เมื่อวันที่ 8-11 มี.ค. มีการจัดมหกรรมแข่งขันโปโลช้างครั้งที่ 16 ที่สนามโปโลชั่วคราวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับอนันตรา ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ รีสอร์ท โดยในระหว่าง 4 วันของการจัดงาน มีกิจกรรมหลากหลายตั้งแต่เกมการแข่งขันโปโลช้าง ขบวนพาเหรดช้าง กิจกรรมวันช้างน้อยสำหรับเด็ก วัน Ladies’ Day สำหรับผู้หญิง กิจกรรมความรู้เกี่ยวกับช้างไทย ซุ้มอาหารจากร้านดัง พร้อมการแสดงดนตรีและความบันเทิงอีกมากมาย โดยมีผู้สนับสนุนเช่นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, เบียร์ช้าง, IBM, PwC, Johny Walker, Citibank และบริษัทชื่อดังอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก
ผู้จัดงานยืนยันว่างานนี้เป็นกิจกรรมการกุศลของเหล่าคนในสังคมชั้นสูง เพื่อระดมทุนเข้าองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการสนับสนุนสัตวแพทย์ และการศึกษาเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของช้างและควาญช้างในจังหวัดสุรินทร์ รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในมหกรรมกีฬาการกุศลที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน พร้อมกับระบุว่าโดยปกติช้างเหล่านี้ต้องทำงานอยู่ในค่ายหรือสถานที่ท่อง เที่ยวแห่งใดแห่งหนึ่ง แต่งานนี้ทำให้พวกมันได้มีโอกาสหยุดพักผ่อนและได้มาเที่ยวในสถานที่ใหม่ๆ มีสัตวแพทย์ดูแล และมีอาหารกินเต็มอิ่ม โดยเมื่อจบงานแล้วพบว่ามียอดเงินสำหรับการบริจาครวม 4 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กลุ่มพิทักษ์สิทธิสัตว์ PETA กลับเผยแพร่วีดีโอภาพเบื้องหลังการฝึกช้างในงาน ที่ควาญใช้ตะขอสับช้างทุบตีช้างที่หัวอย่างรุนแรง และใช้ขอลากหูช้าง ซึ่งถือเป็นการทารุณสัตว์ โดย PETA ยืนยันว่าการที่สัตว์ใหญ่อย่างช้างจะยอมวิ่งไปมาอย่างไร้จุดหมายในเกมโปโล โดยมีคนอยู่บนหลังได้นานๆ มีวิธีเดียวก็คือการทำให้มันกลัวและเชื่อง สัตว์เหล่านี้ถูกล่าม ทุบตีด้วยอาวุธต่างๆ และถูกข่มขู่ด้วยความรุนแรงอยู่ตลอดเวลา PETA ย้ำว่าหากเปรียบเทียบชีวิตความเป็นอยู่ของช้างใต้การดูแลของควาญกับชีวิตตาม ธรรมชาติของพวกมันในป่าใหญ่ ก็จะเห็นว่าคนได้ทำให้คุณภาพชีวิตของสัตว์ใหญ่เหล่านี้ตกต่ำลงเพียงใด
แถลงการณ์ของ PETA ทำให้โรงแรมอนันตราต้องออกมายอมรับว่าพฤติกรรมที่ปรากฏในคลิปวีดีโอดังกล่าว ถือว่าขัดต่อหลักการจัดงานโปโลขช้างอย่างชัดเจน และจะเข้มงวดกวดขันทุกวิถีทางไม่ให้ควาญช้างมีพฤติกรรมที่ไม่สามารถยอมรับ ได้เช่นนี้อีกอย่างเด็ดขาด นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่การจัดแข่งขันโปโลช้างถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าละเมิดสิทธิสัตว์ ก่อนหน้านี้ Tiger Tops บริษัททัวร์ชื่อดัง ตัดสินใจยุติบทบาทการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโปโลช้างนานาชาติ เพื่อตอบรับกระแสวิจารณ์ในเชิงลบเกี่ยวกับการทรมานสัตว์ และกินเนส เวิล์ด เรคคอร์ด ก็ลบสถิติทุกชนิดเกี่ยวกับโปโลช้างออกจากบันทึกขององค์กรแล้วด้วย