ไม่พบผลการค้นหา
‘จาตุรนต์’ เผยสื่อต่างประเทศคาดการณ์การประชุมของ ‘ดอน’ สร้างความแตกแยกในอาเซียน ย้ำ รบ.รักษาการยิ่งทำไม่ได้เพราะไม่มีสภาฯคอยตรวจสอบ

จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย กล่าวถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ทำหนังสือเชิญรัฐมนตรีประเทศอาเซียนมาประชุมเรื่องปัญหาเมียนมาอย่างไม่เป็นทางการในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน โดยที่ประธานอาเซียน คือประเทศอินโดนีเซีย รวมทั้งประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ปฏิเสธมาร่วมนั้น เป็นการดำเนินนโยบายทางการต่างประเทศที่สื่อหลายสำนักคาดการณ์ว่าจะสร้างความแตกแยกในอาเซียน และยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ไทยที่แย่อยู่แล้วแย่ลงไปอีก โดยระบุว่า

การที่ดอน ปรมัตถ์วินัย เชิญรัฐมนตรีอาเซียนมาประชุมหารือที่กรุงเทพในเรื่องเมียนมาครั้งนี้เป็นการกระทำที่สร้างความเสียหายแก่ประเทศไทยและอาเซียนอย่างมาก บางประเทศไม่มาร่วมประชุมและวิพากษ์วิจากรณ์การเชิญประชุมนี้ในทางลบอย่างรุนแรงด้วย

ส่วนอินโดนีเซียซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ นอกจากไม่มาร่วมประชุมแล้ว ยังให้เหตุผลว่าสำนักงานคณะทูตพิเศษของอาเซียนมีความพยายามในการแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองในเมียนมาอยู่และรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศต่างๆกำลังจะประชุมเรื่องนี้ที่จาร์การ์ตาในเร็วๆนี้ เขาในฐานะประธานอาเซียนหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากไทยและประเทศอื่นๆในการดำเนินการต่อไปบนเส้นทางของอาเซียน (ก็คือไม่ใช่มาทำกันอย่างที่ กต.ไทยกำลังทำอยู่)

เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าการจัดประชุมโดยกต.ไทยทำให้อาเซียนมีความเห็นและท่าทีที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนโดยเฉพาะเป็นความเห็นที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากรัฐบาลอินโดนีเซียซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ ซึ่งสื่อต่างประเทศบางสื่อก็เรียกการจัดประชุมครั้งนี้เป็นการจัดประชุมที่ทำให้เกิดความแตกแยกในอาเซียน

ผลเสียหายที่สำคัญจากการจัดประชุมนี้คือการให้ความสำคัญในลักษณะรับรองสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมามากกว่าที่อาเซียนทำอยู่ ทำให้ไทยถูกประชาคมโลกมองได้ว่ารัฐบาล(รักษาการ)ของไทยมีท่าทีเอนเอียงเข้าข้างรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างไม่เหมาะสม ทำให้ภาพลักษณ์ของไทยเกี่ยวกับเมียนมาซึ่งไม่สง่างามอยู่แล้วยิ่งเสื่อมลงไปอีก

การกระทำแบบนี้ถ้าไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ แต่เป็นรัฐบาลปรกติที่มีฝ่ายค้านทำหน้าที่อยู่ รมต.ต่างประเทศและนายกรัฐมนตรีคงจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เมื่อเป็นรัฐบาลรักษาการและสภาผู้แทนก็ยังไม่มี จึงไม่มีใครตรวจสอบหรือทัดทานการสร้างความเสียหายของกระทรวงต่างประเทศของไทยได้

ปัญหาทั้งหมดจึงอยู่ที่การขาดความสำนึกที่จะรับผิดชอบต่อประเทศชาติ ขาดความสำนึกว่าตนเองเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการที่ไม่ควรทำเรื่องใหญ่ๆแบบนี้เลย และเรื่องนี้จะเป็นภาระสำหรับรัฐบาลใหม่ที่จะตั้งขึ้นในการที่จะแก้ปัญความเสียหายที่ใหญ่หลวงในครั้งนี้ต่อไป