ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลจีนได้ออกมาให้ความเห็นถึงมาตรการการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ผู้เดินทางขาเข้าประเทศที่มาจากจีน ว่าเป็นมาตรการที่มีแรงผลักดันในทางการเมือง พร้อมกันนี้รัฐบาลจีนยังได้ระบุว่า ทางการคอมมิวนิสต์กำลังพิจารณาว่าอาจใช้มาตรการตอบโต้เพิ่มเติม

ปัจจุบันนี้มีสหรัฐฯ อินเดีย และสหราชอาณาจักร ในบรรดาหลายประเทศ ที่ประกาศมาตรการบังคับตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากผู้เดินทางขาเข้ามาจากจีน หลังจากมีรายงานว่าจีนกำลังพบกับอัตราการระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่พุ่งสูงขึ้น ภายหลังจากการยกเลิกนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” และจะเปิดให้มีการเดินทางเข้าออกประเทศได้โดยไม่ต้องทำการกักตัวในวันที่ 8 ม.ค.นี้เป็นต้นไป

มีความกังวลอีกว่า ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ภายในจีน อาจมีมากกว่าที่ทางการจีนรายงานเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ทางการจีนรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันในครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยในรายงานครั้งนั้น ทางการจีนอ้างว่าประเทศของตัวเองมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่ำกว่า 5,000 ราย อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางรายมองว่า ตัวเลขการรับมือผู้ติดเชื้อรายวันของจีนอาจพุ่งสูงไปถึง 2 ล้านราย และอาจสูงถึง 4 ล้านรายในเดือนนี้

การขาดการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของทางการจีน และการยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทางของจีนตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.เป็นต้นไป ส่งผลให้หลายสิบประเทศประกาศมาตรการบังคับตรวจหาเชื้อผู้ที่เดินทางเข้าประเทศมาจากจีน ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาขอร้องให้จีนเปิดเผยตัวเลขผู้ติดเชื้อตามเวลาจริง และระบุว่าทางการจีนพร้อมที่จะ “ปรับปรุงการสื่อสารกับโลก” 

อย่างไรก็ดี เหมาหนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้ออกมาระบุว่า รัฐบาลจีน “คัดค้านอย่างหนักแน่น ต่อความพยายามที่จะบิดเบือนมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด เพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง และจะใช้มาตรการที่สอดคล้องกัน… ตามหลักการของการมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน”

พรมแดนส่วนใหญ่ของจีนถูกปิดตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 ส่งผลให้มีชาวต่างชาติเพียงไม่กี่คนที่สามารถเดินทางเข้าจีนได้ผ่านการตรวจหาเชื้อและกักกันตัวอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ หน่วยงานป้องกันโรคของสหภาพยุโรปและหัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ของออสเตรเลียต่างโต้แย้งว่า การฉีดวัคซีนและภูมิคุ้มกันในระดับสูงช่วยลดภัยคุกคามจากโควิด-19 แต่ถึงกระนั้นประเทศต่างๆ รวมถึงในสหภาพยุโรป กลับยังคงกำหนดให้มีการตรวจหาเชื้อผู้ที่เดินทางขาเข้ามาจากจีน

สหรัฐฯ ได้ออกมาให้เหตุผลถึงข้อกำหนดในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากผู้เดินทางมาจากจีนของตัวเองว่า วิธีการดังกล่าวมีพื้นฐานมาจาก “วิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวและเฉพาะเจาะจง” ทั้งนี้ ความเห็นต่างในครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทางการจีนขัดแย้งกับประชาคมระหว่างประเทศเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งอุบัติขึ้นครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่นทางตอนกลางของจีนเมื่อปลายปี 2562 ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลจีนยังคงต่อต้านความพยายามในการตรวจสอบต้นตอของเชื้อจากประชาคมระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน

ในขณะเดียวกัน เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (3 ธ.ค.) ทางการจีนได้ปฏิเสธข้อเสนอจากสหภาพยุโรป ในการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยไม่ระบุรายละเอียดจำนวน เพื่อช่วยจัดการกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น โดยทางการจีนอ้างว่าตัวเองมี “วัคซีนที่เพียงพอ” 

ทั้งนี้ ข้อมูลทางการแสดงให้เห็นว่าจีนได้ฉีดวัคซีนประชากรไปมากกว่า 3.4 พันล้านโดส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัคซีนโคโรนาแวค (ซิโนแวค) จนถึงขณะนี้ รัฐบาลจีนยังคงยืนยันที่จะใช้เฉพาะวัคซีนที่ผลิตในจีน ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพน้อยกว่าวัคซีน mRNA ที่พัฒนาโดยชาติตะวันตกอื่นๆ เพื่อใช้ในการต่อต้านโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-asia-china-64155721?fbclid=IwAR22zWB-zS-KiMl-FNLCGMTjoeCBDbfCd62ncaUQwH1BPWaNpwv61DJAJeQ