นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เตรียมนัดประชุมเพื่อพิจารณาแก้ไขกฎหมายรองรับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะมีขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ โดยจะเชิญตัวแทนจากกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ยังไม่ได้เชิญสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เพราะเป็นการหารือในแง่กฎหมาย ซึ่งจะต้องดูว่าจะแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบอะไรบ้างของทางฝั่งรัฐบาลและนิติบัญญัติ
นายวิษณุ บอกว่า ตามขั้นตอนก่อนการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นมี 3 ขั้นตอน คือ 1.การแก้กฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกฎหมายลูกและรัฐธรรมนูญ เบื้องต้นยังไม่รู้ว่าจะต้องแก้อย่างไรและกี่ฉบับ แต่ทราบว่ากระทรวงมหาดไทยได้เตรียมการไว้หมดแล้ว 2.การตัดสิน ซึ่งเป็นอำนาจ คสช.ร่วมกับรัฐบาลให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับใดบ้าง 3.การปลดล็อกหรือผ่อนคลายคำสั่ง คสช.ให้รณรงค์หาเสียงและทำกิจกรรมทางการเมือง โดยไม่เกี่ยวกับพรรคการเมืองเพราะผู้สมัครรับเลือกตั้งในท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งเวลานี้ยังอยู่เพียงขั้นตอนที่ 1 ส่วนขั้นตอนที่ 2-3 จะต้องให้กกต.มาช่วย รวมถึงฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ จากขั้นตอนที่กล่าวว่าจึงยังไม่สามารถระบุว่าจะปลดล็อคได้เมื่อไหร่ แต่ยืนยันว่าการปรับแก้กฎหมายจะไม่กระทบต่อกระบวนการจัดการเลือกตั้งล่าช้า
ส่วนกรณีที่ กกต.จะยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความที่ให้ท้องถิ่นจัดการเลือกตั้งโดยมีกกต.เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งโดย ปกติกกต.เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง หากให้ท้องถิ่นดำเนินการจะขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ นายวิษณุบอกว่า ยังไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน แต่จะนำเข้าหารือในที่ประชุมวันพฤหัสบดีนี้ด้วย
ขณะที่คำถาม 6 ข้อของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าคำถามข้อที่ 2 กรณีที่คสช.จะสนับสนุนพรรคการเมือง อาจผิดกฎหมายลูกและขัดหลักรัฐธรรมนูญนั้น นายวิษณุ ปฏิเสธ และขอให้ไปถามนายกรัฐมนตรีในอีก 2 วัน ข้างหน้าที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางกลับประเทศไทยจากการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ประเทศฟิลิปปินส์