ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มติดอาวุธที่แยกตัวจากเครือข่ายก่อการร้ายอัลกออิดะในซีเรีย ยิงเครื่องบินรบรัสเซียตกในเขตจังหวัดอิดลิบ ทำให้กองทัพรัสเซียตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศฐานที่มั่นของกลุ่มกบฏ จนมีผู้เสียชีวิตนับสิบราย

กระทรวงกลาโหมของรัสเซียระบุว่า นักบินประจำเครื่องบินรบ รุ่น SU-25 ของรัสเซีย เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายในซีเรีย เมื่อวานนี้ (3 ก.พ. 2561) โดยเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมว่ากลุ่มกบฏฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียยิงโจมตีเครื่องบินรบด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีจากพื้นสู่อากาศ และนักบินดีดตัวออกจากเครื่องบินได้ทัน แต่ก็ต้องเสียชีวิตในเวลาต่อมาเพราะถูกกลุ่มกบฏสังหาร 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กลุ่มติดอาวุธตอรีร์ อัล-ชัม ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกเครือข่ายอัลกออิดะในซีเรีย ประกาศผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ของกลุ่มฯ เพื่อยืนยันว่านักรบรายหนึ่งเป็นผู้ยิงจรวดประทับบ่าโจมตีเครื่องบินรัสเซียลำดังกล่าวจริง โดยมาห์มูด เตอร์โกมานี ผู้บัญชาการระดับสูงของกลุ่ม ระบุว่า ปฏิบัติการดังกล่าว "เป็นการแก้แค้นให้กับคนของเราที่เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศโดยกลุ่มผู้บุกรุกเหล่านี้"

หลังเกิดเหตุเครื่องบินรบถูกยิงตกได้ไม่นาน กระทรวงกลาโหมของรัสเซียก็ได้มีคำสั่งยกระดับปฏิบัติการทางอากาศ ทั้งทิ้งระเบิดและยิงโจมตีพื้นที่ยึดครองของกลุ่มติดอาวุธตอรีร์ อัล-ชัม ในเมืองคาห์น-อัล-ซุบลี ติดกับเมืองมาราเกบ ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดอิดลิบ ทางเหนือของซีเรีย และเป็นจุดที่เครื่องบินรบรัสเซียถูกยิงตก โดยทางการรัสเซียยืนยันว่า ปฏิบัติการดังกล่าวทำให้นักรบของกลุ่มติดอาวุธเสียชีวิตราว 30 ราย 

อย่างไรก็ตาม กลุ่มเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในซีเรียระบุว่า พลเรือนอย่างน้อย 7 คนเสียชีวิตจากการโจมตีของรัสเซียในเมืองคาห์น-อัล-ซุบลีและเมืองมาราเกบด้วย แต่รัสเซียยืนยันว่า นักบินได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อตกลงเรื่องการลดระดับการใช้กำลังทางทหารในจังหวัดอิดลิบซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน พ.ค.ปีที่แล้ว ทำให้การโจมตีพุ่งเป้าเฉพาะฐานที่มั่นของกลุ่มติดอาวุธเท่านั้น แต่ผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่า เครื่องบินรัสเซียทิ้งระเบิดในเขตชุมชน และคนในเมืองแยกแยะระหว่างเครื่องบินรัสเซียและเครื่องบินซีเรียได้ เนื่องจากเครื่องบินของรัสเซียมีเพดานบินสูงกว่า

สงครามพร้อมปะทุในน่านฟ้าซีเรีย

ขณะเดียวกัน เฮทเธอร์ นวาร์ท โฆษกประจำกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ แถลงตอบโต้ข้อมูลของสำนักข่าวทาสส์ สื่อของรัสเซีย ซึ่งระบุว่าสหรัฐฯ เป็นผู้จัดหาอาวุธปล่อยนำวิถีจากภาคพื้นสู่อากาศ (MANPAD) ให้แก่กลุ่มตอร์รี อัล-ชัม โดยทางการสหรัฐฯ ยืนยันว่า ไม่เคยส่งมอบอาวุธดังกล่าวให้แก่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลซีเรีย และสหรัฐฯ เห็นว่า การยุติสงครามยืดเยื้อในซีเรียจะต้องดำเนินการผ่านกระบวนการเจรจาระหว่างคู่กรณีทุกฝ่าย ตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่พยายามผลักดันมาโดยตลอด

ส่วนสำนักข่าวทาสส์รายงานเพิ่มเติมว่า รัฐบาลรัสเซียได้เป็นเจ้าภาพจัดการเจรจากระบวนการสันติภาพซีเรียที่เมืองโซชีเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา และมีการเชิญตัวแทนของทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในสงครามซีเรียมาเข้าร่วม ทั้งฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธฝายสนับสนุนรัฐบาล รวมถึงกลุ่มติดอาวุธฝ่ายกบฏทั้งหมด แต่ปรากฏว่ากลุ่มนักเคลื่อนไหวและกลุ่มติดอาวุธฝ่ายกบฏบางส่วนปฏิเสธเข้าร่วมเจรจา ซึ่งมาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียระบุว่า เป็นการกระทำที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง

ซีเรียจากความรุ่งเรืองสู่สงครามกลางเมือง

ทั้งนี้ สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า สงครามกลางเมืองในซีเรียเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 หลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเดินขบวนเรียกร้องให้นายบาชาร์ อัล-อัสซาด ประธานาธิบดีซีเรีย ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเขาบริหารประเทศมานานนับสิบปี แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ว่างงาน และความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นได้ แต่รัฐบาลใช้กำลังเข้าปราบปรามกลุ่มต่อต้านอย่างรุนแรงจนมีผู้ถูกจับกุมและเสียชีวิต เป็นชนวนเหตุให้ฝ่ายต่อต้านจับอาวุธต่อสู้ โดยได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนหนึ่งจากกลุ่มติดอาวุธชาวมุสลิมที่เคลื่อนไหวในตะวันออกกลาง รวมถึงกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะ

เมื่อสงครามในซีเรียทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้เกิดภาวะโกลาหล หลายพื้นที่ในซีเรียกลายเป็นแหล่งรวมกลุ่มติดอาวุธที่มีแนวคิดสุดโต่ง ทำให้สหรัฐฯ และรัสเซียเข้ามามีส่วนร่วมในการยุติสงครามซีเรียด้วย โดยสหรัฐฯ สนับสนุนกลุ่มติดอาวุธฝ่ายกบฏ โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลบาชาร์ อัล-อัสซาด ใช้กำลังปราบปรามประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม ขณะที่รัสเซียสนับสนุนกองทัพรัฐบาลอัล-อัสซาด โดยระบุว่าต้องการปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายในซีเรียที่อ้างการโค่นล้มรัฐบาลบังหน้าการก่อความไม่สงบในภูมิภาค แต่ขณะเดียวกันรัสเซียก็พยายามจะเป็นตัวกลางในการจัดกระบวนการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามกลางเมืองซีเรีย ทำให้รัสเซียมีบทบาทขึ้นนำสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกกลางในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน สหประชาชาติ (UN) ประเมินว่า สงครามซีเรียทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 250,000 ราย แต่องค์กรเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชนแห่งซีเรีย ประเมินว่าผู้เสียชีวิตทั้งหมดน่าจะมีจำนวนมากว่า 310,000 ราย และผู้อพยพลี้ภัยสงครามไปยังต่างแดนมีจำนวนมากกว่า 5 ล้านคน โดยประเทศเพื่อนบ้านอย่างตุรกี เลบานอน และจอร์แดน รับดูแลผู้อพยพจากซีเรียมากที่สุด แต่ชาวซีเรียอีกเป็นจำนวนมากหลั่งไหลไปยังทวีปยุโรปและประเทศอื่นๆ ทั่วโลกจนเกิดเป็นวิกฤตผู้ลี้ภัย

ส่วนประชากรซีเรียอีกราว 13.5 ล้านคน ติดอยู่ท่ามกลางพื้นที่สู้รบ ประสบกับภาวะขาดแคลนอาหารและวิกฤตด้านสุขภาพ ส่งผลกระทบหนักสุดต่อกลุ่มเด็ก ผู้หญิง และผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มเปราะบาง

อ่านเพิ่มเติม: