ไม่พบผลการค้นหา
สำนักวิจัย ซีไอเอ็มบี ไทยชี้เศรษฐกิจไทยปีหน้าไม่มีแรงส่งพิเศษ ผลกระทบสงครามการค้ายังมีต่อเนื่อง การเลือกตั้งอาจช่วยดึงดูดนักลงทุน แต่การลงทุนจริงจะเกิดขึ้นหลังเมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้น

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2562 มีอัตราการเติบโตของจีดีพีอยู่ที่ร้อยละ 3.7 ลดลงจากการคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีรวมของปี 2561 ที่อยู่ที่ร้อยละ 4.0 เนื่องจากขาดพระเอกกระตุ้นเศรษฐกิจ


CIMB THAIแถลงข่าวทิศทางเศรษฐกิจไทย.JPG

พระเอกของเศรษฐกิจไทยหายไปไหน

จากปกติ เศรษฐกิจไทยจะมีการบริโภคภาคเอกชนเป็นตัวนำ แต่ที่ผ่านมาการบริโภคภาคเอกชนกลับเติบโตต่ำกว่าจีดีพี ซึ่งเป็นผลมาจากหนี้ครัวเรือนรวมถึงรายได้ภาคเกษตรที่ไม่ดีมากนักเป็นตัวถ่วง

ในปี 2561 ตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนเติบโตโดดเด่น ถึงเกือบร้อยละ 5 ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก ที่ตัวเลขการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนจะแซงหน้าตัวเลขการเติบโตของจีดีพี

เมื่อเข้าไปดูองค์ประกอบตัวเลขการเติบโต พบว่า เกิดจากปัจจัยชั่วคราวเป็นหลัก อาทิ การซื้อรถยนต์ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่า กำลังซื้อของคนระดับกลาง-บนยังดี อย่างไรก็ตาม ต้องมองถึงหลักความเป็นจริงว่า ประชาชนไม่ได้ซื้อรถยนต์มากทุกปี ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ตัวเลขการซื้อรถยนต์จะเพิ่มขึ้นสูงถึงแค่ ตรมาสที่ 1/ 2562 ก่อนจะทยอยลดลง


ค่ายรถอัดโปรโมชั่น PPV-ปิคอัพใน Motor Expo

ความหวังในการกระตุ้นการบริโภคตัวอื่นมาทดแทน มีความเป็นไปได้น้อย เพราะ คนไทยระดับกลาง-ล่าง ยังมีกำลังในการซื้อน้อย ทำให้การบริโภคที่เกี่ยวข้องกับคนกลุ่มนี้เติบโตได้น้อย และติดลบหลายรายการ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม และ เสื้อผ้า

ด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เคยเป็นความหวังนั้น มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น แต่จะไม่เติบโตแรงเหมือนช่วงครึ่งแรกของปี 2561

การลงทุนภาคเอกชนอาจพอสร้างความหวังให้เศรษฐกิจไทยได้บ้าง จากสัญญาณการลงทุนที่ชัดเจนขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา โดยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า จะเป็นการเข้ามาของสินค้าประเภทเครื่องจักร ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการเตรียมศักยภาพและทักษะของแรงงานให้พร้อมต่อการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่

อีกทั้ง การลงทุนภาครัฐยังมีความผันผวนจากความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง หากการก่อสร้างของรัฐบาลเกิดความล่าช้าหรือโครงการสำคัญถูกเลื่อนออกไป อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคเอกชนปีหน้า

ด้านการใช้จ่ายภาครัฐแท้จริงแล้วเป็นเพียงแค่การประคองเศรษฐกิจเท่านั้น ไม่ได้มีบทบาทหน้าที่ในการเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าไหร่นัก สัดส่วนของการบริโภคภาครัฐมีเพียงแค่ร้อยละ 17-18 ของจีดีพีเท่านั้น ด้านมาตรการการแจกเงินช่วยเหลือประชาชนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นเพียงการช่วยประคองคนกลุ่มระดับล่าง ไม่ให้มีปัญหาเศรษฐกิจหนักไปกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชนในระดับล่างไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยมาตรการการแจกเงิน เนื่องจากการแก้ไขปัญหาระยะยาวต้องเริ่มที่ให้ประชาชนสามารถหารายได้เองในระยะยาวเพิ่มได้ อาทิ การหาตลาดสำหรับสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้ หรือ การตัดพ่อค้าคนกลางออก


“มาตรการกระจายรายได้ ยังเป็นมาตรการที่ดี น่าจะสนับสนุนให้เดินต่อไปในรัฐบาลต่อไป แต่ต้องมองว่ามีอะไรนอกเหนือจากนี้ที่ทำได้บ้าง เช่น การสร้างงานให้คนระดับฐานราก ยกระดับฝีมือแรงงาน มากกว่าในเรื่องของการจ่ายเงิน ตรงนั้นทำได้เพียงประคองเท่านั้นเอง ไม่สามารถทำให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน แต่อย่างน้อยก็ยังดีกว่าไม่มีอะไร” นายอมรเทพ กล่าว

อดีตพระเอกของเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งแรกของปี 2561 อย่างการส่งออก จะเติบโตได้เพียงร้อยละ 3-4 เท่านั้นในปีหน้า เป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ

นายอมรเทพ กล่าวด้วยว่า สหรัฐฯ มีความพยายามกีดกัดไม่ให้จีนขึ้นมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลก ซึ่งขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมเทคโนโลยี โดยการพยายามใช้มาตรการต่างๆ จนกลายมาเป็นสงครามการค้าที่ใช้ภาษี มาเป็นหมากในการเดิมเกม อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มที่สหรัฐฯ และจีนจะเปลี่ยนหมากตัวใหม่โดยไม่ใช้ภาษีแทน (Non-tariff barriers)

ดังนั้น สงครามการค้าจะยังยืดเยื้ออยู่และมีแนวโน้มกระทบภาคการส่งออกของไทยเช่นกัน

มุมมองค่าเงินและดอกเบี้ยไทยปี 62

ด้านอัตราดอกเบี้ย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า มีโอกาสสูงที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปลายปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 ส่วนะขึ้นเมื่อไหร่นั้น ไม่ได้มีความสำคัญมากนัก ขึ้นอยู่กับว่า เสียงส่วนใหญ่ใน กนง. กังวลอะไร

หาก กนง. กังวลเรื่องการเติบโตช้าของเศรษฐกิจและความเสี่ยง ก็อาจรอตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2561 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อน ซึ่งจะรายงานตัวเลขในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก่อนตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงเดือนมีนาคม 2562

อย่างไรก็ตาม หาก กนง. กังวลเรื่องเสถียรภาพตลาดเงินที่มีความเสี่ยงจากดอกเบี้ยต่ำนาน ทำให้นักลงทุนเข้าถือสินทรัพย์เสี่ยงมากเกินไปและประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร รวมทั้งความต้องการสะสมขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย หรือ policy space ก็อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมที่จะถึง


“เรามองว่าน่าจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม และรออีกครั้งในช่วงไตรมาส 3 ขึ้น 2 ครั้งในปีหน้า และก็รอความชัดเจน แต่การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ เป็นการขึ้นที่ช้า ไม่ได้เร่งรีบ ไม่น่ากระทบกับตลาดเงินตลาดทุนและเศรษฐกิจ” นายอมรเทพ กล่าว


ค่าเงินบาท

สำนักวิจัยฯ คาดว่า ค่าเงินบาท จะกลับมาแข็งค่าเล็กน้อยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ โดยประมาณการค่าเงินบาทปลายปี 2561 อยู่ที่ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2562 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังสูงอยู่ ราคาน้ำมันที่ลดลงส่งผลต่อการเกินดุลบัญชีการค้า และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่น่าจะเพิ่มขึ้นในตลาดใหม่จากความชัดเจนของการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะขึ้นเพียง 2 ครั้ง น้อยกว่าที่ตลาดคาด

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่อาจฉุดให้ค่าเงินบาทกลับมาอ่อนมาจากสงครามการค้าที่บานปลาย และค่าเงินหยวนของจีน

โอกาสและความท้าทายในปี 2562

สงครามทางการค้ายังเป็นความท้าทายอันดับหนึ่งของเศรษฐกิจไทย แม้ประธานธิบดีโรนัลด์ ทรัมป์จะตกลงกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เพื่อเลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้าจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 25 ไปอีก 90 วัน แต่ไม่ได้แปลว่าสงครามการค้ายุติลง

นายอมรเทพ มองว่า สงครามการค้าจะยังอยู่เพียงอาจเปลี่ยนรูปแบบจากการใช้ภาษีนำเข้าเป็นการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี หรือ Non-Tariff Barriers (NBT) เช่น กฏระเบียบการลงทุน การแก้ปัญหาทรัพย์สินทางปัญญา และการใช้ค่าเงินอ่อนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการส่งออก ซึ่งไทยและตลาดเกิดใหม่ในอาเซียนอาจได้รับผลกระทบจากการระบายสินค้าของจีน

สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศท่ีกำลังจะมาถึงมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างแน่นอน นายอมรเทพมองว่าการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 จะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากชาติตะวันตก และสามารถเจรจาการค้าเสรี (FTA )กับยุโรปได้สะดวกขึ้น แต่อาจจะเกิดความผันผวนในช่วงแรกที่ยังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลได้


ประยุทธ์-ประยุทธ์หาเสียง
“หลายครั้งในช่วงการเมือง ส่วนใหญ่แล้วคนจะเข้ามาลงทุนในช่วงเลือกตั้ง แต่รอบนี้อาจจะไม่เหมือนเดิม รอบนี้คนจะรอจนกว่าจะเลือกตั้งเสร็จก่อน ก่อนจะเข้ามาลงทุน” นายอมรเทพกล่าว

การปฏิรูปเป็นเรื่องที่หนีไม่พ้นหากจะมองเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ต้องจับตาดูว่ารัฐบาลต่อไปจะสานต่อการปฏิรูปการคลัง อุตสาหกรรม และภาครัฐและภาคสังคมหรือไม่ และจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดยสำนักวิจัยฯ เน้นว่า ควรมีการปฏิรูปเศรษฐกิจระยะยาวโดยเฉพาะด้านการศึกษาและตลาดแรงงานให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัลและเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่แก้ไม่ตกกันมาในหลายรัฐบาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :