ไม่พบผลการค้นหา
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และสภากาชาดไทย เปิดตัวงานวิจัยรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีการภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีใหม่ที่ใช้ในการรักษามะเร็งในปัจจุบัน

การรักษามะเร็งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถ้ามีโรคเฉพาะที่จะใช้วิธีการผ่าตัดหรือฉายรังสีเป็นหลัก แต่ถ้าไม่ใช่โรคเฉพาะที่ ต้องรักษาด้วยเคมีบำบัด แม้จะมีราคาไม่สูง แต่ก็มีข้อจำกัด เพราะยาเคมีบำบัด ไม่ได้ทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็ง แต่จะทำลายเซลล์ปกติของร่างกายด้วย ต่อมามีการรักษาโดยใช้ยามุ่งเป้า ซึ่งจะออกฤทธิ์จำเพาะกับมะเร็งที่มีการกลายพันธุ์ของยีนที่เป็นเป้าหมาย แม้จะได้ผลดี แต่ก็มีข้อจำกัด คือ ค่าใช้จ่ายสูง 20,000-150,000 บาทต่อเดือน และไม่มีสิทธิ์ครอบคลุม 

jula_1.jpg


อาจารย์ นายแพทย์ ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วิธีการรักษาด้วยการบำบัดภูมิคุ้มกัน จะเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ด้วยกลไกธรรมชาติ ร่างกายมีเม็ดเลือดขาวที่คอยจำกัดเชื้อโรคหรือเซลล์มะเร็งอยู่แล้ว แต่เซลล์มะเร็งเอง ก็มีการต่อต้านการทำงานของเม็ดเลือดขาวเช่นกัน ปัจจุบันมีการพัฒนายาที่ชื่อว่า 'ยาภูมิต้านมะเร็ง' (Biologics) ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ป่วยกลับมาต่อสู้กับเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพสูง ผลข้างเคียงน้อยกว่าการรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัดหรือยามุ่งเป้า 

ทั้งนี้จากการทดลอง 'ยาภูมิต้านมะเร็ง' ส่วนใหญ่จะใช้กับผู้ป่วยที่รักษาไม่หาย และได้ผลเฉลี่ยร้อยละ 20-30 ซึ่งอาจจะมองว่าเป็นตัวเลขที่น้อย แต่ถ้าเทียบปัจจัยที่ผู้ป่วยลองรักษามาทุกวิธีแล้ว ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงและยังมีความหวัง ปัจจุบันมีการรับรองให้ใช้รักษามะเร็งแล้วกว่า 15 ชนิด โดยเฉพาะมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ได้ผลกว่าร้อยละ 80 และมะเร็งผิวหนังที่ได้ผลกว่าร้อยละ 50 

seee_1.jpg


ความคืบหน้า ปัจจุบันอยู่ในเฟสที่หนึ่ง คือผลิตยาแอนติบอดี้ต้นแบบจากหนูทดลอง ซึ่งจะสำเร็จเป็นตัวยาและทดลองใช้ในคนได้ในปี 2566 ส่วนสาเหตุที่ต้องผลิต 'ยาภูมิต้านมะเร็ง' ขึ้นมาเอง เนื่องจากยาที่ใช้สำหรับภูมิคุ้มกันบำบัด ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ 100 เปอร์เซ็นต์ การฉีดแต่ละครั้งอยู่ประมาณ 150,000 - 300,000 บาท ซึ่งต้องฉีดต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี แต่การผลิตดังกล่าวจะช่วยควบคุมราคาการฉีดต่อครั้งในหลักหมื่นบาท เพิ่มโอกาสให้คนไทยเข้าถึงการรักษามากขึ้น 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :