ไม่พบผลการค้นหา
นักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียคิดค้นการตรวจเลือดหา ‘มะเร็งผิวหนัง’ หรือ ‘เมลาโนมา’ (Melanoma) ในระยะเริ่มแรก พร้อมกับยืนยันว่ามันเป็นการพัฒนา ‘ครั้งแรกในโลก’ ที่สามารถช่วยชีวิตคนจำนวนมาก และเป็นการวินิจฉัยที่แม่นยำกว่าสายตามนุษย์

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอีดิธ โควาน (Edith Cowan University) ประเทศออสเตรเลีย เผยผลการทดสอบวิธีตรวจเลือดหามะเร็งผิวหนังครั้งแรกในโลก ซึ่งสามารถช่วยให้แพทย์ตรวจพบมะเร็งผิวหนังระยะเริ่มต้นได้ ก่อนเซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายไปทั่วร่างกายผู้ป่วย

“ผู้ป่วยที่ตรวจพบมะเร็งผิวหนังระยะแรกประมาณ 90-99 เปอร์เซ็นต์ มีอัตราการรอดชีวิตอยู่ที่ 5 ปี แต่อัตราการรอดชีวิตลดลงเหลือน้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ หากมะเร็งลุกลามไปในร่างกาย” พอลีน ซีนเคอร์ (Pauline Zaenker) ตัวแทนทีมนักวิจัยกล่าวในแถลงการณ์

นอกจากนั้น วิธีการตรวจเลือดหามะเร็งผิวหนังอาจเป็นประโยชน์กับคนที่อาศัยอยู่ตามชนบท หรือพื้นที่ห่างไกล ซึ่งยากต่อการเดินทางไปพบแพทย์ผิวหนัง

aa9e82a9fda8464b68779b5f6b9992e6b7cc150c.jpg
  • การนอนอาบแดดตามชายหาดเป็นเวลานานเกินไปเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็งผิวหนัง

มะเร็งผิวหนังส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสรังสีอัลตราไวโอเลตเป็นเวลานาน หรือนอนอาบแดดมากเกินไป มักพบมากในผู้ป่วยเพศหญิง โดยข้อมูลจากศูนย์เลเซอร์ผิวหนัง และศัลยกรรมผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า ทั่วโลกพบผู้ป่วยปีละ 160,000 คน ลักษณะของอาการจะเป็นตุ่ม หรือก้อนแข็งสีดำบนร่างกาย ซึ่งการวินิจฉัยต้องตัดชิ้นเนื้อส่งไปตรวจทางพยาธิวิทยา

“การคิดค้นทำให้การตรวจเลือดน่าตื่นเต้น เนื่องจากมันเป็นเครื่องมือคัดกรองที่มีศักยภาพ สามารถหามะเร็งผิวหนังได้ในระยะแรกๆ ขณะยังทำการรักษาได้อยู่” ซีนเคอร์ระบุ

ผลการวิจัยตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ออนโคทาร์เกต (Oncotarget) ผ่านการทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง 209 คน แบ่งเป็นผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังจำนวน 105 คน และคนสุขภาพดีอีก 104 คน ซึ่งผลปรากฎออกมาว่า กระบวนการทดสอบสามารถตรวจพบมะเร็งผิวหนังระยะแรกได้ใน 79 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่าง

ซีนเคอร์เสริมด้วยว่า กระบวนการใหม่เชื่อมโยงกับการวินิจฉัยออโตแอนติบอดีส์ (Autoantibodies) หรือภูมิคุ้มกันต่อเนื้อเยื่อตัวเองที่ร่างกายของมนุษย์ผลิตขึ้น เพื่อตอบสนองต่อเซลล์มะเร็ง

“เราทำการตรวจสอบแอนติบอดีส์ชนิดต่างๆ รวม ​​1,627 ชนิด เพื่อวินิจฉัยการรวมกันของแอนติบอดีส์ 10 ชนิด ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีของการปรากฏโรคมะเร็งผิวหนัง” ซีนเคอร์กล่าว

ด้านซานเชีย อรานดา (Sanchia Aranda) ผู้บริหารระดับสูงของสภามะเร็งประเทศออสเตรเลียให้ความเห็นว่า การทดสอบสำคัญมากกับกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูง ซึ่งต้องผ่านการตรวจสอบไฝ และรอยจุดบนร่างกายอยู่เป็นประจำ ซึ่งมันอาจเป็นเรื่องยาก และต้องใช้เวลานาน

สำหรับก้าวต่อไป นักวิทยาศาสตร์จะทำการทดลองทางคลินิกต่อไปอีกสักระยะ เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพ ความถูกต้อง และพวกเขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่า มันจะสามารถนำไปใช้เชิงพาณิชย์ได้ใน 3-5 ปี

ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ประเทศออสเตรเลียมีอัตราผู้ป่วย และเสียชีวิตด้วยมะเร็งผิวหนังมากที่สูงสุดในโลก โดยมีผู้เสียชีวิตประมาณ 1,500 คนต่อปี และเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา ยอดผู้ป่วยสูงถึง 14,000 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: