเชื้อจะได้รับการดูแลรักษาอย่างรวดเร็ว ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ครอบครัว คนใกล้ชิด และชุมชน ส่วนประชาชนในพื้นที่เชียงใหม่และเชียงรายยังสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ เนื่องจากมาตรการสาธารณสุขยังควบคุมสถานการณ์ได้ดี บางอำเภอก็ไม่ได้เกี่ยวข้อง ดังนั้น ประชาชนยังสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้ แต่ขอให้คงมาตรการการป้องกันส่วนบุคคล คือ การใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด และหมั่นล้างมือ เป็นวัคซีนช่วยป้องกันโรคได้
ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ จ.เชียงใหม่ขณะนี้อาการดีขึ้น ไม่มีอาการรุนแรง ส่วนผู้ป่วย 2 รายที่ จ.เชียงราย มีผู้สัมผัสทั้งหมด 27 ราย เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 4 ราย และผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 23 ราย
ขณะที่ผู้ป่วยรายที่ 3 ของ จ.เชียงรายเป็นหญิงไทยอายุ 25 ปี มีภูมิลำเนาที่ จ.พะเยา โดยต้นเดือน พ.ย.ไปทำงานที่ท่าขี้เหล็กพร้อมเพื่อน 2 คน, วันที่ 24 พ.ย. เดินทางมาตามช่องทางธรรมชาติพร้อมเพื่อน 2 คน ที่ อ.แม่สาย โดยใส่หน้ากากตลอด, วันที่ 24-27 พ.ย. เข้าพักในโรงแรมแห่งหนึ่งใน อ.แม่สาย ไม่ได้ออกจากห้องไปไหน
วันที่ 28-30 พ.ย. เข้าพักโรงแรมแห่งหนึ่งใน อ.เมือง จ.เชียงราย และประสานเจ้าหน้าที่ขอรับการตรวจ วันที่ 30 พ.ย. เข้ารับการกักตัวที่กองร้อย อส. ทำการตรวจหาเชื้อแล้วพบเชื้อโควิด-19 ส่งเข้ารับการรักษาที่ห้องแยกโรค โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โดยมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 2 ราย คือเพื่อนที่เดินทางกลับมาด้วยกัน แต่ผลการตรวจเป็นลบ ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำมีไม่มาก จะเฝ้าระวังจนครบ 14 วัน
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า จากการประเมินความเสี่ยงของการระบาดใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตามการประเมินความเสี่ยงผลกระทบจากการระบาด (Outbreak Impact Risk) โดยประเมินจากผู้ป่วย เชื้อ และสิ่งแวดล้อม พบว่า ผู้ป่วยทั้ง 3 ราย มีอาการน้อย เข้าสู่การรักษาอย่างรวดเร็ว แม้จะพบเชื้อในทางเดินหายใจปริมาณมาก แต่ทั้ง 3 ราย กังวลว่าจะติดโรคโควิด-19 จึงสวมหน้ากาก และหลีกเลี่ยงพบคนจำนวนมาก โดยอยู่แต่ในที่พัก ทำให้ลดความเสี่ยง โอกาสแพร่เชื้อสู่คนอื่นจึงน้อย ขณะที่หน่วยงานในพื้นที่ติดตามผู้สัมผัสได้อย่างรวดเร็ว ร้านค้าผู้ประกอบการร่วมมือป้องกันโรค ฝ่ายปกครองและความมั่นคงตรวจตราป้องกันการเข้าเมืองผิดกฎหมาย สถานการณ์นี้จะป้องกันการแพร่เชื้อต่อในพื้นที่ได้อย่างดี ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ตระหนักมากขึ้น สวมหน้ากากเพิ่มมากขึ้นจาก 50% เป็น 80%
นพ.โสภณ กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายเปิดรับคนไทยกลับประเทศ ทำให้มีคนไทยทยอยเดินทางเข้าในประเทศ โดยทุกคนต้องเข้ารับการกักตัว 14 วันในสถานกักตัวที่รัฐจัดให้และรัฐกำหนดทุกประเภท และเมื่อประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จึงได้เปิดรับชาวต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจและรับการรักษาโรคอื่นที่ไม่ใช่โควิด-19 และท่องเที่ยวต่างชาติประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa : STV) เพื่อสร้างความสมดุลของระบบสุขภาพและเศรษฐกิจ โดยทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่ภาครัฐกำหนด ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. - 1 ธ.ค. 2563 มีผู้เดินทางเข้าประเทศ 163,735 คน ทุกคนเข้ารับการกักตัวในสถานที่กักกันที่รัฐระบุไว้ (SQ, LQ, ASQ, ALQ, OQ และ AHQ) ในจำนวนนี้ตรวจพบเชื้อโควิด-19 จำนวน 1,044 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.64 ของผู้ที่เดินทางทั้งหมด โดยเป็นคนไทย 826 ราย ต่างชาติ 218 ราย กลับบ้านได้ 910 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย
ปัจจุบันมีผู้เดินทางเข้าประเทศประมาณวันละ 700 – 800 คน เมื่อเทียบกับในอดีตที่เดินทางเข้ามาวันละประมาณแสนคน ถือว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม อนาคตมีแนวโน้มว่าจะมีการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น หากมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในต่างประเทศและในประเทศไทย จึงต้องเตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางที่มากขึ้น โดยการเดินทางเข้ามาในช่องทางที่ถูกต้อง มีระบบกักกันโรคและตรวจหาเชื้อ แต่การลักลอบเข้าทางพรมแดนธรรมชาติทำให้มีความเสี่ยงได้ จึงต้องขอให้ช่วยกันป้องกัน สอดส่องการเข้ามาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
นพ.ธงชัย กล่าวว่า การดำเนินงานสอบสวนและควบคุมโรคของ จ.เชียงใหม่ และเชียงราย สามารถดำเนินการได้ตามมาตรฐาน สำหรับการติดตามผู้สัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 เพศหญิงที่เชียงใหม่ ขณะนี้เพิ่มเป็น 336 ราย เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 112 ราย โดย 90 รายผลตรวจไม่พบเชื้อ ที่เหลืออยู่ระหว่างรอผลการตรวจและติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 152 ราย ตรวจไม่พบเชื้อ 79 ราย ที่เหลืออยู่ระหว่างรอผลตรวจและติดตาม และผู้สัมผัสอื่นๆ 72 ราย ผลตรวจไม่พบเชื้อ 47 ราย โดยภายใน 1-2 วัน จะมีการเก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 และเฝ้าระวังให้ครบ 14 วัน
อย่างไรก็ตาม ขอเน้นย้ำเรื่องการใส่หน้ากากและเว้นระยะห่าง จะช่วยลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อ และทำให้ควบคุมโรคได้อย่างเต็มที่ สำหรับด่านพรมแดนได้มีการเฝ้าระวังและสุ่มตรวจหาเชื้อเป็นระยะ และขอให้คนที่เดินทางกลับเข้ามาและมีความเสี่ยง เข้ามารับการตรวจทุกราย
นายกฯ สั่งเอาผิดลักลอบเข้าประเทศติดโควิด-19
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึง ข้อเสนอให้มีการทบทวนมาตรการ เข้าออกแรงงานต่างด้าว หลังพบมีผู้ลักลอบเข้าประเทศและตรวจพบติดเชื้อโควิด-19ว่า รัฐบาลมีความพยายามอย่างเต็มที่ไม่ให้มีคนเข้าออก ประเทศยังไม่ถูกต้อง แต่ยอมรับว่ายังมีการลักลอบอยู่ เพราะฉะนั้นต้องพิจารณาว่าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้หรือไม่ และติดตามตัวเพื่อนำมาเข้าสู่กระบวนการได้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้เอง จ.เชียงรายและ จ.เชียงใหม่เป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่คนนิยม โดยเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้มีการตรวจหาเชื้อกว่า 100 คน แต่ยังไม่พบ
"นี่เป็นสิ่งที่สังคมจะต้องช่วยกันดูแล โดยเฉพาะคนในท้องถิ่น ที่ ต้องคอยดูคนที่หน้าแปลกเข้ามาพื้นที่ของตัวเอง และอาสาสมัครหมู่บ้าน (อสม.) ก็ต้องเข้าไปสอบถามว่าเดินทางมาอย่างไร ตรวจเชื้อโควิดแล้วหรือไม่ โดยจะต้องมีการดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวที่ลักลอบเข้าเมือง"
นายกฯ ย้ำว่าขออย่าตื่นตระหนกเกินไป ขอให้คำนึงว่าใครได้ประโยชน์ใครเสียประโยชน์ ซึ่งรัฐบาลเองไม่เคยปิดข่าว เพราะรัฐบาลได้ทำทุกกระบวนการแล้ว เจ้าหน้าที่มีการดูแลชายแดนอย่างเต็มที่ จึงขอฝากสื่อมวลชนให้ลองไปอยู่ที่ชายแดน กินอยู่กับทหาร 1 วันสัก 1 วัน จะได้รู้ว่าเจ้าหน้าที่ทำงานอย่างไร เพราะไม่เช่นนั้นก็ไม่เข้าใจกันอยู่แบบนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :