ไม่พบผลการค้นหา
วรรณกรรมเยาวชนเรื่องแรกและเรื่องเดียวของ 'อองตวน เดอ แซงเต็กซูเปรี' นักเขียนชื่อดังชาวฝรั่งเศส ตีพิมพ์ครบ 75 ปี ในวันนี้ (6 เม.ย.) และยังคงเป็นผลงานที่ไม่เสื่อมความนิยมไปตามยุคสมัย

หนังสือ 'เจ้าชายน้อย' (The Little Prince หรือ Le Petit Prince) ของอองตวน เดอ แซงเต็กซูเปรี ตีพิมพ์ครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกาเมื่อ วันที่ 6 เม.ย.2486 โดยสำนักพิมพ์ 'เรย์นัล แอนด์ ฮิตช์ค็อก' ซึ่งตั้งอยู่ในนครนิวยอร์ก และเป็นผลงานเล่มที่ 5 ที่ได้รับการตีพิมพ์ขณะที่แซงเต็กซูเปรี ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งยังเป็นผลงานที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก และได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นๆ ประมาณ 300 ภาษา

นอกจากนี้ ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์มอร์แกนในนครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นสถานที่เก็บรักษาต้นฉบับเจ้าชายน้อยที่แซงเต็กซูเปรีเขียนด้วยมือ ได้จัดนิทรรศการเกี่ยวกับเจ้าชายน้อยและแซงเต็กซูเปรีขึ้นระหว่างวันที่ 20 มี.ค. - 24 มิ.ย. ปีนี้

หลังจากเมื่อปี 2557 ทายาทของโจเซฟ คอร์แนล ศิลปินแนวคอลลาจซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับแซงเต็กซูเปรี ได้มอบทรัพย์สินส่วนตัวของคอร์แนลแก่ห้องสมุดมอร์แกน

สิ่งที่บริจาครวมถึงภาพวาดต้นฉบับ 'เจ้าชายน้อย' ที่คอร์แนลได้รับเป็นของขวัญจากแซงเต็กซูเปรีเมื่อปี 2485 จึงถือเป็นผลงานที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน

เจ้าชายน้อย

ขณะเดียวกัน สถาบันสมิธโซเนียนของสหรัฐฯ ยังได้เผยแพร่บทความเนื่องในวันครบรอบ 75 ปี 'เจ้าชายน้อย' โดยระบุว่า จนถึงปัจจุบันนี้ ความนิยมของวรรณกรรมเจ้าชายน้อยในหมู่นักอ่านทั่วโลกก็ยังไม่เสื่อมคลายลง เห็นได้จากยอดจำหน่ายหนังสือที่ยังขายได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเป็นวรรณกรรมทรงอิทธิพลที่ถูกดัดแปลงและตีความใหม่ไปสู่ศิลปะรูปแบบอื่นๆ เป็นจำนวนมาก

สมิธโซเนียนระบุว่าผลงาน 'เจ้าชายน้อย' เป็นวรรณกรรมเยาวชนเรื่องแรกและเรื่องเดียวของแซงเต็กซูเปรี ถูกเขียนขึ้นในช่วงที่เขาย้ายมาอยู่ที่นครนิวยอร์กกับ 'ก็องซูเอโล ซุนชิน' ผู้เป็นภรรยา ซึ่งเป็นเวลาช่วงสั้นๆ ก่อนที่เขาจะตัดสินใจกลับไปเป็นนักบินลาดตระเวนของฝรั่งเศสช่วงปลายๆ สงครามโลกครั้งที่ 2 และหายสาบสูญไประหว่างออกปฏิบัติการเมื่อเดือน ก.ค. 2487 

ในตอนแรก 'เจ้าชายน้อย' ไม่ได้ถูกจัดเป็นวรรณกรรมเยาวชน แต่ผลงานของเขาได้รับความนิยมในหมู่นักอ่านทุกช่วงวัย รวมถึงเยาวชนจำนวนมาก ทั้งยังมีภาพประกอบอันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้หลายประเทศจัดให้เจ้าชายน้อยเป็นวรรณกรรมสำหรับเยาวชน แต่นักวิจารณ์วรรณกรรมหลายคนเห็นตรงกันว่าเรื่องราวของเจ้าชายน้อยสามารถสะกิดเตือนความรู้สึกของนักอ่านในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งอาจจะหลงลืม 'สิ่งสำคัญในชีวิต' ของตัวเองไปบ้างแล้ว 

เจ้าชายน้อย

เนื้อหาของเจ้าชายน้อยพูดถึงการพบและการจากลา ระหว่างนักบินและเจ้าชายจากดาวบี 612 ซึ่งได้พบกันในเวลาสั้นๆ กลางทะเลทราย ทั้งยังมีการพูดถึงตัวละครอื่นๆ อีกมากมายที่ผ่านเข้ามาในบทสนทนาของทั้งคู่ รวมถึง 'สุนัขจิ้งจอก' ซึ่งสอนให้เจ้าชายน้อยเรียนรู้เรื่องการผูกสัมพันธ์

วารสารสมิธโซเนียนระบุว่าเพื่อนสนิทในวัยเด็กของแซงเต็กซูเปรี ซึ่งก็คือ 'เอลิซาเบ็ธ เรย์นัล' ภรรยาของยูจีน เรย์นัล เจ้าของสำนักพิมพ์เรย์นัล แอนด์ ฮิตช์ค็อก ผู้จัดพิมพ์หนังสือเจ้าชายน้อยครั้งแรก คือ ผู้ที่เป็นต้นแบบของสุนัขจิ้งจอกในเรื่องนี้

เอกลักษณ์ที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ 'เจ้าชายน้อย' คือ ลายเส้นที่ดูสบายตาของภาพประกอบ ซึ่งแซงเต็กซูเปรีวาดขึ้นเอง และกลายเป็นตัวละครที่ผู้อ่านทั่วโลกหลงรัก แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเนื้อเรื่องที่ตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาถึงความสัมพันธ์ ภาระหน้าที่ และการเติบโต แต่ขณะเดียวกันก็เปิดกว้างให้ผู้อ่าน 'ถามใจ' เพื่อหาคำตอบในเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเอง จึงสามารถสรุปแกนเรื่องได้ในประโยคเดียว


"เราจะเห็นอะไรได้เพียงด้วยหัวใจเท่านั้น สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยตา"


เจ้าชายน้อย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: