นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการลดผลกระทบของ COVID-19 ต่อประชาชนกลุ่มที่ “เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบธนาคาร” ว่า ผู้ประกอบอาชีพรายวันขนาดเล็ก เช่น ช่างตัดเย็บ พนักงานโรงงาน แม่ค้าในตลาด ลูกจ้างรายวัน คนขับแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ มีลักษณะสำคัญคือ 1. รายได้เป็นวันชนวัน หาเช้ากินค่ำ และ 2.เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ เพราะกู้เงินไม่ผ่าน ไม่มีรายได้ประจำ ไม่มีหลักทรัพย์ การขาดรายได้หรือการตกงานอย่างกระทันหันจาก COVID หนีไม่พ้นการหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ ซึ่งจะพุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมาตรการเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท ก็มีปัญหามาก คนเดือดร้อนจำนวนมากที่ตกสำรวจ
"สิ่งที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังทำได้ และมีเครื่องมืออยู่แล้ว คือการใช้ "สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด" หรือพิโกไฟแนนซ์ (Pico Finance) เข้าช่วย เพื่อรองรับคนที่เดือดร้อน แต่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ โดยทำหน้าที่เป็นสินเชื่ออเนกประสงค์ให้ประชาชนกู้ยืมไปใช้จ่ายค่ายังชีพ ค่าเช่าห้อง ค่ารักษาพยาบาล หรือจ่ายคืนหนี้นอกระบบ ในวงเงินไม่เกินรายละ 50,000-100,000 บาท" นายเผ่าภูมิ กล่าว
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า สำหรับพิโกไฟแนนซ์ ทำหน้าที่คล้ายเงินกู้นอกระบบที่รับรองโดยกระทรวงการคลัง เป็นการจับนายทุนที่มี "เงินเย็น" ให้มาเจอกับประชาชนที่กำลัง "ร้อนเงิน" แต่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ โดยคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินกู้นอกระบบมาก นอกจากนั้นเป็นการนำสภาพคล่องและเงินเย็นคงเหลือที่อยู่ในระบบออกมาใช้ และใช้เจาะไปที่กลุ่มคนที่เดือดร้อนที่สุดในสังคม
ในภาวะวิกฤติ COVID นี้ รัฐบาลควรจะ "สนับสนุนค่าดอกเบี้ย" อย่างน้อย ร้อยละ50 ผ่านผู้ประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ เพื่อกดดอกเบี้ยต่ำลงมาที่อัตราครึ่งหนึ่งของที่เคยเรียกเก็บจริง กล่าวคือ "ประชาชนจ่ายดอกเบี้ยเพียงครึ่งหนึ่ง" รัฐบาลสมทบอีกครึ่งหนึ่งผ่านผู้ให้กู้ ซึ่งใช้งบประมาณไม่มาก แต่เข้าถึงกลุ่มคนที่เดือดร้อนด้านรายได้จริงๆ เพื่อให้พวกเขาสามารถประทังชีพต่อไปได้
"เมื่อรัฐบาลให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ธุรกิจได้ รับซื้อตราสารหนี้จากทุนใหญ่ได้ ประชาชนหาเช้ากินค่ำก็ไม่ควรถูกทอดทิ้งเช่นกัน" นายเผ่าภูมิ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :