ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สุ่มทดสอบซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวน 16 ตัวอย่าง ผ่านช่องทางห้างออนไลน์ชื่อดัง 8 แห่ง พบยา "ไซบูทรามีน-ฟลูออกซิทีน" ในอาหารเสริมลดน้ำหนักจากห้างออนไลน์ชื่อดัง 4 แห่ง

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่บรรยายสรรพคุณว่า สามารถใช้บริโภคเพื่อการลดน้ำหนัก จำนวน 16 ตัวอย่าง จากห้างออนไลน์ชื่อดัง 8 แห่ง ผลการตรวจสอบ จำนวน 6 ตัวอย่าง พบยาไซบูทรามีนและฟลูออกซิทีน ซึ่งเป็นยาอันตรายที่ห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 

น.ส. สถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการผลิตภัณฑ์สุขภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาการซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารออนไลน์ เกิดจากการใช้ข้อความโฆษณาเกินจริง ซึ่งผู้บริโภคไม่มีแหล่งตรวจสอบข้อความโฆษณาว่า คำโฆษณากล่าวอ้างบรรยายสรรพคุณนั้นๆ ได้รับอนุญาต หรือเกินจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบออนไลน์อีกด้วย รวมไปถึงค่านิยมผอม ขาว การโฆษณากระตุ้นให้อยากขาว สวย ผอม เหมือนเน็ตไอดอล หรือศิลปินดาราที่เป็นคนนำเสนอสินค้า

ทั้งนี้ สอดคล้องกับงานวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบการกำกับดูแลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริง : คลังข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในนามคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) พบว่า ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าออนไลน์เพราะเชื่อถือโฆษณาที่จูงใจและมีผู้แนะนำเป็นบุคคลมีชื่อเสียง คิดว่าน่าจะได้ผลเหมือนโฆษณา ส่วนลำดับ 2 คือการเห็นเครื่องหมาย อย. นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบถามยังต้องการให้มีแหล่งข้อมูลที่จะสามารถตรวจสอบโฆษณาได้ อย.ควรเปิดให้ผู้บริโภคได้เข้าถึง ‘คลังข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพ’ โดยเร็ว เพื่อลดปัญหาการถูกหลอกจากโฆษณา

น.ส.สถาพร อารักษ์วทนะ รายงานเพิ่มเติมว่า ได้สำรวจข้อมูลล่าสุดวันที่ 10 มิถุนายน 2561 พบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ตรวจพบสารประกอบอันตรายไซบูทรามีน และฟลูออกซิทีน ทั้ง 6 ผลิตภัณฑ์ ยังพบการขายในร้านค้าออนไลน์ บางยี่ห้อทาง อย. ได้ประกาศว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ และยกเลิกเลขทะเบียนผลิตภัณฑ์แล้ว อีกทั้งผลิตภัณฑ์ยี่ห้อดังกล่าวยังเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 4 ราย 

ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ทาง หน่วยงานกำกับดูแลหลัก (อย.) และหน่วยงานกำกับดูแลอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายโดยทันที กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะต้องบังคับใช้กฎหมายกับผู้ประกอบการออนไลน์ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ มาตรา 15 - ผู้ให้บริการ หรือ ผู้ดูแลระบบ หรือแอดมินเพจ ที่เปิดให้มีการนำเข้าข้อมูล เมื่อพบเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย ถ้าได้รับการแจ้งเตือนแล้วลบออก ไม่ต้องรับโทษ แต่ถ้าไม่ยอมลบออก โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ด้าน ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า “ไซบูทรามีนนั้นเป็นยาต้านอาการซึมเศร้า ซึ่งสามารถลดความอยากอาหารได้ โดยยาดังกล่าวได้ถูกถอนออกจากตลาดในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ยุโรป และอีกหลายประเทศ ซึ่งยาดังกล่าวมีความเสี่ยงทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดสูง เสี่ยงการที่ทำให้หัวใจขาดเลือดและการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

ปัจจุบันในประเทศไทย ห้ามผู้รับอนุญาตนำเข้าหรือขายยาดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 72(5) ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนประชาชนที่ขายหรือนำเข้ายานี้ ถือว่าเป็นการขายหรือนำเข้ายาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 12 ต้องรับโทษตามมาตรา 101 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 50,000 บาท 

ส่วนฟลูออกซิทีนนั้นเป็นยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคหิวไม่หายแบบทานแล้วอาเจียน จัดเป็นยาแผนปัจจุบันประเภทยาอันตรายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหากผลิตภัณฑ์ใดได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศไทย แล้วตรวจพบไซบูทรามีนหรือฟลูออกซิทีนในส่วนผสม ถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายอาหารปลอมถ้าหากมีฉลากเพื่อลวงให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งมีโทษจำคุกทั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และบรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ตลาดออนไลน์ทั้ง 4 แห่ง นำสินค้าออกจากตลาดออนไลน์โดยทันที รวมทั้ง ให้ตลาดและร้านค้าออนไลน์ ต้องตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพก่อนจำหน่ายทุกรายการ ว่า ผิดกฎหมายหรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นบัญชีดำของ อย.หรือ กรมวิทยาศาตร์การแพทย์หรือไม่ หรือเมื่อ อย.ประกาศรายชื่อผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายต่อสาธารณะ ผู้ให้บริการจะต้องหาวิธีการระงับหรือนำข้อมูลผลิตภัณฑ์ฯ ออกจากระบบคอมพิวเตอร์โดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคน้อยที่สุด และข้อสาม บริษัทต้องรับคืนสินค้าที่ผิดกฎหมายทุกรายการที่ผู้บริโภคได้ซื้อไปแล้วก่อนหน้านี้ทั้งหมด ถ้าตลาดออนไลน์ไม่ปฏิบัติขอให้หน่วยงานกำกับดูแลบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยใช้บทลงโทษสูงสุด 

"มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคขอเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เร่งออกกฎหมายยกระดับไซบู���รามีน ให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ซึ่งหากผลิต นำเข้าหรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนผสมจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสนบาท - 2 ล้านบาท หากขายจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 4 แสนบาท - 2 ล้านบาท รวมถึงการครอบครองผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็ถือว่าเป็นการกระทำผิดด้วย" น.ส.สารี กล่าว

**ภาพประกอบข่าวไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: