รัฐบาลสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความมั่นคงประจำภูมิภาคเอเชีย ครั้งที่ 17 ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และประเทศพันธมิตรนอกภูมิภาค เข้าร่วมประชุมพร้อมหน้า ทั้งยังมีการหารือในประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ การหาทางป้องกันและสกัดภัยคุกคามความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงภัยก่อการร้ายข้ามชาติ
รียามิซัด รียาคูดู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งอินโดนีเซีย และเดลฟิน ลอเรนซานา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติของฟิลิปปินส์ ต่างกล่าวเตือนผู้เข้าร่วมการประชุมให้เฝ้าระวังและป้องกันการก่อตัวของ 'ครอบครัวก่อการร้าย' หลังเกิดเหตุระเบิดฆ่าตัวตายยกครอบครัวที่อินโดนีเซียเมื่อเดือนที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 15 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 40 ราย โดยผู้ก่อเหตุรวมถึงเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งถูกพ่อแม่ปลูกฝังแนวคิดหัวรุนแรง
รียาคูดูระบุว่าเป็นเรื่องย้อนแย้งที่พ่อแม่สั่งสอนให้ลูกของตัวเองก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตาย แต่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว และเป็นกระแสที่กำลังขยายตัวจนน่าวิตกกังวล โดยกรณีระเบิดฆ่าตัวตายยกครอบครัวที่อินโดนีเซียเกิดขึ้น 3 ครั้งที่สุราบายา มีทั้งการโจมตีโบสถ์คริสต์และสถานีตำรวจ บ่งชี้ว่าผู้ก่อเหตุต้องการประกาศตัวเป็นปฏิปักษ์กับผู้ที่นับถือต่างศาสนาและเจ้าหน้าที่รัฐ
ขณะที่ตัวแทนรัฐบาลฟิลิปปินส์เตือนว่า กลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ เช่น กลุ่มไอเอสในตะวันออกกลาง ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มติดอาวุธในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น โดยมุ่งเน้นการหาแนวร่วมที่เป็นคนรุ่นใหม่ มีการศึกษา และมีฐานะปานกลาง โดยวิธีที่ใช้ คือ การเผยแผ่แนวคิดสุดโต่งผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์
นอกจากนี้ การเติบโตของสกุลเงินดิจิทัลยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งเงินสนับสนุนให้กับกลุ่มก่อการร้ายทำได้ง่ายขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานต่อต้านการก่อการร้ายไม่สามารถป้องกันหรือแกะรอยได้อย่างทันท่วงที โดยมีรายงานว่ากลุ่มติดอาวุธอาบูไซยัฟและกลุ่มมาอูเตในฟิลิปปินส์ส่งเงินดิจิทัลสนับสนุนกลุ่มไอเอสมูลค่ากว่า 1.5 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว
ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของออสเตรเลียและกาตาร์ ซึ่งเข้าร่วมการประชุมความมั่นคงที่สิงคโปร์ด้วย ย้ำว่า กลุ่มก่อการร้ายมีการปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่ รัฐบาลต่างๆ จึงจำเป็นต้องปรับตัวและหาแนวทางที่ยืดหยุ่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับกลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้ และจะต้องคำนึงถึงยุทธิวีเชิงรุกในโลกออนไลน์ที่เป็นสมรภูมิสำคัญในการเผยแพร่แนวคิดสุดโต่งของกลุ่มก่อการร้ายยุคปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม การกำหนดแนวทางแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับประเทศหนึ่ง อาจจะใช้ไม่ได้กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค แต่ละประเทศจึงต้องพิจารณามาตรการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้ายโดยคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมทางการเมืองและปูมหลังทางประวัติศาสตร์-ภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน
ที่มา: CNBC/ Strait Times/ Jakarta Post/ Xinhua
ข่าวทีี่เกี่ยวข้อง: