ไม่พบผลการค้นหา
หลายองค์กรในสหรัฐฯ ต้องการให้ USTA ลดภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ชี้ความจำเป็นยังมีในอีกหลากหลายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19

ผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ทำให้บริษัทสัญชาติอเมริกันรายใหญ่จำนวนหนึ่งออกมาเรียกร้องต่อสำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ (USTA) ให้ละเว้นการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าหลายประเภทจากจีน อาทิ โดรน, หุ่นยนต์, คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ไปจนถึงเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

เมื่อวันจันทร์ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา สมาคมเทคโนโลยีผู้บริโภค (CAT) และอีกหลายอุตสาหกรรมร่วมกันเขียนจดหมายเปิดผนึกถึง USTA เพื่อเรียกร้องให้องค์กรผู้แทนการค้าฯ ขยายมาตรการละเว้นภาษีนำเข้าไปยังสินค้าอื่นๆ เพิ่มเติม หลังก่อนหน้านี้ในเดือน มี.ค.องค์กรผู้แทนการค้าฯ ออกมาประกาศว่าจะไม่ยอมละเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจำพวกเครื่องช่วยหายใจ, หน้ากากออกซิเจน หรือเครื่องพ่นละออง เนื่องจากองค์กรได้ละเว้นภาษีนำเข้าสินค้าทางการแพทย์อื่นๆ ไปเป็นจำนวนมากแล้ว 

โดย CAT ออกมาตอบโต้ว่า การละเว้นภาษีนำเข้าควรจะครอบคลุมไปยังเซนเซอร์และกล้องที่บุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องใช้ในการรักษาผ่านทางไกล (telehealth) เช่นเดียวกับหุ่นยนต์ที่จะช่วยทำความสะอาดพื้นผิวที่ติดเชื้อ และเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ไปจนถึงโดรนที่จะช่วยส่งเครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆ ทั้งนี้ นอกจากวงการการแพทย์เอง รัฐบาลควรนึกถึงประชาชนที่อยู่ในวัยเรียนและไม่สามารถไปโรงเรียนได้ โดยชดเชยด้วยอุปกรณ์การเรียนอย่างคอมพิวเตอร์ และศูนย์จัดการข้อมูลออนไลน์

จดหมายช่วงหนึ่งชี้ว่า "ภาษีนำเข้าเหล่านี้ไม่ใช่แค่เป็นตัวขัดขวางการเข้าถึงสินค้าจำเป็น แต่มันคือภาษีที่คิดกับธุรกิจและผู้บริโภคที่กลายเป็นเรื่องอันตรายมากขึ้นท่ามกลางภาวะ 'เอาตัวรอด' ที่หลายคนกำลังเผชิญอยู่"

ฝั่งองค์กรอุตสาหกรรมลิฟต์แห่งชาติเองก็ออกมายื่นคำร้องในทำนองเดียวกัน โดยชี้ว่าลิฟต์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลและในโรงงานผลิตเครื่องมือการแพทย์ เช่นเดียวกับที่ คณะกรรมการเคมีแห่งอเมริกันที่ออกมาชี้แจงถึงความสำคัญในการเว้นภาษีนำเข้ากับสารตั้งต้นในการผลิตบางประเภทที่มีคุณสมบัติในการทำลายเชื้อบนพื้นผิวสิ่งของต่างๆ 

องค์กรที่ออกมาเรียกร้องเรื่องภาษีการนำเข้าครั้งนี้ยังรวมไปถึงสมาคมเครื่องแต่งกายและรองเท้าอเมริกันที่ออกมาพูดเรื่องหน้ากากอนามัยใช้ซ้ำได้ หรือฝั่งซอฟต์แวร์ที่เรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนการเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ยังไม่มีเสียงตอบรับกลับมาจากฝั่ง USTR ว่าจะปรับเพิ่มการละเว้นภาษีนำเข้าหรือไม่

อ้างอิง; Reuters, Yahoo News, BI