เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม มีการเปิดตัวศิลปจัดวาง 30 ปีพฤษภาประชาธรรม
โดย อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชน พฤษภา 35 กล่าวเปิดงาน ตอนหนึ่งว่า 30 ปีที่แล้วรัฐบาลพยามที่จะทำให้เราอ่อนแรง ไม่สามารถขับเคลื่อนต่อแต่นั่นคือการผลักดัน ให้เราสามารถเป็นองค์กรของครอบครัวญาติ ผู้เสียหายที่ยืนได้ระยะยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์
ประธานญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า ปัจจุบันตนกล้าพูดว่าองค์กรเอกชนใดๆที่ออกมาขับเคลื่อนต่อสู้ คงไม่มีใครที่จะอยู่ได้ยาวนานเท่ากับครอบครัวญาติวีรชน ทั้งนี้รัฐบาลและกองทัพคงจะต้องเผชิญกับการเรียกร้องของครอบครัวญาติวีรชน หลังจากจบงานรำลึก 30 ปีพฤษภาประชาธรรม ในวันที่ 17 พฤษภาคมแล้วในกรณีเรื่องของคนหาย
อดุลย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราเคยประกาศอโหสิให้กับพลเอกสุจินดา คราประยูร ไปแล้วเมื่อปี 2536 เนื่องจากเรารู้ว่า
1.การพกความแค้นหรือความโกรธเคืองเมื่อเวลาเราจากโลกนี้ไปจะนำพามาซึ่งความทุกข์ให้กับเราเราจึงโหสิให้
2. การเรียกร้องของครอบครัวญาติจะดำเนินต่อไปไม่รู้จบ บ้านเมืองก็ไม่สามารถอยู่อย่างสงบและก้าวไปข้างหน้าได้ ดังนั้นจึงเห็นว่าถ้าถอดบทเรียน จะรู้ว่าครอบครัวญาติทำให้การรัฐประหารชะลอได้ถึงเกือบ 16 ปีเต็ม จนกระทั่งในปี 2549 จึงได้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งเพราะว่าการเมืองไม่คำนึงถึงประชาชน และทำสิ่งที่ไม่ดี จนกระทั่งทหารฉกฉวยโอกาสกลับมารัฐประหารอีกครั้งหนึ่งเป็นการที่กองทัพพยายามที่จะดำเนินการกลับมาอีกครั้ง
ประธานญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า เพราะในปี 2535 ถือว่ากองทัพไทยแพ้อย่างสิ้นเชิง ต่อการต่อสู้ของภาคประชาชน
อดุลย์ กล่าวว่า หวังว่าการเมืองของคนรุ่นใหม่ จะมีการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในโครงสร้างอำนาจของประเทศไทย และขจัดการรัฐประหารไม่ให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ อีกส่วนกรณีค้นหายตนเคยพูดกับหลายรัฐบาลแล้วว่า ท่านคืนกระดูกให้กับครอบครัวของเขาเพื่อวัตถุประสงค์เดียว จะได้ทำพิธีตามศาสนาของแต่ละคนได้
“นอกจากนี้มีในเรื่องของกฎหมายที่นิรโทษกรรมซึ่งเราทำอะไรไม่ได้ แต่สาเหตุที่ยืนพื้นต้องรอนาน เพราะกองทัพโดยกระทรวงกลาโหมได้ออกมายอมขอโทษแสดงความเสียใจกับครอบครัวของญาติพร้อมกับคำขอร้องอย่างหนึ่งว่าขอให้อย่าให้เหตุการณ์นี้เปิดเผยก่อนครบ 20 ปีซึ่งพวกเราก็ทำตามเพราะอยากให้บ้านเมืองสงบ” อดุลย์ กล่าว
อดุลย์ กล่าวว่า อนุสาวรีย์นี้ถูกสร้างขึ้นมานับตั้งแต่ที่ประกาศว่าถูกสร้างขึ้นมา ไม่ใช่เพื่อยกย่องเฉพาะวีรชน เพราะคำว่าวีรชนเกิดขึ้นทั่วประเทศ ไม่มีใครรู้ว่าวันนั้นใครจะอยู่หรือใครจะตาย แต่วีรชนเกือบ 30 ปีที่ตนพูดนั้นก็คือคนที่ออกมาต่อสู้กับทหารในวันนั้นซึ่งไม่มีใครมีสิทธิ์เลือกว่าจะอยู่หรือจะตายในวันนั้น
ประธานญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า เครื่องเตือนใจนี้ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เป็นเครื่องเตือนใจว่าความขัดแย้งระหว่างทุกฝ่ายอยากได้ใช้ความรุนแรงเลยเพราะเป็นสัญลักษณ์ของความเสียหายซึ่งไม่ควรมีความขัดแย้งใช้กำลังหรือความรุนแรงอีกต่อไป
“ผมหวังว่าเราจะแก้ไขบ้านเมืองในขณะนี้ เพราะถ้าไม่จัดการให้ดีเชื่อว่า หลังการเลือกตั้ง ถ้าพลเอกประยุทธ์ ยังไม่ยอมลาออกเพื่อให้บ้านเมืองเดินได้ เชื่อเถอะว่าถ้าปล่อยให้เลือกตั้งได้เมื่อไหร่ภายใต้กติกาที่ ส.ว.ยังมีอำนาจในการเลือกนายกฯ จะต้องนำซึ่งมาซึ่งความรุนแรงแน่นอน ในเมื่อฝ่ายชนะไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ความรุนแรงก็จะเกิดขึ้นแน่นอน” นายอดุลย์ กล่าว
อดุลย์ กล่าวว่า เพราะฉะนั้นตนหวังว่า ที่ญาติออกมาเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ลาออกนั้นโดยให้ พล.อ.ประวิตร มาแก้ไข บ้านเมืองที่พลเอกประยุทธ์ทำไม่ดีไว้โดยแก้ไขในส่วนของส.ว.และสร้างความปรองดองสมานฉัน แล้วนิรโทษกรรมให้กับ ทุกฝ่ายจะได้เริ่มต้นใหม่และแก้ไขทุกอย่างให้อยู่ในครรลองคลองธรรม ให้บ้านเมืองมีธรรมาภิบาลถึงแม้ไม่ขัดแย้ง แต่ก็อย่าใช้ความรุนแรงต่อกัน
นี่คือวัตถุประสงค์ที่ดำเนินการมา 30 ปีเต็มตนพยามเรียกร้อง ให้ทุกฝ่ายปรองดองสมานฉันถึงแม้จะขัดแย้งตามความเชื่อและศรัทธาของแต่ละคนที่มีต่อพรรคการเมืองและต่อความคิดของตัวเองแต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรงและต้องสามัคคีกัน
ด้าน เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวแถลงภารกิจญาติวีรชนและข้อเสนอต่อรัฐบาล ในการเปิดงานศิลปะจัดวาง 30 ปีพฤษภาประชาธรรม “ดาววีรชนพฤษภา 2535” ว่าญาติวีรชนพฤษภา 35 ต้องขอขอบคุณมูลนิธิพฤษภา 35 นำโดย อ.โคทม อารียา และกรรมการทุกท่าน ที่ร่วมจัดงานรำลึกพฤษภา 35 ทุกปี ร่วมกับกรุงเทพมหานคร แม้มีมติครม.เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2546 ให้วันที่ 17 พฤษภาของทุกปีเป็นวัน “พฤษภาคมประชาธรรม” แต่รัฐบาลทุกรัฐบาลกลับไม่สนับสนุนงบประมาณในการจัดงาน ต้องให้ภาคประชาชนหางบจัดเอง และประธานญาติวีรชนก็ต้องควักเงินสมทบจ่ายเองนับแสนบาท นับว่าแสนสาหัส ซึ่งตนเองขอเรียกร้องให้รัฐบาลเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเพื่อแสดงความรับผิดชอบ
ทุกปีที่จัดงานรำลึกก็เพื่อต้องการชำระประวัติศาสตร์ สดุดีวีรชนที่บาดเจ็บล้มตาย และสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองให้รัฐรับผิดชอบ แม้จะมีการนิรโทษกรรมทางการเมืองตัดสิทธิ์ญาติในการฟ้องร้องเอาผิดในกระบวนการยุติธรรม แต่ญาติวีรชนก็ต้องการความจริงและความเป็นธรรมเสมอมา ก่อนจะปรองดองและสมานฉันท์เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก
คณะผู้จัดฯ โดยที่ญาติวีรชนมีส่วนร่วม ต้องการเชิญทุกฝ่ายมาร่วมงาน ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน พรรคการเมือง และภาคประชาชนทุกกลุ่ม มิใช่เพื่อให้เกียรติแขกที่เชิญมาร่วมงาน แต่เพื่อมาให้เกียรติวีรชนและแสดงรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เป็นที่น่าเศร้าใจที่มีการบิดเบือนการจัดงานและใช้อคติไปขยายความไม่รู้จบรวมถึงไปกดดันแขกที่ถูกเชิญร่วมงานจากต่างประเทศ คนเหล่านี้ไม่ได้มีความจริงใจอย่างแท้จริงต่อผู้สูญเสีย หากตัวแทนรัฐมาก็ควรไปกดดันพวกเขาให้รับผิดชอบในเหตุการณ์ ไม่ใช่มากดดันญาติวีรชนผู้เสียหาย ที่ยังออกเงินจัดกันเองไม่ใช่เงินรัฐบาลจากภาษีของประชาชน
ที่เขาเชิญทุกฝ่ายมาร่วมรับผิดชอบ เพื่อจะได้เรียนรู้ความจริง และไม่ใช่ไปเชิญตัวแทนรัฐมาเพื่อให้เกียรติ แต่เพื่อให้เผชิญหน้าหาร่วมหาคำตอบกัน ดังที่มีการเชิญทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. อดีตผู้เข้าร่วมชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภา 35 แต่ต่อมาเป็นคู่ความขัดแย้งทางการเมือง แต่การแสดงการมีส่วนร่วมโดยประกาศไม่เข้าร่วมก็ถือเป็นการมีส่วนร่วมแบบหนึ่ง หวังว่าผู้จัดงานจะนำไปทบทวน และญาติวีรชนก็พร้อมไปร่วมงานรำลึกที่แต่ละกลุ่มสามารถจัดขึ้นเองได้ตามเป้าหมายและงบประมาณของตน
ในวาระ 30 ปีพฤษภา 25 ญาติวีรชนเจ็บปวดซ้ำสองแต่ต้องก้าวเดินต่อไปเพื่อภารกิจของญาติวีรชน อีก 4 ประการที่อยากเรียกร้องต่อรัฐบาล คือ
1.การจัดสร้างอนุสรณ์สถานพฤษาประชาธรมให้แล้วเสร็จ เพื่อเป็นอุทาหรณ์แก่สังคมและยืนเด่นเป็นตระหง่านในประวัติศาสตร์ประชาชนไม่ต่างจากอนุสาวรีย์ที่เมืองกวางจู เกาหลีใต้ แม้ล่าสุดจะมีมติครม.เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2546 อนุมัติให้จัดสร้างอนุสรณ์สถานของเหตุการณ์ตามมติครม.ครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2536 แต่ก็ยังแล้วเสร็จในส่วนด้านหน้า ที่รอ สน.ชั่วคราวของชนะสงครามย้ายกลับไปเพื่อสถานีสร้างแล้วเสร็จ เพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์สถานการเรียนรู้ประชาธิปไตยของประชาชนต่อไป โดยรัฐต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายประจำปีในการจัดงานเพื่อแสดงความรับผิดชอบ
2.การชดใช้ค่าเสียหายแก่ญาติวีรชนพฤษภา 35 ที่บาดเจ็บ ล้มหายและสูญหายกว่า 88 ชีวิต ตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อติดตามผู้สูญหายและช่วยเหลือผู้เสียหายจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ซึ่งเป็นการจ่ายค่าทดแทนและความเสียหายตามบรรทัดฐานสากลและอัตราก้าวหน้า เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้รัฐจะได้ไม่กระทำให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก เนื่องจากในขณะนั้นไม่มีกฎหมายรองรับในหลักการใหม่จึงทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการจ่ายค่าช่วยเหลือตามระเบียบกฎหมายบรรเทาสาธารณภัยของกระทรวงมหาดไทยแทน ซึ่งคณะกรรมการญาติวีรชนได้ท้วงติงมาอย่างต่อเนื่อง
3.รัฐบาลต้องสร้างหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรม เพื่อไม่ให้ทหารใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชนอีก ปฏิรูปกองทัพ นำทหารเข้าสู่กรมกองเป็นทหารอาชีพภายใต้รัฐบาลพลเรือนที่ทันสมัย ปฏิรูประบบราชการเพื่อรับใช้ประชาชน และเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของสนธิสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับมนุษยชนและมนุษยธรรมทั้งหมด เพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยให้เข้ากับหลักสิทธิมนุษยชนอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะการให้สัตยาบันศาลอาญาระหว่างประเทศ ภายหลังจากที่กระทรวงการต่างประเทศได้ลงนามธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศไปนานแล้ว
และ 4.การแสวงข้อเท็จจริงและความจริงให้กระจ่างชัด โดยเปิดเผยความจริงเรื่องคนหายในเหตุการณ์พฤษภา 35 คืนเถ้าอัฐิวีรชนให้แก่ญาติวีรชนเพื่อไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลและเยียวยาจิตใจ โดยขอให้รัฐบาลและกองทัพเปิดเผยข้อเท็จจริงในอดีตที่ผ่านมานานถึง 30 ปีและมีการนิรโทษกรรมไปแล้วแต่ผู้ที่เกี่ยวข้องยังมีชีวิตอยู่ ว่าศพวีรชนที่สูญหายไปอยู่ที่ใด
ตนรับทราบข่าวมาว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้องและสำนึกผิด ได้ให้ข้อมูลในทางลับว่า ในช่วงเหตุการณ์พฤษภา 35 มีการขนศพประชาชนที่เสียชีวิตขึ้นรถยีเอ็มซีไปที่ใดบ้าง โดยมีอย่างน้อย 2 จุดคือ 1.เอาไปฝังกลบในพื้นที่กองพลทหารราบที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี และในตู้คอนเทนเนอร์ใต้ทะเลแสมสาร ไกลจากชายฝั่งสัตหีบไปกว่า 70 ไมล์ทะเล ซึ่งมีอยู่ 2-3 จุดที่ชาวประมงเคยพบโครงกระดูกมาตั้งแต่ปี 2536 และมีในรายงานการพบของกองทัพเรือ
หลังจากการเปิดเผยข้อมูลเบื้องต้น มีการพยายามจัดฉากตรวจสอบในตู้คอนเทนเนอร์แรกแค่ครั้งเดียวในปี 2552 ซึ่งไม่พบอะไรและไม่ดำเนินการตรวจสอบต่อไป เข้าใจว่ารัฐบาลในขณะนั้นยังไม่พร้อมเปิดเผยความจริง ในเรื่องนี้นั้นจะมีการจัดอภิปรายเรื่องผู้สูญหายอย่างจริงจังในวันที่ 18 พฤษภาคมนี้ ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ด้าน อ.ไกรสร ประเสริฐ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คลองหก กล่าวว่า ดาวนำมานี้มีอยู่ 3 ส่วนคือ 1.ดาวผู้สูญหาย 2. ดาวผู้เสียชีวิตและ 3. ดาวคนหาย ซึ่งตนมองว่าคนหายเราอาจจะจินตนาการ หรือมองถึงความเป็นเสรีภาพของวีรชน ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเพื่อสื่อถึงเสรีภาพมนุษย์ตนถึงใช้สัญลักษณ์ นกล้อกับประติมากรรม ด้านหลังดังกล่าว ที่เกี่ยวกับเสรีภาพและเพื่อขยายประติมากรรมมีให้ชัดเจนขึ้น เป็นการสื่อถึงเสรีภาพและเรียกร้องประชาธิปไตย จึงต้องการสร้างดาวดวงนี้เพื่อยกย่องและเชิดชูคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
สำหรับบรรยากาศในวันนี้มีการประดับดาวผู้สูญหายบริเวณลานพฤษภาประชาธรรมและมีการแสดงดนตรี