ไม่พบผลการค้นหา
"อุตตม สาวนายน" เปิดมาตรการเร่งด่วนกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ด้านช่วยเกษตรกรฝ่าภัยแล้ง ดูแลผู้มีรายได้น้อยรอบใหม่ พร้อมกระตุ้นการอุปโภคบริโภคและการลงทุนในประเทศ นายกฯ ลั่นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแก่จนยั่งยืน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันนี้กระทรวงการคลัง ได้เตรี��มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจเห็นชอบ เพื่อเตรียมรับมือความผันผวนจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย คลังจึงเสนอมาตรการเร่งด่วน โดยมุ่งกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และต้องเพิ่มรอบการหมุนของเม็ดเงิน กระจายไปยังกลุ่มต่างๆ ในวงกว้างที่สุด 

สำหรับมาตรการที่จะนำมากระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วน มี 3 ด้านหลัก ได้แก่ 

1. มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง เช่น การช่วยเหลือเกษตรกรผ่อนคลายหนี้สินสนับสนุนพิเศษด้านดอกเบี้ย ทั้งสนับสนุนสินเชื่อใหม่และต้นทุนการเพาะปลูก ด้วยการชดเชยการปลูกข้าว 4 ล้านครัวเรือน 500-800 บาทต่อไร่ จำนวนไม่เกิน 15 ไร่ วงเงินช่วยเหลือ 57,000 ล้านบาท ส่วนเงินกู้ฉุกเฉินรองรับภัยแล้ง ปล่อยกู้ 5 แสนบาท/ราย ยกเว้นดอกเบี้ยปีแรก รวมวงเงิน 55,000 ล้านบาท 

ด้านประกันรายได้ให้กับเกษตรกร ในพืชเศรษฐกิจหลักทั้งข้าวเปลือกเจ้า ประกัน 10,000 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกหอมมะลิ 105 15,000 บาทต่อตัน วงเงิน 53,000 ล้านบาท มันสำปะหลัง ยางพารา 60 บาท/กิโลกรัม วงเงิน 35,743 ล้านบาท ปาล์มน้ำมัน ราคา 4บาท/กิโลกรัม วงเงิน 10,000 ล้านบาท รวมช่วยเหลือ จำนวน 6.23 ล้านครัวเรือน 

2. มาตรการดูแลปรับเพิ่มสวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ กลุ่มรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาท รับค่าครองชีพ 200 บาท/คน ค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทาง 1,500 บาท/คน ส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม 45บาท/คน/3 เดือน ฝึกอาชีพ 100 บาท/คน สำหรับกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี รับค่าครองชีพ 300 บาท/คน ค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทาง 1,500 บาท/คน ส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม 45บาท/คน/3 เดือน ฝึกอาชีพ 100 บาท/คน  

3. มาตรการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคและการลงทุนในประเทศ เช่น การกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรอง ให้กระจายสู่ในท้องถิ่นทุกพื้นที่ จากการใช้จ่ายอุปโภคบริโภค ที่พัก และการช้อปสินค้าชุมชน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เตรียมมอบเงินให้ 1,500 บาทสำหรับท่องเที่ยวทั่วประเทศ เป้าหมาย 10 ล้านคน

สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการรายเล็กทั่วประเทศ รัฐบาลก็ได้เตรียมมาตรการพิเศษ เพื่อช่วยเหลือให้สามารถเข้าถึงเงินทุน เพื่อรักษาสภาพคล่อง รวมถึงสนับสนุนการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลมั่นใจว่า มาตรการชุดนี้จะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้ตามเป้าหมาย และเชื่อว่าจะสามารถรับมือผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลกได้ โดยประเมินว่าชุดมาตรการนี้ จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจรวมเพิ่มไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาทในครึ่งหลังของปีนี้

นายกฯ ย้ำ บัตรสวัสดิการ ต้องเป็นมาตรการแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน

ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และนำผลการประเมินมาปรับปรุงการแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน 

เนื่องจากที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่เคยมีฐานข้อมูลผู้มีรายได้ จนเมื่อมีการลงทะเบียนผู้ต้องการมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เราจึงเริ่มมี Big data ของผู้มีรายได้น้อย ซึ่งท่านนายกฯ ย้ำว่า Big data ผู้มีรายได้น้อยนี้ จะต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นอีกต่อไป และต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลผู้มีรายได้น้อยอย่างถี่ถ้วน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนให้ครบทั้ง 4 มิติ คือ 

  • ช่วยให้เข้าถึงสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน 
  • พัฒนาทักษะทางอาชีพและการศึกษาให้กับ
  • ช่วยหางานให้ทำ 
  • ช่วยแก้ปัญหาหนี้สิน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ

ปีที่ผ่านมา ผู้มีรายได้น้อยเข้ารับการพัฒนาอาชีพจำนวน 3.2 ล้านคน ช่วยให้คนพ้นเส้นความยากจนที่ระดับ 30,000 บาทต่อปี ได้ถึง 1 ล้านคน โดยคนกลุ่มนี้มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1,713 บาทต่อเดือน ทั้งปีมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 บาท และช่วยให้คนพ้นเพดานรายได้ที่ 100,000 บาท ได้ 1 แสนคน โดยคนกลุ่มนี้มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3,861 บาทต่อเดือน ทั้งปีมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 46,000 บาท 

ดังนั้น นายกฯ จึงขอฝากไปยังผู้มีรายได้น้อยว่ารัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนในทั้ง 4 มิติ เพียงแต่ขอให้ทุกคนให้ความร่วมมือในการพัฒนาทุกมิติ และฝากเชิญชวนภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการพัฒนาทักษะอาชีพ พร้อมทั้งจ้างงานผู้มีรายได้น้อย จึงจะทำให้เกิดการหลอมรวมพลังกันเป็นหนึ่งเดียวของคนไทย ที่จะร่วมกันแก้ปัญหาหาความยากจนอย่างยั่งยืน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :