ไม่พบผลการค้นหา
'สุทิน' มอง 'ธรรมนัส' คุกเข่ากราบ 'ประวิตร' เป็นเรื่องในครอบครัว กลับมารวมหัวกันสู้วิกฤต แต่ขอส่งกำลังใจให้ จี้รัฐบาลอย่ายื้ออภิปราย ม.152 สัญญาณยุบสภาแรง ส่วนฝ่ายค้านพร้อมถล่มพรุ่งนี้-มะรืนนี้แล้ว

วันที่ 17 ม.ค. สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทย ให้การต้อนรับรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ระหว่างการลงพื้นที่ จ.พะเยา โดยช่วงหนึ่ง ร.อ.ธรรมนัส ได้คุกเข่าพร้อมมอบพวงมาลัยให้ พล.อ.ประวิตรบนเวที และมีแนวโน้มจะกลับมาช่วยงานที่พรรคพลังประชารัฐ จะกระทบต่อการสู้ศึกเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยหรือไม่

โดย สุทิน มองกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องในครอบครัว เพราะ พล.อ.ประวิตร และ ร.อ.ธรรมนัส ถือเป็นคนคุ้นเคยกัน แม้จะแยกกันในบางครั้งด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ ไม่ใช่เรื่องแปลก พร้อมย้ำว่า ไม่กระทบกับพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง เพราะเราเดินตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ และยังเชื่อว่าผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทย จะน้อยกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา 

ส่วนการกลับมายังพรรคพลังประชารัฐของ ร.อ.ธรรมนัสนั้น เสมือนการที่ต่างฝ่ายต่างไม่มีทางไป จนต้องกลับมาจับมือกันหรือไม่ สุทิน ย้ำว่า เป็นเรื่องในครอบครัว เมื่อเจอวิกฤตจะต้องรวมพลังกัน ฝ่าให้พ้นวิกฤต ลำบากก็ต้องมาคุยกัน ก่อนยิ้มและพูดว่าก็ขอให้กำลังใจ

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลจะชิงยุบสภาก่อนการอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ซึ่งก่อนหน้านี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มองรัฐบาลถือฤกษ์ดี 3 วันเพื่อยุบสภา โดย สุทิน กล่าวว่า ตนไม่รู้เพราะหัวหน้าพรรคอาจมีข้อมูล หรือมีคนแอบไปดูหมอ แต่ถามว่าจะยุบสภาเพื่อหนีการอภิปรายหรือไม่นั้น ก็มีสิ่งบอกเหตุให้ชวนคิดว่า เมื่อยื่นอภิปรายไปแล้วจะใช้ระยะเวลาไม่นาน เพียง 1-2 สัปดาห์ ก็จะมีการประชุมเพื่อกำหนดวัน แต่ครั้งนี้ยืดยาวกว่าปกติ

"รัฐบาลคงไม่อยากให้มีใครมาอภิปรายช่วงใกล้เลือกตั้ง เพราะจะเสียเปรียบ เว้นแต่จะมีการดึงเพื่อไม่ให้มีการอภิปราย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าคิด แต่ส่วนตัวเชื่อว่า แม้จะยุบหนีอภิปรายก็คงไม่พ้น เพราะฝ่านค้านต้องบอกสิ่งเหล่านี้กับประชาชน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง" สุทิน กล่าว

สุทิน ยังกล่าวว่าในวันนี้ 25 ม.ค.นี้ จะมีการประชุมวิป 2 ฝ่าย เพื่อกำหนดวันและกรอบเวลาอภิปราย ซึ่งคาดว่าจะมีการอภิปรายหลังวันที่ 15 ก.พ. 2566 ซึ่งใกล้หมดอายุสภา ซึ่งเห็นว่าช่วงนี้รัฐบาลไม่มีงานหรือภารกิจอะไรหนาแน่น โดยประธานสภา นายชวน หลีกภัยเอง ก็ได้ยื่นข้อท้วงติงว่าระยะเวลานานเกินไป พร้อมย้ำเรื่องกรอบเวลาของฝ่ายค้านควรมากกว่า 22 ชม. หรือ 3 วัน เพราะถือเป็นการสรุปรวบยอด 3 ปี ส่วนเนื้อหาอภิปรายรวมถึงผู้อภิปรายคืบหน้า 80% และมีข้อมูลใหม่เพิ่มเติม ก่อนยืนยันพร้อมอภิปรายได้พรุ่งนี้หรือมะรืนนี้เลย

ทั้งนี้ การอภิปรายรอบนี้ยังคงพุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค ซึ่งใครเสนอนโยบายอะไรไว้ คงต้องชี้แจง